คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2588/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯ มาตรา 30 วรรคสอง กำหนดให้บุคคลที่อ้างเป็นเจ้าของต้องยื่นคำร้องขอเข้ามาในคดีก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ไม่ว่าในคดีนั้นจะปรากฏตัวบุคคลซึ่งอาจเชื่อได้ว่าเป็นเจ้าของหรือไม่ก็ตาม การที่ผู้ร้องมายื่นคำร้องเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งริบรถยนต์ตามคำร้องของโจทก์และคดีถึงที่สุดแล้วจึงต้องห้ามตามกฎหมายดังกล่าว ทั้งตามมาตรา 30 วรรคท้ายแห่งพระราชบัญญัตินี้ ยังบัญญัติห้ามมิให้นำประมวลกฎหมายอาญามาตรา 36 มาใช้บังคับด้วย ผู้ร้องจึงไม่อาจอ้างเหตุว่าไม่รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดมาขอคืนรถยนต์ที่ศาลริบได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน และโจทก์ยื่นคำร้องเป็นคดีนี้ ขอให้ริบรถจักรยานยนต์ยี่ห้อยามาฮ่าหมายเลขตัวรถ 4 เอพี 036442 หมายเลขเครื่องยนต์ 4 เอพี 036442 จำนวน 1 คัน รถยนต์เก๋งยี่ห้อโตโยต้า หมายเลขทะเบียน (ป้ายแดง) บ – 0058 สุโขทัย จำนวน 1 คัน รถยนต์กระบะยี่ห้อนิสสัน หมายเลขทะเบียน บ – 6816 กำแพงเพชร จำนวน 1 คัน และโทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อโนเกียหมายเลข 01 – 9715054 จำนวน 1 เครื่องให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 30, 31 โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ประกาศหนังสือพิมพ์โดยชอบแล้ว

จำเลยที่ 2 และนางสาวลักษมี ดวงดาว ยื่นคำคัดค้านว่ารถจักรยานยนต์เป็นของนางสาวลักษมี ส่วนโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นของจำเลยที่ 2 ทรัพย์สินทั้งสองรายการไม่ใช่ทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดหรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด ขอให้คืนทรัพย์สินทั้งสองรายการแก่บุคคลทั้งสอง

ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้ริบรถยนต์เก๋งยี่ห้อโตโยต้าหมายเลขทะเบียน(ป้ายแดง) ก – 0058 สุโขทัย จำนวน 1 คัน รถยนต์กระบะยี่ห้อนิสสันหมายเลขทะเบียนบ – 6816 กำแพงเพชร จำนวน 1 คัน ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 30, 31 และมีคำสั่งให้ยกคำร้องของโจทก์ในส่วนที่ขอให้ริบรถจักรยานยนต์และโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง ให้คืนรถจักรยานยนต์ยี่ห้อยามาฮ่าหมายเลขตัวรถ 4 เอพี – 036442 หมายเลขเครื่องยนต์ 4 เอพี – 036442 จำนวน 1 คันแก่นางสาวลักษมีและคืนโทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อโนเกียหมายเลข 01 – 9715054 จำนวน1 เครื่องแก่จำเลยที่ 2 คดีถึงที่สุดแล้ว

บริษัทเงินทุนเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) ผู้ร้องยื่นคำร้องขอคืนรถยนต์เก๋งยี่ห้อโตโยต้าหมายเลขทะเบียน (ป้ายแดง) ก – 0058 สุโขทัย โดยอ้างว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถคันดังกล่าว

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องเนื่องจากยื่นพ้นระยะเวลาตามมาตรา 30 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดพ.ศ. 2535

ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “การยื่นคำร้องขอเข้ามาในคดีในกรณีเช่นนี้ มาตรา 30 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 บัญญัติว่า บุคคลที่อ้างเป็นเจ้าของต้องยื่นคำร้องขอเข้ามาในคดีก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ทั้งนี้ไม่ว่าในคดีดังกล่าวจะปรากฏตัวบุคคลซึ่งอาจเชื่อได้ว่าเป็นเจ้าของหรือไม่ก็ตาม ผู้ร้องมายื่นคำร้องเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งริบรถยนต์เก๋งยี่ห้อโตโยต้าหมายเลขทะเบียน (ป้ายแดง) ก – 0058 สุโขทัย ตามคำร้องของโจทก์และคดีถึงที่สุดแล้ว จึงต้องห้ามตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ทั้งตามมาตรา 30 วรรคท้าย แห่งพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 ยังบัญญัติห้ามมิให้นำมาตรา 36 แห่งประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับ ผู้ร้องจึงไม่อาจอ้างเหตุว่าไม่รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดมาขอคืนรถยนต์ดังกล่าวที่ศาลสั่งริบได้ ศาลอุทธรณ์พิพากษามาชอบแล้ว ฎีกาผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share