คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9173/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ขณะที่จำเลยที่ 2 กระทำความผิด ยังไม่มีการแก้ไขพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2526 มาตรา 14แต่ต่อมาก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ มีพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542 และมาตรา 8 ให้ยกเลิกความในมาตรา 14แห่งพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2526 และให้ใช้ความใหม่แทน เมื่อปรากฏว่ากฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดได้ขยายองค์ประกอบความผิดจากเดิมที่กำหนดให้ผู้กระทำความผิดต้องเป็น “ผู้ไม่มีสัญชาติไทยผู้ใด” ให้เป็น “ผู้ใด”ซึ่งจะเป็นผู้ที่มีสัญชาติไทยหรือไม่ก็ได้ ดังนั้น ในการพิจารณาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหรือไม่จึงต้องพิจารณาตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2526 มาตรา 14 เดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 2 เมื่อคำฟ้องของโจทก์ปรากฏว่า จำเลยเป็นผู้มีสัญชาติไทยส่วนพวกของจำเลยที่มาแอบอ้างและขอทำบัตรประจำตัวประชาชนใหม่ในนามของผู้อื่นนั้นฟ้องโจทก์มิได้ระบุว่าเป็นผู้ไม่มีสัญชาติไทย จึงเป็นฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิดไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2542 เวลากลางวันจำเลยทั้งสองร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่นางคมคาย พรหมอินทร์และนายธนาคม ไหลเจริญกิจ ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ประจำที่ว่าการอำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร ทำหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชน ให้จดข้อความอันเป็นเท็จลงในบันทึกคำให้การบุคคล อันเป็นเอกสารราชการซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐานว่า บุคคลผู้มีชื่อซึ่งมาแอบอ้างและขอทำบัตรประจำตัวประชาชนใหม่ชื่อนายนิคม คุ้มบุญ เป็นบุตรของจำเลยที่ 2 และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน เลขที่ 75 หมู่ที่ 8 ตำบลศรีแก้วอำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร ซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าบ้านอันเป็นความเท็จ ความจริงแล้วนายนิคมได้ถึงแก่ความตายไปก่อนแล้วเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานออกบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่บุคคลที่มาแอบอ้าง โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่นางคมคายนายธนาคม เจ้าพนักงานผู้ออกบัตรประจำตัวประชาชน และประชาชนขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชนพ.ศ. 2526 มาตรา 14 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 267 และ 83

จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์แยกฟ้องเป็นคดีใหม่

จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 และ 167 ประกอบด้วยมาตรา 83การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90จำคุก 1 ปี จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2526มาตรา 14(1) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 และ 267ประกอบด้วยมาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2526 มาตรา 14(1) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 1 ปี จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 2มีกำหนด 6 เดือน

จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “อนึ่ง ขณะที่จำเลยที่ 2 กระทำความผิดยังไม่มีการแก้ไขพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2526มาตรา 14 ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ไม่มีสัญชาติไทยผู้ใดยื่นคำขอมีบัตรโดยแจ้งข้อความหรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าตนเป็นผู้มีสัญชาติไทยหรือใช้บัตรซึ่งตนหมดสิทธิใช้ตามมาตรา 9ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท” แต่ต่อมาก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้มีพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2542 และมาตรา 8 ให้ยกเลิกความในมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชนพ.ศ. 2526 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทนว่า

“ผู้ใด

(1) แจ้งข้อความหรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในการขอมีบัตรตามมาตรา 5 วรรคสี่ หรือมาตรา 6 หรือการขอมีบัตรใหม่ตามมาตรา 6 ตรี หรือการขอมีบัตรใหม่หรือขอเปลี่ยนบัตรตามมาตรา 6 จัตวา ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปีหรือปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

(2)…”

เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าได้ กฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดในคดีนี้ได้ขยายองค์ประกอบความผิดจากเดิมที่กำหนดให้ผู้กระทำความผิดต้องเป็น “ผู้ไม่มีสัญชาติไทยผู้ใด” ให้เป็น”ผู้ใด” ซึ่งจะเป็นผู้ที่มีสัญชาติไทยหรือไม่ก็ได้ ดังนั้น ในการพิจารณาว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดหรือไม่จึงต้องพิจารณาตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2526 มาตรา 14 เดิม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 เมื่อคำฟ้องของโจทก์ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้มีสัญชาติไทย ส่วนพวกของจำเลยที่ 2 ที่มาแอบอ้างและขอทำบัตรประจำตัวประชาชนใหม่ในนามของนายนิคมนั้นฟ้องโจทก์ก็มิได้ระบุว่า เป็นผู้ไม่มีสัญชาติไทย ฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2526 มาตรา 14 เดิมจึงเป็นฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิดตามมาตราดังกล่าวถือเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5)แม้จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ ก็ลงโทษจำเลยที่ 2 ในข้อหาตามพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่ได้ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วย มาตรา 225″

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ในข้อหาตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2526มาตรา 14 จำเลยที่ 2 คงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137 และ 267 ประกอบด้วยมาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share