แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์และจำเลยทั้งสี่เป็นญาติพี่น้องกัน โจทก์ใช้ทางพิพาทตั้งแต่มีสภาพเป็นคันนา ต่อมาเมื่อมีการขุดบ่อเลี้ยงกุ้ง ทางพิพาทก็เปลี่ยนสภาพมาใช้เป็นคันบ่อเมื่อถึงฤดูทำนาก็จะเดินบนคันนา แต่ถ้านอกฤดูทำนาก็อาจเดินลัดที่นาได้ จึงเป็นการไม่แน่นอนว่าจะเดินทางใดสุดแล้วแต่จะสะดวก โดยเฉพาะแต่ละคนสามารถเดินผ่านที่นาซึ่งกันและกันในลักษณะพึ่งพาอาศัยและถ้อยทีถ้อยอาศัยกันอันเป็นการสะท้อนถึงสภาพวิถีชีวิตที่แท้จริงของการอยู่ร่วมกันของคนชนบทว่าตามปกติแล้วจะใช้ที่ดินข้างเคียงเป็นทางผ่านได้ โดยการถือวิสาสะอาศัยความเกี่ยวพันในทางเครือญาติหรือความคุ้นเคยเป็นประการสำคัญซึ่งเป็นการเอื้อเฟื้อเอื้ออาทรต่อกันถือไม่ได้ว่าโจทก์ใช้ทางพิพาทในลักษณะปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 แม้โจทก์จะใช้ทางพิพาทผ่านที่ดินของจำเลยทั้งสี่มากว่า 10 ปี ทางพิพาทก็ไม่ตกเป็นภารจำยอมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1401
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของรวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 4587ตำบลหนองบัว อำเภอสนามจันทร์ (บ้านโพธิ์) จังหวัดฉะเชิงเทรา จำเลยทั้งสี่เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 2634 ซึ่งอยู่ติดกับที่ดินของโจทก์ทางด้านทิศใต้ โจทก์และบริวารใช้ทางพิพาทเป็นทางเดินเท้า ทางเกวียนและทางรถยนต์ผ่านที่ดินของจำเลยทั้งสี่กว้างประมาณ 5 เมตร ยาวประมาณ 120 เมตร ออกสู่ทางสาธารณะด้านทิศใต้เป็นเวลาติดต่อกันมาเกินกว่า 10 ปี โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาให้เป็นทางภารจำยอม โจทก์จึงได้ภารจำยอมโดยอายุความ ปลายเดือนตุลาคม 2537 จำเลยทั้งสี่นำเสามาปักและตีไม้ขวางปิดกั้นทางบริเวณแนวเขตติดต่อระหว่างที่ดินของโจทก์กับที่ดินของจำเลยทั้งสี่ และขุดทางภารจำยอมออกไปบางส่วน ทำให้ทางภารจำยอมแคบและมีร่องลึกขวางถนนทางด้านทิศใต้เพื่อให้โจทก์และครอบครัวของโจทก์ไม่สามารถใช้ผ่านเป็นทางเข้าออก ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่เปิดทางภารจำยอมให้เหมือนเดิมโดยค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งสี่ หากจำเลยทั้งสี่ไม่ปฏิบัติตาม ให้จำเลยทั้งสี่ชดใช้ค่าใช้จ่ายที่โจทก์ออกไปก่อนคืนแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสี่ชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์สัปดาห์ละ 720 บาท นับแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2537 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสี่จะเปิดทางภารจำยอมให้โจทก์ใช้ทางได้ดังเดิม และให้จำเลยทั้งสี่ไปจดทะเบียนทางภารจำยอมในที่ดินโฉนดเลขที่ 2634ตำบลหนองบัว อำเภอสนามจันทร์ (ปัจจุบันอำเภอบ้านโพธิ์) จังหวัดฉะเชิงเทราของจำเลยทั้งสี่เพื่อประโยชน์แก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 4587 ตำบลหนองบัว อำเภอสนามจันทร์(บ้านโพธิ์) จังหวัดฉะเชิงเทรา ของโจทก์ ถ้าจำเลยทั้งสี่ไม่ไปให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสี่
