แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยไม่ได้มีเจตนาที่จะเอาทรัพย์ของผู้เสียหายแต่แรก การที่ผู้เสียหายส่งมอบโทรศัพท์เคลื่อนที่กับเงิน 700 บาท แก่จำเลยกับพวกโดยเจตนาเพื่อไม่ให้ถูกจำเลยกับพวกทำร้ายและข่มขืนกระทำชำเรา เมื่อจำเลยกับพวกรับทรัพย์ดังกล่าวไว้ แต่ยังคงทำร้ายร่างกายผู้เสียหายอยู่เพื่อข่มขืนกระทำชำเรา เมื่อผู้เสียหายขอคืน จำเลยกับพวกยังยึดเงิน 200 บาทไว้ ไม่คืนให้ผู้เสียหาย เป็นการเอาทรัพย์ดังกล่าวของผู้เสียหายไปอันเป็นผลพลอยได้จากการที่ผู้เสียหายส่งมอบเงินให้ก่อนหน้านี้เพื่อไม่ให้ถูกข่มขืนกระทำชำเรา ดังนั้น การกระทำของจำเลยกับพวกจึงเป็นเพียงความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืน โดยร่วมกระทำผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยในการกระทำที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย และเมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าขณะกระทำความผิดจำเลยกับพวกไม่ได้ใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อกระทำความผิด หรือพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม จำเลยจึงไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 336 ทวิ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 278, 284, 340, 340 ตรี และให้จำเลยคืนเงิน 200 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ภายหลังสืบพยานเสร็จ จำเลยใช้เงินแก่ผู้เสียหาย 30,000 บาท และผู้เสียหายแถลงว่าไม่ติดใจเอาความกับจำเลยในข้อหากระทำอนาจารและข้อหาพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจาร ขอถอนคำร้องทุกข์สองข้อหานี้ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ในทั้งสองข้อหาดังกล่าวเป็นอันระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) ให้จำหน่ายคดีเฉพาะสองข้อหานั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคแรก ประกอบมาตรา 340 ตรี จำคุก 15 ปี ให้จำเลยคืนเงิน 200 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุ ผู้เสียหายกับนายเอ็ม จำเลย นายกุ้ง และนายประสิทธิ์ไปรับประทานอาหารและดื่มเบียร์กันที่ร้านอาหาร ต.เต่า หลังจากนั้นนายเอ็มกับจำเลยและพวกชวนผู้เสียหายไปที่วัดไร่ขิง นายเอ็มชวนผู้เสียหายไปดูปลาในแม่น้ำ แล้วขอร่วมเพศกับผู้เสียหายโดยพากันไปร่วมเพศที่โรงเรียนวัดไร่ขิง เสร็จแล้วนายเอ็มขอให้ผู้เสียหายร่วมเพศกับจำเลยและพวก แต่ผู้เสียหายไม่ยินยอม ผู้เสียหายให้นายเอ็มขับรถจักรยานยนต์ไปส่งที่พัก ถึงที่เกิดเหตุพบจำเลยกับพวกดักรออยู่ จำเลยกับพวกเข้ามากอดปล้ำและทำร้ายผู้เสียหาย ผู้เสียหายส่งโทรศัพท์เคลื่อนที่กับเงิน 700 บาท ให้จำเลยกับพวกเพื่อไม่ให้จำเลยกับพวกข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหาย จำเลยกับพวกรับไว้แต่ยังจะข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหาย ผู้เสียหายดิ้นรนต่อสู้ ถูกจำเลยกับพวกทำร้ายจนหมดสติ นายเอ็มห้ามจำเลยกับพวกไม่ให้ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหาย เมื่อผู้เสียหายฟื้นขึ้นได้ขอโทรศัพท์เคลื่อนที่และเงิน 700 บาท คืน จำเลยกับพวกคืนโทรศัพท์เคลื่อนที่และเงิน 500 บาท แก่ผู้เสียหาย ส่วนเงินอีก 200 บาท ไม่ยอมคืนให้
ปัญหาต้องวินิจฉัยมีว่า เมื่อผู้เสียหายขอคืนโทรศัพท์เคลื่อนที่และเงิน 700 บาท การที่จำเลยกับพวกคืนโทรศัพท์เคลื่อนที่และเงิน 500 บาท ให้ผู้เสียหาย ส่วนอีก 200 บาท ไม่คืนให้ เป็นความผิดตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยหรือไม่ เห็นว่า จำเลยไม่ได้มีเจตนาที่จะเอาทรัพย์ของผู้เสียหายมาแต่แรก การที่ผู้เสียหายส่งมอบโทรศัพท์เคลื่อนที่กับเงิน 700 บาท แก่จำเลยกับพวกโดยเจตนาเพื่อไม่ให้ถูกจำเลยกับพวกทำร้ายและข่มขืนกระทำชำเรา เมื่อจำเลยกับพวกรับทรัพย์ดังกล่าวไว้ แต่ยังคงทำร้ายร่างกายผู้เสียหายอยู่เพื่อข่มขืนกระทำชำเรา เมื่อผู้เสียหายขอคืน จำเลยกับพวกยังยึดเงิน 200 บาท ไว้ ไม่คืนให้ผู้เสียหายเป็นการเอาทรัพย์ดังกล่าวของผู้เสียหายไป จากผลพลอยได้การที่ผู้เสียหายส่งมอบเงินไว้ให้ก่อนหน้านี้เพื่อไม่ให้ถูกข่มขืนกระทำชำเรา ดังนั้น การกระทำของจำเลยกับพวกจึงเป็นเพียงความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืน โดยร่วมกระทำผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยในการกระทำที่พิจารณาได้ความได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย อนึ่ง ข้อเท็จจริงได้ความว่าขณะกระทำความผิดจำเลยกับพวกไม่ได้ใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อกระทำความผิด หรือพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม จำเลยจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 ทวิ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (7) วรรคสอง ประกอบมาตรา 83 จำคุก 2 ปี ให้จำเลยคืนเงิน 200 บาท แก่ผู้เสียหาย