คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6407/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาจ้างข้อ 5 ระบุว่าโจทก์ต้องเริ่มลงมือทำงานจ้าง ณ สถานที่ที่กำหนดภายในวันที่ 25 กันยายน 2533 แสดงว่าตั้งแต่วันดังกล่าว จำเลยผู้ว่าจ้างต้องเตรียมพื้นที่สำหรับก่อสร้างพร้อมที่จะส่งมอบแก่โจทก์เพื่อลงมือก่อสร้างแล้ว แม้ในสัญญาจ้างจะมิได้ระบุเรื่องการส่งมอบพื้นที่สำหรับก่อสร้างไว้ก็ตาม แต่ก็เป็นที่เข้าใจได้ว่าพื้นที่สำหรับก่อสร้างอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยหรือจำเลยมีสิทธิที่จะครอบครองดูแลหรือใช้ประโยชน์ จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องส่งมอบพื้นที่สำหรับก่อสร้างให้โจทก์ก่อน มิฉะนั้นโจทก์ย่อมไม่อาจลงมือก่อสร้างได้ เมื่อจำเลยเพิกเฉยไม่ส่งมอบพื้นที่สำหรับก่อสร้างให้โจทก์จนล่วงพ้นกำหนดเวลาก่อสร้างตามสัญญา จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์มีสิทธิบอก เลิกสัญญาได้ และจำเลยต้องคืนหนังสือค้ำประกันของธนาคารให้โจทก์นับแต่วันที่สัญญาจ้างเลิกกันเมื่อจำเลยไม่คืน จำเลยย่อมต้องรับผิดในค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายที่โจทก์ต้องชำระให้แก่ธนาคาร
จำเลยฎีกาว่า โจทก์ส่งมอบงานงวดที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ล่าช้า และยังไม่รับข้อเสนอของจำเลยที่ขยายเวลาก่อสร้างให้อีก 27 วัน โจทก์จึงต้องเสียค่าปรับเป็นรายวันแก่จำเลยสำหรับระยะเวลา 27 วัน เป็นเงิน 364,500 บาท ขอให้หัก ออกจากค่าจ้างที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยเป็นข้อที่จำเลยมิได้ให้การไว้ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
จำเลยฎีกาว่า จำเลยควรต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมของธนาคารให้แก่โจทก์นับแต่วันที่ศาลชั้นต้น มีคำพิพากษา มิใช่นับแต่วันฟ้อง ปรากฏว่า เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว จำเลยมิได้ยกประเด็นข้อนี้ขึ้นอ้างในอุทธรณ์ ฎีกาของจำเลยในส่วนนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 1 ศาลฎีกา ไม่รับวินิจฉัย
จำเลยเสียค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกามาตามจำนวนทุนทรัพย์ 7,462,320 บาท ซึ่งจำเลยต้องใช้ให้แก่โจทก์ตามสัญญาจ้าง เอกสารหมาย จ.4 ส่วนสัญญาจ้าง เอกสารหมาย จ.2 ไม่มีค่าเสียหายที่จำเลยต้องรับผิดอีก นอกจากค่าธรรมเนียมของธนาคารปีละ 12,500 บาท นับแต่วันฟ้อง อันเป็นค่าเสียหายในอนาคต ประเด็นที่ว่าจำเลยผิดสัญญาจ้าง เอกสารหมาย จ.2 หรือไม่ จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาล เพียง 200 บาท และค่าขึ้นศาลสำหรับค่าเสียหายในอนาคตอีก 100 บาท ตามตาราง 1 ท้าย ป.วิ.พ. ข้อ(2) และข้อ (4) ส่วนสัญญาจ้าง เอกสารหมาย จ.4 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยทุกข้อ ซึ่งต้องคืนค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาให้จำเลยทั้งหมด ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 151 วรรคหนึ่ง จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาส่วนที่เกิน 300 บาท แก่จำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน ๑๓,๖๒๖,๓๕๖ บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีของต้นเงิน ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๘,๓๐๐,๐๐๐ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยส่งมอบหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาศรีราชา เลขที่ ค.๔๑/๒๕๓๓ และ ค.๔๒/๒๕๓๓ ลงวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๓๓ คืนให้โจทก์โดยให้จำเลยรับผิดใช้ค่าธรรมเนียมที่ธนาคารเรียกเก็บในอัตราฉบับละ ๑๒,๕๐๐ บาทต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะส่งมอบหนังสือค้ำประกันทั้งสองฉบับดังกล่าวคืนให้โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน ๗,๕๖๒,๓๒๐ บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อ นับแต่วันฟ้อง (วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๓๖) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยส่งมอบหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาศรีราชา เลขที่ ค.๔๑/๒๕๓๓ และ ค.