จำเลยที่ 1 และที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า โจทก์กับจำเลยทั้งสี่เป็นญาติสนิทกัน เดิมที่ดินของโจทก์และจำเลยทั้งสี่ตลอดจนที่ดินข้างเคียงเป็นที่นาเจ้าของที่ดินต่างปลูกบ้านอาศัยอยู่ในที่นาของตนและต่างเดินผ่านที่ดินโดยถือวิสาสะ มิได้มีเจตนาจะเอาเป็นทางภารจำยอมต่อมาปี 2532 โจทก์จำเลยทั้งสี่และเจ้าของที่ดินข้างเคียงเปลี่ยนอาชีพจากการทำนามาเลี้ยงกุ้งเลี้ยงปลา จึงทำให้เกิดทางพิพาทซึ่งเป็นคันบ่อค่าเสียหายไม่เกินครั้งละ 50บาท ปีละไม่เกิน 10 ครั้ง ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 4 ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ทายาทของจำเลยที่ 4ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ทางพิพาทกว้างประมาณ 4 เมตร ยาวประมาณ 120 เมตรตามแนวพื้นที่สีฟ้า จากหลัก ลม.2, ลม.6, ลม.8, ลม.10, ลม.7 ถึง ลม.5 ตามแผนที่วิวาทโฉนดเลขที่ 2634 ตำบลหนองบัว (ปัจจุบันตำบลสิบเอ็ดศอก) อำเภอสนามจันทร์(ปัจจุบันอำเภอบ้านโพธิ์) จังหวัดฉะเชิงเทรา ของจำเลยทั้งสี่เป็นภารจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 4587 ตำบลหนองบัว (ปัจจุบันตำบลสิบเอ็ดศอก) อำเภอสนามจันทร์(ปัจจุบันอำเภอบ้านโพธิ์) จังหวัดฉะเชิงเทรา ให้จำเลยทั้งสี่ไปจดทะเบียนทางพิพาทเป็นทางภารจำยอม หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสี่ และให้จำเลยทั้งสี่รื้อถอนไม้ที่ขวางทางและปรับสภาพทางภารจำยอมให้อยู่ในสภาพเดิม คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความทั้งสองฝ่ายไม่โต้เถียงกันรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นเจ้าของรวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 4587 ตำบลหนองบัว อำเภอสนามจันทร์ (ปัจจุบันอำเภอบ้านโพธิ์) จังหวัดฉะเชิงเทรา เนื้อที่ 34 ไร่ 2 งาน ส่วนจำเลยทั้งสี่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 2634 ในท้องที่เดียวกันกับที่ดินของโจทก์ มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ทางพิพาทตามพื้นที่สีแดงในแผนที่สังเขปเอกสารหมาย จ.3 ตกอยู่ในภารจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์หรือไม่ ในข้อนี้ได้ความจากข้อนำสืบของโจทก์เองว่า โจทก์และจำเลยทั้งสี่เป็นญาติพี่น้องกัน โจทก์ใช้ทางพิพาทตั้งแต่มีสภาพเป็นคันนา ต่อมาเมื่อมีการขุดบ่อเลี้ยงกุ้ง ทางพิพาทก็เปลี่ยนสภาพมาใช้เป็นคันบ่อ ตั้งแต่เดิมมาการใช้เส้นทางพิพาทนี้ไม่มีลักษณะเฉพาะเจาะจงแต่อย่างใดกล่าวคือ ในฤดูทำนาก็จะเดินบนคันนาแต่หากนอกฤดูทำนาก็อาจเดินลัดที่นาได้ ซึ่งไม่เป็นการแน่นอนว่าจะเดินทางใดสุดแล้วแต่จะสะดวก โดยเฉพาะแต่ละคนก็จะเดินผ่านที่นาซึ่งกันและกันในลักษณะพึ่งพาอาศัยและถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ซึ่งโจทก์และจำเลยทั้งสี่นำสืบรับกันในข้อนี้ เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงสภาพวิถีชีวิตที่แท้จริงของการอยู่ร่วมกันของคนในชนบทว่าตามปกติแล้วจะใช้ที่ดินข้างเคียงเป็นทางผ่านได้ ทั้งนี้ ก็โดยถือวิสาสะอาศัยความเกี่ยวพันในทางเครือญาติหรือความคุ้นเคยเป็นประการสำคัญ อันเป็นการเอื้อเฟื้อเอื้ออาทรต่อกันการใช้ทางพิพาทของโจทก์ก็เข้าอยู่ในลักษณะเช่นว่านี้ กรณีถือไม่ได้ว่าโจทก์ใช้ทางพิพาทในลักษณะปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 แม้โจทก์จะใช้ทางพิพาทผ่านที่ดินของจำเลยทั้งสี่มากว่า 10 ปี ทางพิพาทก็ไม่ตกเป็นทางภารจำยอมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1401 ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน