แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
บริษัทเครดิต สวิส เฟิร์สท์ บอสตัน (ฮ่องกง) จำกัด บริษัทเครดิต สวิส เฟิร์สท์ บอสตัน (สิงคโปร์) จำกัด และจำเลย เป็นบริษัทในเครือเดียวกันแต่จดทะเบียนแยกต่างหากคนละประเทศกัน โจทก์เคยทำงานในบริษัทเครดิต สวิส เฟิร์สท์ บอสตัน (ฮ่องกง) จำกัด ต่อมาโจทก์ได้รับการโอนย้ายมาทำงานกับจำเลย จากนั้นโจทก์ก็ได้รับการโอนย้ายมาทำงานในบริษัทเครดิต สวิส เฟิร์สท์ บอสตัน (สิงคโปร์) จำกัด โดยโจทก์ได้ลงลายมือชื่อยอมรับข้อเสนอการจ้างงานตามหนังสือแจ้งการโอนย้ายดังกล่าว ซึ่งในหนังสือมีข้อความระบุถึงสถานที่ทำงาน ตำแหน่งงานของโจทก์ รวมทั้งเงินเดือน เงินโบนัส เบี้ยเลี้ยง ค่าที่พักอาศัย วันลาพักผ่อนประจำปี สวัสดิการอื่น การบอกเลิกสัญญาจ้างและอื่น ๆ หนังสือนี้จึงเป็นสัญญาจ้างแรงงานระหว่างบริษัทเครดิต สวิส เฟิร์สท์ บอสตัน (สิงคโปร์) จำกัด กับโจทก์ ดังนั้น บริษัทเครดิต สวิส เฟิร์สท์ บอสตัน (สิงคโปร์) จำกัด จึงเป็นนายจ้างของโจทก์ แม้ว่าบริษัทดังกล่าวทั้งสามจะเป็นบริษัทลูกซึ่งมีบริษัทแม่เดียวกัน แต่เมื่อต่างเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากกัน ย่อมมีอำนาจ หน้าที่ และความรับผิดแยกต่างหากจากกัน เมื่อบริษัทเครดิต สวิส เฟิร์สท์ บอสตัน (สิงคโปร์) จำกัด มีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ จึงเป็นกรณีที่บริษัทเครดิต สวิส เฟิร์สท์ บอสตัน (สิงคโปร์) จำกัด ในฐานะนายจ้างบอกเลิกจ้างโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างในขณะที่โจทก์ไม่ได้เป็นลูกจ้างของจำเลย ทั้งยังไม่มีข้อความหรือข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานใดว่า บริษัทเครดิต สวิส เฟิร์สท์บอสตัน (สิงคโปร์) จำกัด ได้กระทำการแทนจำเลย จึงถือไม่ได้ว่า บริษัทเครดิต สวิส เฟิร์สท์ บอสตัน (สิงคโปร์) จำกัด ได้เลิกจ้างโจทก์แทนจำเลย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย จำเลยได้บอกเลิกจ้างโจทก์ โดยโจทก์มิได้กระทำความผิด โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า และเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงิน 91,344,871.60 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีของค่าชดเชยและค่าชดเชยพิเศษนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จและเงินเพิ่มร้อยละ 15 ต่อปีของค่าชดเชยและค่าชดเชยพิเศษทุกระยะเจ็ดวันนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า บริษัทเครดิต สวิส เฟิร์สท์ บอสตัน (สิงคโปร์) จำกัด เป็นผู้บอกเลิกจ้าง โจทก์จึงมิใช่ลูกจ้างของจำเลย ไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินค่าง ๆ ตามฟ้องจากจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2541 บริษัทเครดิต สวิส เฟิร์สท์ บอสตัน (ฮ่องกง) จำกัด ได้มีหนังสือเสนอรับโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ต่อมาวันที่ 15 กันยายน 2543 สำนักงานผู้แทนเครดิต สวิส เฟิร์สท์ บอสตัน ประจำประเทศไทย ได้มีหนังสือถึงโจทก์แจ้งยืนยันการโอนย้ายโจทก์ไปปฏิบัติงาน ณ สำนักงานผู้แทนเครดิต สวิส เฟิร์สท์ บอสตัน ประจำประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2543 ต่อมาวันที่ 27 สิงหาคม 2544 บริษัทหลักทรัพย์ เครดิต สวิส เฟิร์สท์ บอสตัน (ประเทศไทย) จำกัด ได้มีหนังสือถึงโจทก์ เรื่อง การให้ความยินยอมต่อการโอนย้ายการจ้างงานจากสำนักงานผู้แทนเครดิต สวิส เฟิร์สท์ บอสตัน ประจำประเทศไทย ไปยังบริษัทหลักทรัพย์เครดิต สวิส เฟิร์สท์ บอสตัน (ประเทศไทย) จำกัด ต่อมาวันที่ 30 พฤศจิกายน 2544 บริษัทเครดิต สวิส เฟิร์สท์ บอสตัน (สิงคโปร์) จำกัด ได้มีหนังสือถึงโจทก์แจ้งยืนยันการโอนย้ายไปปฏิบัติงาน ณ บริษัทเครดิต สวิส เฟิร์สท์ บอสตัน (สิงคโปร์) จำกัด โดยกำหนดวันโอนย้ายวันที่ 1 ธันวาคม 2544 