คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7014/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาไว้ชัดแจ้งในตอนต้นแล้วว่า “ฐานร่วมกันรับเอาไว้ซึ่งของต้องจำกัดมิให้นำเข้ามาใน ราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรปรับรวมเป็นเงิน 26,000 บาท” แม้จะระบุเพิ่มเติมต่อไปว่า “ซึ่งจำเลยทั้งสองต้องรับผิดชำระกันคนละกึ่งหนึ่งเป็นเงิน 13,000 บาท” ก็ถือได้ว่าเป็นเพียงการที่ศาลชั้นต้นประสงค์จะแบ่งความรับผิดของจำเลยทั้งสองให้เป็นสัดส่วนเพื่อสะดวกแก่การกักขังแทนค่าปรับเท่านั้น การที่ศาลอุทธรณ์แก้ไขให้ถูกต้องเป็นว่าให้ปรับจำเลยทั้งสองรวมเป็นเงิน 26,000 บาท ตาม พ.ร.บ. ศุลกากรฯ มาตรา 27 ทวิ จึงไม่เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งสองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะเรื่องค่าปรับว่าเป็นการปรับรวมกัน มิใช่แยกปรับเป็นรายบุคคลในความผิดฐานร่วมกันรับเอาไว้ซึ่งของต้องจำกัดมิให้นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากร และแก้ไขเรื่องการจ่ายสินบนนำจับของผู้นำจับและรางวัลของผู้จับ โดยแยกให้ชัดเจนตาม พ.ร.บ. ป่าไม้ฯ และ พ.ร.บ. ศุลกากรฯ เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขเล็กน้อย และให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองไม่เกินห้าปี หรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่โทษจำคุกไม่เกินห้าปีจำเลยทั้งสองฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษของ ศาลอุทธรณ์ เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง
จำเลยทั้งสองถูกปรับรวมกันตาม พ.ร.บ. ศุลกากรฯ ไม่เกิน 40,000 บาท จึงกักขังแทนค่าปรับได้ไม่เกิน 1 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 30 เมื่อมีจำเลย 2 คน ต้องแบ่งการกักขังแทนค่าปรับจำเลยทั้งสองคนละไม่เกิน 6 เดือน การกักขังแทน ค่าปรับที่ศาลอุทธรณ์กำหนดไว้ว่าหากต้องกักขังแทนค่าปรับให้เฉลี่ยกักขังไปตามสัดส่วนของตัวจำเลยนั้นไม่ถูกต้องและเป็นผลร้ายแก่จำเลยทั้งสอง ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขให้ถูกต้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 11, 48, 73, 74, 74 ทวิ, 74 จัตวา พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ทวิ พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 4, 5, 6, 7, 8, 9 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83 91 ริบของกลาง และจ่ายเงินสินบนนำจับแก่ผู้นำจับกับจ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง, 48 วรรคหนึ่ง, 73 วรรคหนึ่ง, 74, 74 ทวิ, 74 จัตวา พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ทวิ การกระทำเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 4 เดือน และปรับคนละ 4,000 บาท ฐานร่วมกันแปรรูปไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 4 เดือน และปรับคนละ 4,000 บาท ฐานร่วมกันมีไม้แปรรูปหวงห้ามไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 4 เดือน และปรับคนละ 4,000 บาท ฐานร่วมกันรับเอาไว้ซึ่งของต้องจำกัดมิให้นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากร ปรับรวมเป็นเงิน 26,000 บาท ซึ่งจำเลยทั้งสองต้องรับผิดชำระกันคนละกึ่งหนึ่งเป็นเงิน 13,000 บาท รวมจำคุกคนละ 12 เดือน ปรับคนละ 25,000 บาท จำเลยทั้งสองไม่เคยต้องโทษคดีใดมาก่อน ประกอบกับความผิดไม่ร้ายแรงนัก เห็นควรให้โอกาสกลับตัวเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้คนละ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง ให้จ่ายสินบนนำจับร้อยละสามสิบของค่าปรับแก่ผู้นำจับและจ่ายเงินรางวัลร้อยละห้าสิบของค่าปรับแก่เจ้าพนักงานผู้จับกุมตามกฎหมาย
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานร่วมกันรับเอาไว้ซึ่งของต้องจำกัดมิให้นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากร ให้ปรับจำเลยทั้งสองรวมเป็นเงิน 26,000 บาท หากต้องกักขังแทนค่าปรับในความผิดฐานนี้ ให้เฉลี่ยกักขังไปตามสัดส่วนของตัวจำเลย ให้จ่ายสินบนนำจับแก่ผู้นำจับร้อยละสามสิบของค่าปรับในความผิดต่อพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ และให้จ่ายสินบนนำจับแก่ผู้นำจับร้อยละสามสิบและจ่ายรางวัลแก่ผู้จับร้อยละยี่สิบห้าของราคาของกลางที่ศาลสั่งริบในความผิดต่อพระราชบัญญัติศุลกากรฯ ตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 7 และ 8 นอกจากที่ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า… ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้ให้ปรับจำเลยทั้งสองรวมเป็นเงิน 26,000 บาท เป็นการพิพากษาเพิ่มค่าปรับ ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาไว้ ชัดแจ้งในตอนต้นแล้วว่า “ฐานร่วมกันรับเอาไว้ซึ่งของต้องจำกัดมิให้นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากร ปรับรวมเป็นเงิน 26,000 บาท” แม้จะระบุเพิ่มเติมต่อไปว่า “ซึ่งจำเลยทั้งสองต้องรับผิดชำระกันคนละกึ่งหนึ่งเป็นเงิน 13,000 บาท” ก็ถือได้ว่าเป็นเพียงการที่ศาลชั้นต้นประสงค์จะแบ่งความรับผิดของจำเลยทั้งสองให้เป็นสัดส่วนเพื่อสะดวกแก่การกักขังแทนค่าปรับเท่านั้น ไม่ทำให้คำพิพากษาที่ชอบเสียไป การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แก้ไขให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติศุลกากรฯ มาตรา 27 ทวิ จึงไม่เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 แต่อย่างใด คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ลงโทษปรับจำเลยกระทงละ 4,000 บาท ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ เป็นใช้ดุลพินิจลงโทษหนักเกินไปนั้น เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะเรื่องค่าปรับว่าเป็นการปรับรวมกันมิใช่แยกปรับเป็นรายบุคคลในความผิดฐานร่วมกันรับเอาไว้ซึ่งของต้องจำกัดมิให้นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากร และแก้ไขเรื่องการจ่ายสินบนนำจับของผู้นำจับและรางวัลของผู้จับโดยแยกให้ชัดเจนตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ และพระราชบัญญัติศุลกากรฯ เช่นนี้ เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้ไขเล็กน้อย และให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองไม่เกินห้าปีหรือปรับหรือทั้งจำทั้งปรับ แต่โทษจำคุกไม่เกินห้าปี จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ลงโทษหนักเกินไป เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 3 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสอง จึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ระบุในคำพิพากษาว่า “…หากต้องกักขังแทนค่าปรับในความผิดฐานนี้ให้เฉลี่ยกักขังไปตามสัดส่วนของตัวจำเลย…” นั้น ไม่ถูกต้อง คดีนี้จำเลยทั้งสองถูกปรับรวมกันตามพระราชบัญญัติศุลกากรฯ ไม่เกิน 40,000 บาท จึงกักขังแทนค่าปรับได้ไม่เกิน 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 30 เมื่อมีจำเลย 2 คนต้องแบ่งการกักขังแทนค่าปรับจำเลยทั้งสองคนละ 6 เดือน การกักขังแทนค่าปรับที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 กำหนดไว้เป็นผลร้ายแก่จำเลยทั้งสอง ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษายืน เว้นแต่ถ้าจะกักขังจำเลยทั้งสองแทนค่าปรับให้กักขังไว้คนละไม่เกิน 6 เดือน.

Share