แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยกระทำผิดหน้าที่ของตนโดยรับชำระเงินสดหรือเช็คจากลูกค้าที่ชำระราคาค่าซื้อรถยนต์ให้แก่โจทก์ร่วมรวม 8 ครั้งเมื่อจำเลยรับเงินสดหรือเช็คดังกล่าวแต่ละครั้งไว้แล้ว จำเลยมีหน้าที่ส่งมอบให้โจทก์ร่วมในแต่ละครั้งทันที เมื่อจำเลยเบียดบังเอาทรัพย์ดังกล่าวแต่ละครั้งเป็นของตนโดยทุจริต การกระทำของจำเลยแต่ละครั้งจึงเป็นกรรม ๆ ไป เป็นความผิดหลายกรรม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91,352 และให้คืนเงินจำนวน 3,393,721 บาท (ที่ถูก 3,403,721 บาท) แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา บริษัทโตโยต้า เค.มอเตอร์ส ผู้จำหน่ายโตโยต้า จำกัด ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91, 352 การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษทุกกระทงความผิดไปรวม 8 กระทง ลงโทษจำคุกกระทงละ 1 ปี รวมจำคุก 8 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นถูกจับ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 หนึ่งในสี่คงจำคุก 6 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 3,067,685บาท แก่โจทก์ร่วม คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามมาตรา 91 จำคุก กระทงละ 6 เดือนรวม 8 กระทง จำคุก 4 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นถูกจับเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้ตามมาตรา 78 หนึ่งในสี่ คงจำคุก 3 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเป็นปัญหาข้อกฎหมายแต่เพียงข้อเดียวว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวกันหรือไม่ ซึ่งศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องข้อ 1.1 ถึงข้อ 1.6ข้อ 1.9 และข้อ 1.10 เห็นว่า จำเลยกระทำผิดหน้าที่ของตนโดยรับชำระเงินสดหรือเช็คจากลูกค้าที่ชำระราคาค่าซื้อรถยนต์ให้แก่โจทก์ร่วมรวม 8 ครั้ง เมื่อจำเลยรับเงินสดหรือเช็คดังกล่าวแต่ละครั้งไว้แล้ว จำเลยมีหน้าที่ส่งมอบให้โจทก์ร่วมในแต่ละครั้งทันที เมื่อจำเลยเบียดบังเอาทรัพย์ดังกล่าวแต่ละครั้งเป็นของตนโดยทุจริต การกระทำของจำเลยแต่ละครั้งดังกล่าวจึงเป็นกรรม ๆ ไป การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรม ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้วฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน