คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6487/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามสัญญาเช่าและสัญญาเช่าช่วง สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าระหว่างผู้ร้องสอดกับโจทก์และสิทธิบอกเลิกการเช่าช่วงระหว่างโจทก์กับจำเลยขึ้นอยู่กับความจำเป็นตามนโยบายของผู้ร้องสอด ผู้ร้องสอดบอกเลิกสัญญาเช่าบางส่วนแก่โจทก์โดยอ้างมติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบให้ผู้ร้องสอดดำเนินการปรับปรุงแก้ไขทางขึ้น-ลงเพิ่มเติมสำหรับทางด่วนเฉลิมมหานคร มติดังกล่าวเป็นการอนุมัติเพียงหลักและวิธีปฏิบัติเท่านั้นยังไม่อาจระบุรายละเอียดที่แน่ชัดได้ว่าผู้ร้องสอดต้องใช้พื้นที่ตึกแถวที่จำเลยเช่าช่วงจากโจทก์หรือไม่ การที่ผู้ร้องสอดอ้างว่าจำเป็นต้องใช้พื้นที่ตามสัญญาเช่า จึงหมายความว่าในขณะบอกเลิกสัญญา ผู้ร้องสอดต้องใช้พื้นที่ที่จำเลยเช่าช่วงจากโจทก์ในการก่อสร้างจะขาดพื้นที่ส่วนนี้ไม่ได้ แต่ปรากฏว่าตั้งแต่คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ผู้ร้องสอดจัดทำโครงการดังกล่าวจนถึงวันที่ผู้ร้องสอดบอกเลิกสัญญาเช่าบางส่วนแก่โจทก์ผู้ร้องสอดและผู้ดำเนินโครงการของผู้ร้องสอดไม่ได้จัดทำแบบที่มีรายละเอียดจนระบุได้ว่า ผู้ร้องสอดจำเป็นต้องใช้พื้นที่ที่จำเลยเช่าช่วงจากโจทก์ในการก่อสร้าง จะขาดเสียไม่ได้ ทั้งยังปรากฏว่าเสาของทางขึ้น-ลงเพิ่มเติมตามโครงการดังกล่าวก็ไม่ได้ใช้พื้นที่ที่จำเลยเช่าช่วงจากโจทก์และจนถึงปัจจุบันทางขึ้น-ลงนั้นสร้างเสร็จจนเปิดใช้แล้ว ก็ไม่ต้องใช้พื้นที่ที่จำเลยเช่าช่วงจากโจทก์ ผู้ร้องสอดจึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้พื้นที่ที่จำเลยเช่าช่วงจากโจทก์ในการก่อสร้างจึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าแก่โจทก์ในส่วนที่จำเลยเช่าช่วงจากโจทก์และโจทก์ก็ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าช่วงแก่จำเลย

ย่อยาว

คดีทั้งสิบสำนวนศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รวมพิจารณาและพิพากษารวมกันโดยเรียกโจทก์ทุกสำนวนว่าโจทก์ และเรียกจำเลยในสำนวนคดีหมายเลขดำที่ 18884/2538 ถึง 18888/2538, 492/2539 ถึง 494/2539, 496/2539 และ 497/2539 ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 (ที่ถูกถึงที่ 11) ตามลำดับ

โจทก์ทั้งสิบสำนวนฟ้องเป็นทำนองเดียวกัน ขอให้บังคับจำเลยทั้งสิบเอ็ดและบริวารออกจากตึกแถวที่เช่าให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ ดังนี้ จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 19,000 บาท จำเลยที่ 2เป็นเงิน 22,000 บาท จำเลยที่ 3 เป็นเงิน 44,000 บาท จำเลยที่ 4และที่ 5 เป็นเงินคนละ 23,000 บาท จำเลยที่ 6 เป็นเงิน 115,000บาท จำเลยที่ 7 และที่ 9 เป็นเงินคนละ 116,000 บาท จำเลยที่ 8เป็นเงิน 113,000 บาท กับจำเลยที่ 10 และที่ 11 ร่วมกันชำระเป็นเงิน 105,000 บาท ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 9 ชำระค่าเสียหายรายละ 1,000 บาทต่อวัน จำเลยที่ 3 ชำระค่าเสียหายวันละ 2,000 บาท กับจำเลยที่ 10 และที่ 11 ร่วมกันชำระค่าเสียหายวันละ 1,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสิบเอ็ดและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกจากตึกแถวที่เช่า