ซึ่งโจทก์ได้ลงลายมือชื่อยอมรับข้อเสนอการจ้างงานดังกล่าวเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2544 ระหว่างที่โจทก์ทำงานกับบริษัทดังกล่าวข้างต้น ตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2541 ถึงวันที่ 28 สิงหาคม 2544 โจทก์ได้รับค่าจ้างจากบริษัทเครดิต สวิส เฟิร์สท์ บอสตัน (ฮ่องกง) จำกัด ตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2544 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2544 โจทก์ได้รับค่าจ้างจากจำเลย ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2544 ถึงวันที่ 13 กรกฎาคม 2545 ต่อจากนั้นโจทก์ได้รับค่าจ้างจากบริษัทเครดิต สวิส เฟิร์สท์ บอสตัน (สิงคโปร์) จำกัด บริษัททั้งสาม คือ บริษัทเครดิต สวิส เฟิร์สท์ บอสตัน (ฮ่องกง) จำกัด จำเลย และบริษัทเครดิต สวิส เฟิร์สท์ บอสตัน (สิงคโปร์) จำกัด เป็นบริษัทในเครือเดียวกันแต่จดทะเบียนแยกต่างหากคนละประเทศ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2545 บริษัทเครดิต สวิส เฟิร์สท์ บอสตัน (สิงคโปร์) จำกัด ได้มีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยในขณะที่โจทก์ถูกเลิกจ้างหรือไม่ และบริษัทเครดิต สวิส เฟิร์สท์ บอสตัน (สิงคโปร์) จำกัด ได้มีหนังสือเลิกจ้างโจทก์แทนจำเลยหรือไม่ เห็นว่า บริษัทเครดิต สวิส เฟิร์สท์ บอสตัน (สิงคโปร์) จำกัด ได้มีหนังสือแจ้งการโอนย้ายโจทก์จากจำเลยไปปฏิบัติงาน ณ บริษัทเครดิต สวิส เฟิร์สท์ บอสตัน (สิงคโปร์) จำกัด และโจทก์ลงลายมือชื่อตกลงยอมรับข้อเสนอการจ้างงานตามหนังสือแจ้งการโอนย้ายดังกล่าว เมื่อเอกสารดังกล่าวมีข้อความระบุถึงสถานที่ทำงาน ตำแหน่งงานของโจทก์ รวมทั้งเงินเดือน เงินโบนัส เบี้ยเลี้ยง ค่าที่พักอาศัย วันลาพักผ่อนประจำปี สวัสดิการอื่น การบอกเลิกสัญญาจ้าง และอื่น ๆ เอกสารนั้นจึงเป็นสัญญาจ้างแรงงานระหว่างบริษัทเครดิต สวิส เฟิร์สท์ บอสตัน (สิงคโปร์) จำกัด กับโจทก์ และโจทก์ได้รับค่าจ้างจากบริษัท เครดิต สวิส เฟิร์สท์ บอสตัน (สิงคโปร์) จำกัด ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2544 เป็นต้นมา ดังนั้น บริษัทเครดิต สวิส เฟิร์สท์ บอสตัน (สิงคโปร์) จำกัด จึงเป็นนายจ้างของโจทก์ เมื่อบริษัทเครดิต สวิส เฟิร์สท์ บอสตัน (สิงคโปร์) จำกัด มีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2545 จึงเป็นกรณีที่บริษัทเครดิต สวิส เฟิร์สท์ บอสตัน (สิงคโปร์) จำกัด ในฐานะนายจ้างบอกเลิกจ้างโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างในขณะที่โจทก์ไม่ได้เป็นลูกจ้างของจำเลย แม้ว่าบริษัทเครดิต สวิส เฟิร์สท์ บอสตัน (ฮ่องกง) จำกัด บริษัทเครดิต สวิส เฟิร์สท์ บอสตัน (สิงคโปร์) จำกัด และจำเลยจะเป็นบริษัทลูกซึ่งมีบริษัทแม่คือ บริษัทเครดิต สวิส เฟิร์สท์ บอสตัน อินเตอร์เนชั่นแนล ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในสมาพันธรัฐสวิส และบริษัทดังกล่าวดำเนินการให้บริการแก่ลูกค้าร่วมกัน แต่เมื่อบริษัทเครดิต สวิส เฟิร์สท์ บอสตัน (สิงคโปร์) จำกัด และจำเลยเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากกันในทางกฎหมาย บริษัทเครดิต สวิส เฟิร์สท์ บอสตัน (สิงคโปร์) จำกัด ย่อมมีอำนาจหน้าที่ และความรับผิดในทรัพย์สินและหนี้สินแยกต่างหากจากจำเลย โจทก์จึงไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลย นอกจากนี้การที่บริษัทเครดิต สวิส เฟิร์สท์ บอสตัน (สิงคโปร์) จำกัด มีหนังสือเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีข้อความหรือข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานใดว่าบริษัทเครดิต สวิส เฟิร์สท์ บอสตัน (สิงคโปร์) จำกัด ได้กระทำการแทนจำเลย จึงถือไม่ได้ว่า บริษัทเครดิต สวิส เฟิร์สท์ บอสตัน (สิงคโปร์) จำกัด ได้เลิกจ้างโจทก์แทนจำเลย อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน