คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 655/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในกรณีที่ศาลแรงงานเห็นว่า การเลิกจ้างลูกจ้างไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้างตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 ศาลแรงงานอาจสั่งได้เป็น 2 ประการคือ ให้นายจ้างรับลูกจ้างเข้าทำงานต่อไปประการหนึ่ง และให้นายจ้างชดใช้ค่าเสียหายแก่ลูกจ้างในกรณีที่เห็นว่าลูกจ้างกับนายจ้างไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้อีกประการหนึ่ง ในกรณีที่ศาลแรงงานสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างเข้าทำงานต่อไป กฎหมายไม่ได้บัญญัติให้ศาลแรงงานสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าจ้าง นับแต่วันที่เลิกจ้างจนถึงวันที่รับลูกจ้างกลับเข้าทำงานด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม2526 ในตำแหน่งพนักงานสังกัดฝ่ายโภชนาการ ได้รับค่าจ้างสุดท้ายเดือนละ 4,800 บาท ต่อมาวันที่ 18 กรกฎาคม 2534 จำเลยได้มีคำสั่งปลดโจทก์ออกจากงานโดยกล่าวหาว่า โจทก์ได้นำทรัพย์ของบริษัทคือพวงกุญแจจำนวน 10 อันไปให้ผู้อื่นโดยมิชอบ อันเป็นการกระทำความผิดร้ายแรงตามระเบียบของบริษัทจำเลยซึ่งไม่เป็นความจริง ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่ไม่ต่ำกว่าเดิม และในอัตราค่าจ้างไม่น้อยกว่าเดิม กับให้จำเลยจ่ายค่าจ้างนับแต่วันที่เลิกจ้างจนถึงวันที่รับโจทก์กลับเข้าทำงาน
จำเลยให้การว่า เนื่องจากเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2533 โจทก์ลักทรัพย์ของจำเลยไปให้ผู้อื่นในขณะปฏิบัติหน้าที่อันเป็นความผิดตามกฎหมายอาญา เป็นการกระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามระเบียบบริษัทจำเลย จำเลยจึงมีอำนาจเลิกจ้างโจทก์ได้โดยชอบ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยได้ลักทรัพย์ของจำเลยไป การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง พิพากษาให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานต่อไปในตำแหน่งหน้าที่ไม่ต่ำกว่าเดิม และอัตราค่าจ้างไม่น้อยกว่าเดิม โดยให้นับอายุงานต่อเนื่อง คำขออย่างอื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างนับแต่วันที่เลิกจ้าง จนถึงวันที่รับโจทก์กลับเข้าทำงาน
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 บัญญัติไว้ว่า การพิจารณาคดีในกรณีนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าการเลิกจ้างลูกจ้างนั้นไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง ศาลแรงงานอาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างผู้นั้นเข้าทำงานต่อไปในอัตราค่าจ้างที่ได้รับในขณะที่เลิกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าลูกจ้างกับนายจ้างไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ ให้ศาลแรงงานกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้ให้แทนซึ่งหมายความว่าในกรณีที่ศาลแรงงานเห็นว่าการเลิกจ้างลูกจ้างไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง ศาลแรงงานอาจสั่งได้เป็น 2 ประการ คือ ให้นายจ้างรับลูกจ้างเข้าทำงานต่อไปประการหนึ่งและให้นายจ้างชดใช้ค่าเสียหายแก่ลูกจ้างในกรณีที่เห็นว่าลูกจ้างกับนายจ้างไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้อีกประการหนึ่ง ในกรณีที่ศาลแรงงานสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างเข้าทำงานต่อไปกฎหมายไม่ได้บัญญัติให้ศาลแรงงานสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างนับแต่วันที่เลิกจ้างจนถึงวันที่รับลูกจ้างกลับเข้าทำงานด้วย ที่ศาลแรงงานกลางยกคำขอของโจทก์ที่ขอให้จำเลยจ่ายค่าจ้างนับแต่วันที่เลิกจ้างจนถึงวันที่รับโจทก์กลับเข้าทำงานนั้นชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share