จำเลยทั้งสิบเอ็ดให้การทำนองเดียวกัน ขอให้ยกฟ้อง

การทางพิเศษแห่งประเทศไทยยื่นคำร้องสอด ขอให้บังคับโจทก์และจำเลยทั้งสิบ (ที่ถูกจำเลยทั้งสิบเอ็ด) ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากตึกแถวที่เช่า ให้โจทก์และจำเลยทั้งสิบ (ที่ถูกจำเลยทั้งสิบเอ็ด)ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายในอัตราห้องละ 1,750 บาทต่อเดือน นับแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2538 จนกว่าจะส่งมอบตึกแถวแก่ผู้ร้องสอด

โจทก์ไม่ยื่นคำให้การแก้คำร้องสอดและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 และที่ 11 ให้การแก้คำร้องสอดทำนองเดียวกันขอให้ยกคำร้องสอด

จำเลยที่ 10 ไม่ยื่นคำให้การแก้คำร้องสอด

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องและยกคำร้องสอด

ผู้ร้องสอดอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ร่วมกับจำเลยทั้งสิบเอ็ดขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากตึกแถวเลขที่ 98/35 ถึง 98/39,98/42, 98/44 ถึง 98/47 และ 98/61 แขวงคลองเตย เขตคลองเตยกรุงเทพมหานคร ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 ชำระค่าเสียหายคนละ 1,700 บาทต่อเดือน กับจำเลยที่ 10 และที่ 11 ร่วมกันชำระค่าเสียหายเดือนละ 1,700 บาท แก่ผู้ร้องสอด นับแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2538และให้โจทก์ร่วมรับผิดในหนี้จำนวนดังกล่าวจนกว่าโจทก์และจำเลยทั้งสิบเอ็ดจะส่งมอบตึกแถวคืนแก่ผู้ร้องสอด ให้โจทก์ร่วมกับจำเลยทั้งสิบเอ็ดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาล โดยกำหนดค่าทนายความรวมสำนวนละ 3,000 บาท แทนผู้ร้องสอด นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยทั้งสิบเอ็ดฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสิบเอ็ดว่า ผู้ร้องสอดมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าแก่โจทก์ และโจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าช่วงแก่จำเลยทั้งสิบเอ็ดตามสัญญาเช่าเอกสารหมาย ร.4 ข้อ 38 และสัญญาเช่าช่วงเอกสารหมาย ร.18ถึง ร.28 ข้อ 14 หรือไม่ พิเคราะห์แล้วตามเอกสารหมาย ร.4 ข้อ 38ระบุว่าถ้าผู้ร้องสอดมีความจำเป็นตามนโยบายผู้ร้องสอดมีสิทธิบอกเลิกการเช่าบางส่วนแก่โจทก์ได้ และตามเอกสารหมาย ร.18ถึง ร.28 ข้อ 14 ระบุว่าถ้าโจทก์ต้องการสถานที่ให้เช่าช่วงคืนเพราะมีความจำเป็นตามนโยบายของผู้ร้องสอดแล้วโจทก์มีสิทธิบอกเลิกการเช่าช่วง ดังนั้น สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าระหว่างผู้ร้องสอดกับโจทก์และสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าช่วงระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสิบเอ็ดขึ้นอยู่กับความจำเป็นตามนโยบายของผู้ร้องสอด ผู้ร้องสอดบอกเลิกสัญญาเช่าบางส่วนแก่โจทก์ตามเอกสารหมาย ร.9 โดยอ้างว่าคณะรัฐมนตรีมีมติในการประชุมเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2537 เห็นชอบให้ผู้ร้องสอดดำเนินโครงการปรับปรุงแก้ไขทางขึ้น-ลงเพิ่มเติมสำหรับทางด่วนเฉลิมมหานคร ผู้ร้องสอดจำเป็นต้องใช้พื้นที่ตามสัญญาเช่าเป็นที่ก่อสร้าง (รวมถึงพื้นที่ตึกแถวที่จำเลยทั้งสิบเอ็ดเช่าช่วงจากโจทก์ด้วย)ปรากฏตามหนังสือเอกสารหมาย ร.6 ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อให้นำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีว่าผู้ร้องสอดจ้างบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาไทย จำกัด ให้ศึกษาและเสนอแนะวิธีการปรับปรุงแก้ไขทางขึ้น-ลงเพิ่มเติมสำหรับทางด่วนเฉลิมมหานครโดยแบ่งงานเป็น2 ส่วน คือ