๔๒/๒๕๓๓ ลงวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๓๓ คืนโจทก์ และให้จำเลยชำระเงินอัตราฉบับละ ๑๒,๕๐๐ บาทต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบหนังสือค้ำประกันดังกล่าว คืนโจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนด ค่าทนายความให้ ๕๐,๐๐๐ บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน ๗,๔๖๒,๓๒๐ บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ให้ก่อสร้างขยายผิวจราจรพร้อมท่อระบายน้ำ คันหิน และทางเท้าถนนพัทยาสาย ๒ ตามแบบแปลนของจำเลย กำหนดแล้วเสร็จภายใน ๓๕๐ วัน นับแต่วันทำสัญญา ตกลงราคาค่าจ้างเป็นเงิน ๑๓,๕๐๐,๐๐๐ บาท โดยโจทก์ได้นำหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาศรีราชา วงเงิน ๖๗๕,๐๐๐ บาท มอบไว้แก่จำเลยเพื่อเป็นหลักประกันในการปฏิบัติตามสัญญา และโจทก์จะเริ่มลงมือก่อสร้างภายในวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๓๓ หลังจากทำสัญญาจ้างแล้ว โจทก์มิได้ลงมือก่อสร้างตามกำหนดเนื่องจากมีสิ่งกีดขวางการก่อสร้างในพื้นที่ที่จะก่อสร้างคือเสาไฟฟ้า ๖๒ ต้น พร้อมหม้อแปลงไฟฟ้าและสายไฟฟ้า สายโทรศัพท์ กันสาดของอาคารพาณิชย์ เครื่องหมายสัญญาณจราจร และท่อประปาใต้ดิน โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทราบถึงปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว เมื่อยังแก้ไขปัญหาและอุปสรรคดังกล่าวไม่ได้จนพ้นกำหนดเวลาก่อสร้างตามสัญญาแล้ว โจทก์จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยในวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๓๔ นอกจากนี้เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๓๓ จำเลยทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ให้ก่อสร้างท่อระบายน้ำซอยเย็นสบายตามแบบแปลนของจำเลย กำหนดแล้วเสร็จภายใน ๓๕๐ วัน นับแต่วันทำสัญญา ตกลงราคาค่าจ้างเป็นเงิน ๑๓,๕๐๐,๐๐๐ บาท โดยโจทก์ได้นำหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาศรีราชา วงเงิน ๖๗๕,๐๐๐ บาท มอบไว้แก่จำเลยเพื่อเป็นหลักประกันในการปฏิบัติตามสัญญา โจทก์ได้ดำเนินการก่อสร้างและส่งมอบงานงวดที่ ๑ และที่ ๓ ให้จำเลยและได้รับเงินค่าจ้างจากจำเลยแล้ว แต่งานงวดที่ ๒ ที่ ๔ และที่ ๕ โจทก์ก่อสร้างไม่เสร็จตามกำหนด จำเลยอนุมัติให้ขยายเวลาออกไป ๒๗ วัน โจทก์ส่งมอบงานงวดที่ ๒ ที่ ๔ และที่ ๕ แก่จำเลยแล้ว แต่ล่าช้ากว่ากำหนดเวลาที่จำเลยขยายให้ จำเลยมีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังโจทก์อ้างเหตุว่าโจทก์ผิดสัญญาเนื่องจากทำงานไม่แล้วเสร็จตามที่กำหนดในสัญญาและการก่อสร้างไม่ถูกต้อง จำเลยยังมิได้คืนหนังสือค้ำประกันของธนาคารทั้งสองฉบับดังกล่าวให้แก่โจทก์และยังมิได้ชำระค่าจ้างงวดที่ ๒ ที่ ๔ และที่ ๕ ของสัญญาจ้างก่อสร้างท่อระบายน้ำซอยเย็นสบายเป็นเงิน ๘,๓๐๐,๐๐๐ บาท ให้แก่โจทก์
พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยฎีกาข้อแรกว่า จำเลยมิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาจ้างก่อสร้างขยายผิดจราจร ฯลฯ ถนนพัทยาสาย ๒ ตามเอกสารหมาย จ.๒ เพราะโจทก์ทราบปัญหาและอุปสรรคในพื้นที่อยู่แล้ว และสามารถลงมือ ก่อสร้างในบริเวณที่ไม่มีปัญหาและอุปสรรคได้นั้น เห็นว่า ตามสัญญาจ้าง เอกสารหมาย จ.๒ ข้อ ๕ ระบุว่าโจทก์จะต้องเริ่มลงมือทำงานจ้าง ณ สถานที่ที่กำหนดภายในวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๓๓ แสดงว่าตั้งแต่วันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๓๓ จำเลยต้องเตรียมพื้นที่สำหรับก่อสร้างพร้อมที่จะส่งมอบแก่โจทก์เพื่อลงมือก่อสร้างแล้ว แม้ในสัญญาจ้าง เอกสารหมาย จ.๒ จะมิได้ระบุถึงเรื่องการส่งมอบพื้นที่สำหรับก่อสร้างไว้ก็ตาม แต่ก็เป็นที่เข้าใจได้ว่าพื้นที่สำหรับก่อสร้างเป็นพื้นที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยหรือจำเลยมีสิทธิที่จะครอบครองดูแลหรือใช้ประโยชน์ จำเลยจึงมีหน้าที่ที่จะต้องส่งมอบพื้นที่สำหรับก่อสร้างให้โจทก์ก่อน มิฉะนั้นโจทก์ย่อมไม่อาจลงมือก่อสร้างได้ การที่โจทก์ทราบถึงอุปสรรคในพื้นที่อยู่แล้วเรื่องเสาไฟฟ้า ท่อประปา ตลอดจนการที่มีอาคารของผู้อื่นบางส่วนกีดขวางอยู่นั้น เป็นเรื่องที่จำเลยจะต้องดำเนินการแก้ไข หากให้โจทก์ลงมือทำงานในส่วนที่ไม่มีอุปสรรคไปก่อนก็อาจไม่ตรงตามงวดของงานตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.