แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาฯ มาตรา 34 วรรคหนึ่ง ให้อำนาจศาลฎีการับวินิจฉัยคำร้องของผู้สมัครในกรณีที่ผู้สมัครไม่มีชื่อเป็นผู้สมัครในประกาศของผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งตามมาตรา 32 โดยให้มีคำสั่งว่า ผู้สมัครเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่ กับมาตรา 34/1 วรรคหนึ่ง ให้อำนาจศาลฎีกามีอำนาจรับวินิจฉัยคำร้องของผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งในกรณีที่ขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยให้เพิกถอนการรับสมัครรับเลือกตั้งของผู้รับสมัคร ซึ่งทั้งสองกรณีผู้ร้องจะต้องยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาก่อนวันเลือกตั้งเท่านั้น และในกรณีที่เมื่อถึงวันเลือกตั้งแล้ว ปรากฏว่าไม่มีการยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาตามมาตรา 34/1 วรรคหนึ่ง ก็ให้ดำเนินการเลือกตั้งไปตามประกาศการรับสมัครที่มีผลอยู่ในวันเลือกตั้ง ผู้ร้องเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งในวันเลือกตั้งอยู่ก่อนแล้ว และผู้ร้องได้รับการเลือกตั้งด้วยคะแนนสูงสุดในเขตเลือกตั้งที่ 3 จังหวัดกาญจนบุรี แต่เพิ่งถูกคณะกรรมการการเลือกตั้งวินิจฉัยว่าผู้ร้องขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 107 (4) และมีคำสั่งให้งดการประกาศผลการเลือกตั้งกับให้มีการเลือกตั้งใหม่ ภายหลังวันเลือกตั้ง ซึ่งในกรณีเช่นว่านี้ไม่มีบทกฎหมายใดให้อำนาจศาลฎีกาที่จะสั่งเพิกถอนคำวินิจฉัยและคำสั่งของคณะกรรมการการเลือกตั้งได้
(คำสั่งศาลฎีกา)
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาไต่สวนและมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ให้งดการประกาศผลการเลือกตั้ง และสั่งให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาญจนบุรีเขตเลือกตั้งที่ 3 ใหม่ ด้วยเหตุที่ผู้ร้องเป็นผู้ขาดคุณสมบัติในการสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมีคำสั่งให้ผู้ร้องไม่ขาดคุณสมบัติในการเลือกตั้ง กับมีคำสั่งให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาญจนบุรีเขตเลือกตั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2548 เป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กับให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศรับรองผลการเลือกตั้งของเขตเลือกตั้งดังกล่าวซึ่งเลือกตั้งเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 34 วรรคหนึ่ง ให้อำนาจศาลฎีการับวินิจฉัยคำร้องของผู้สมัครในกรณีที่ผู้สมัครไม่มีชื่อเป็นผู้สมัครในประกาศของผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งตามมาตรา 32 โดยให้มีคำสั่งว่า ผู้สมัครเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่ กับมาตรา 34/1 วรรคหนึ่ง ให้อำนาจศาลฎีกามีอำนาจรับวินิจฉัยคำร้องของผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งในกรณีที่ขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยให้เพิกถอนการสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัคร ซึ่งทั้งสองกรณีผู้ร้องจะต้องยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาก่อนวันเลือกตั้งเท่านั้น และในกรณีที่เมื่อถึงวันเลือกตั้งแล้ว ปรากฏว่าไม่มีการยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาตามมาตรา 34/1 วรรคหนึ่ง ก็ให้ดำเนินการเลือกตั้งไปตามประกาศการรับสมัครที่มีผลอยู่ในวันเลือกตั้งกรณีตามคำร้องของผู้ร้อง ปรากฏว่าผู้ร้องเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งในวันเลือกตั้งอยู่ก่อนแล้ว และผู้ร้องได้รับการเลือกตั้งด้วยคะแนนสูงสุดในเขตเลือกตั้งที่ 3 จังหวัดกาญจนบุรี แต่เพิ่งมาถูกคณะกรรมการการเลือกตั้งวินิจฉัยว่าผู้ร้องขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 107 (4) และมีคำสั่งให้งดการประกาศผลการเลือกตั้งกับให้มีการเลือกตั้งใหม่ ภายหลังจากวันเลือกตั้ง ซึ่งในกรณีเช่นว่านี้ ไม่มีบทกฎหมายใดให้อำนาจศาลฎีกาที่จะสั่งเพิกถอนคำวินิจฉัยและคำสั่งของคณะกรรมการการเลือกตั้งดังกล่าวได้ จึงไม่มีประโยชน์ที่ศาลฎีกาจะให้รับคำร้องของผู้ร้องไว้พิจารณาต่อไป ให้ยกคำร้อง”