ส่วนที่ 1 งานศึกษาความเหมาะสม (Feasibility Study)

ส่วนที่ 2 งานออกแบบรายละเอียดของทางขึ้น-ลง (Detailed Desigh of the new On-Off Ramps)

บริษัทวิศวกรที่ปรึกษาไทย จำกัด ศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจและการเงินในการกำหนดรูปแบบเบื้องต้นสำหรับทางขึ้น-ลงจำนวน 9 จุดแล้วเสร็จ แต่เมื่อถังการจัดทำรายงานการศึกษาความเหมาะสมฉบับสุดท้ายซึ่งเป็นงานลำดับสุดท้ายของงานส่วนที่ 1บริษัทวิศวกรที่ปรึกษาไทย จำกัด ไม่มีเงินและบุคลากรเพียงพอจะดำเนินการผู้ร้องสอดจึงเลิกจ้างในขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีหนังสือถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรียังไม่มีแบบรายละเอียดของทางขึ้น-ลงซึ่งเป็นงานที่ต้องศึกษาตามส่วนที่ 2 เสนอต่อคณะรัฐมนตรี ผู้ร้องสอดใช้ผลการศึกษาของบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาไทย จำกัด จัดทำข้อกำหนดขอบเขตงานใช้คัดเลือกบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างเพื่อออกแบบรายละเอียดบริษัทอิตาเลียนไทยดีเวล็อปเมนต์คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นผู้มีข้อเสนอเหมาะสมที่สุดที่จะก่อสร้างงานตามโครงการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยขอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติผลการศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจและการเงินกับรูปแบบเบื้องต้นสำหรับทางขึ้น-ลงที่บริษัทวิศวกรที่ปรึกษาไทย จำกัด จัดทำ อนุมัติให้ผู้ร้องสอดดำเนินโครงการปรับปรุงแก้ไขทางขึ้น-ลงเพิ่มเติม สำหรับทางด่วนเฉลิมมหานครในบริเวณถนนเพชรบุรี ถนนสุขุมวิท และทางแยกต่างระดับคลองเตย(ตึกแถวที่จำเลยทั้งสิบเอ็ดเช่าช่วงอยู่ในบริเวณนี้) อนุมัติให้ผู้ร้องสอดจ้างบริษัทอิตาเลียนไทยดีเวล็อปเมนต์คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นผู้ดำเนินโครงการ และขอให้รัฐบาลสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ร้องสอด ซึ่งต่อมาในการประชุมเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2538 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว ปรากฏตามหนังสือเอกสารหมาย ร.7 เห็นว่า ในขณะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเสนอเรื่องเพื่อขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรีและขณะที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ผู้ร้องสอดจัดทำโครงการปรับปรุงแก้ไขทางขึ้น-ลงเพิ่มเติมสำหรับทางด่วนเฉลิมมหานครยังไม่มีการออกแบบรายละเอียดของทางขึ้น-ลง และกำหนดจุดก่อสร้างที่แน่ชัด เป็นเพียงระบุสถานที่ก่อสร้างไว้กว้าง ๆ ว่าเป็นบริเวณถนนเพชรบุรี