๒ ข้อ ๔ และหากมีผลกระทบถึงที่ดินหรือทรัพย์สินของผู้อื่น โจทก์ก็อาจถูกดำเนินคดีอาญาในความผิดฐานบุกรุกหรือทำให้เสียทรัพย์ได้ เมื่อจำเลยเพิกเฉยไม่ส่งมอบพื้นที่สำหรับก่อสร้างให้โจทก์จนกระทั่งล่วงพ้นกำหนดเวลาก่อสร้างตามสัญญาเช่นนี้ จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา และโจทก์ย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยได้ดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยฎีกาว่า การก่อสร้างท่อระบายน้ำซอยเย็นสบายตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.๔ โจทก์ส่งมอบงาน งวดที่ ๒ ที่ ๔ และที่ ๕ ล่าช้า และยังไม่รับข้อเสนอของจำเลยที่ขยายเวลาก่อสร้างให้อีก ๒๗ วัน โจทก์จึงต้องเสียค่าปรับเป็นรายวันแก่จำเลยสำหรับระยะเวลา ๒๗ วัน ซึ่งคิดเป็นเงิน ๓๖๕,๕๐๐ บาท ขอให้หักออกจากค่าจ้างที่จำเลยต้องชำระ แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๑ นั้น เห็นว่า ฎีกาข้อนี้ของจำเลยเป็นข้อที่จำเลยมิได้ให้การไว้ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค ๑ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยมีสิทธิยึดหน่วงหนังสือค้ำประกันของธนาคารไว้และไม่ต้องรับผิดในค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายใด ๆ ที่โจทก์ต้องชำระให้แก่ธนาคารนั้น เห็นว่า สำหรับหนังสือค้ำประกันของธนาคารฉบับแรกที่โจทก์มอบให้จำเลยตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.๒ ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้แล้วว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาเนื่องจากไม่ส่งมอบพื้นที่สำหรับก่อสร้างให้โจทก์และโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยโดยชอบแล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องคืนหนังสือค้ำประกันของธนาคารฉบับนี้ให้แก่โจทก์นับแต่วันที่สัญญาจ้าง เอกสารหมาย จ.๒ เลิกกัน เมื่อจำเลยไม่คืน จำเลยย่อมต้องรับผิดในค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายที่โจทก์ต้องชำระให้แก่ธนาคารดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย ส่วนหนังสือค้ำประกันของธนาคารฉบับหลังที่โจทก์มอบให้จำเลยตามสัญญาจ้าง เอกสารหมาย จ.๔ นั้น จำเลยฎีกาว่า จำเลยควรต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมของธนาคารให้แก่โจทก์นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเป็นต้นไป มิใช่นับแต่วันฟ้อง ปรากฏว่าเมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว จำเลยมิได้ยกประเด็นข้อนี้ขึ้นอ้างในอุทธรณ์ ฎีกาของจำเลยในส่วนนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค ๑ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเช่นเดียวกัน ฎีกาทุกข้อของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ปรากฏว่าจำเลยเสียค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกามาตามจำนวนทุนทรัพย์ ๗,๔๖๒,๓๒๐ บาท ที่แพ้คดีตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๑ แต่จำนวนทุนทรัพย์ดังกล่าวเป็นเรื่องที่จำเลยต้องใช้ให้แก่โจทก์ตามสัญญาจ้าง เอกสารหมาย จ.๔ เพียงสัญญาเดียว ในส่วนสัญญาจ้าง เอกสารหมาย จ.๒ ไม่มีค่าเสียหายที่จำเลยต้องรับผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๑ อีก นอกจากค่าธรรมเนียมของธนาคารปีละ ๑๒,๕๐๐ บาท นับแต่วันฟ้องอันเป็นค่าเสียหายในอนาคตเท่านั้น ดังนี้ ในประเด็นที่ว่าจำเลยผิดสัญญาจ้าง ตามเอกสารหมาย จ.๒ หรือไม่ จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง ๒๐๐ บาท และค่าขึ้นศาลสำหรับค่าเสียหายในอนาคตอีก ๑๐๐ บาท ตามตาราง ๑ ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ข้อ (๒) และข้อ (๔) ส่วนสัญญาจ้าง เอกสารหมาย จ.๔ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยทุกข้อซึ่งเป็นกรณีที่ต้องคืนค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาให้จำเลยทั้งหมด ตามประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๕๑ วรรคหนึ่ง จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาสำหรับส่วนที่เกิน ๓๐๐ บาท แก่จำเลยไป ทั้งหมด
พิพากษายืน ให้คืนค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาส่วนที่เกิน ๓๐๐ บาท แก่จำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share