ถนนสุขุมวิทและทางแยกต่างระดับคลองเตย ซึ่งในส่วนของทางแยกต่างระดับคลองเตยที่โจทก์เช่าจากผู้ร้องสอดก็มีพื้นที่ถึง 8,000 ตารางวา ดังนั้น คณะรัฐมนตรีจึงอนุมัติเพียงหลักและวิธีปฏิบัติซึ่งถือเป็นแนวดำเนินการอันตรงกับความหมายของคำว่า “นโยบาย” ตามพจนานุกรมเท่านั้น ยังไม่อาจระบุรายละเอียดที่แน่ชัดได้ว่าผู้ร้องสอดต้องใช้พื้นที่ตึกแถวที่จำเลยทั้งสิบเอ็ดเช่าช่วงจากโจทก์ในการก่อสร้างหรือไม่ ทางนำสืบของผู้ร้องสอดไม่ปรากฏว่านับจากวันที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติแล้วจนถึงวันที่ผู้ร้องสอดบอกเลิกสัญญาเช่าบางส่วนแก่โจทก์ตามเอกสารหมาย ร.9ผู้ร้องสอดได้จัดทำรายละเอียดของพื้นที่ที่ต้องใช้ในการก่อสร้างของโครงการปรับปรุงแก้ไขทางขึ้น-ลงเพิ่มเติมสำหรับทางด่วนเฉลิมมหานครหรือไม่ แต่ปรากฏตามแผนผังเอกสารหมาย ร.15 ของผู้ร้องสอดซึ่งมีข้อความระบุว่าเป็นเอกสารแนบจดหมายเลขที่ 1/ETA-3/018ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2538 (ก่อนที่ผู้ร้องสอดจะบอกเลิกสัญญาเช่าบางส่วนแก่โจทก์ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2538 ตามเอกสารหมาย ร.9)ว่าตำแหน่งเสาของโครงการปรับปรุงแก้ไขทางขึ้น-ลงเพิ่มเติมสำหรับทางด่วนเฉลิมมหานครไม่ได้ใช้พื้นที่ตึกแถวเลขที่ 98/35-39, 98/42,98/44-47 และ 98/61 ที่จำเลยทั้งสิบเอ็ดเช่าช่วงจากโจทก์ ถึงแม้ตามแผนผังจะปรากฏตำแหน่งเสาอยู่ในส่วนหนึ่งของตึกแถวเลขที่ 98/47ที่จำเลยที่ 7 เช่าช่วงจากโจทก์แต่ก็ปรากฏตามคำเบิกความของนางกนกพร เย็นสุดใจ พยานผู้ร้องสอดซึ่งเบิกความเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2540และคำแถลงรับของทนายผู้ร้องสอดในรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นฉบับลงวันที่ 17 ตุลาคม 2540 ว่าทางขึ้น-ลงเพิ่มเติมสำหรับทางด่วนเฉลิมมหานครสร้างเสร็จเปิดใช้มาเป็นเวลา 1 ปีเศษแล้วผู้ร้องสอดไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่ตึกแถวที่จำเลยทั้งสิบเอ็ดเช่าช่วงจากโจทก์ในการก่อสร้าง ผู้ร้องสอดอ้างในหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าบางส่วนแก่โจทก์ตามเอกสารหมาย ร.9 ว่าผู้ร้องสอดจำเป็นต้องใช้พื้นที่ตามสัญญาเช่า (รวมถึงพื้นที่ตึกแถวที่จำเลยทั้งสิบเอ็ดเช่าช่วงจากโจทก์ด้วย) เป็นพื้นที่ก่อสร้าง คำว่า “จำเป็น” ตามพจนานุกรมหมายความว่าต้องเป็นอย่างนั้น ต้องทำ ขาดไม่ได้ กรณีตามเอกสารหมาย ร.9 จึงหมายความว่าในขณะบอกเลิกสัญญาผู้ร้องสอดต้องใช้พื้นที่ตึกแถวที่จำเลยทั้งสิบเอ็ดเช่าช่วงจากโจทก์ในการก่อสร้างจะขาดพื้นที่ส่วนนี้เสียไม่ได้ แต่ปรากฏว่าตั้งแต่คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ผู้ร้องสอดจัดทำโครงการปรับปรุงแก้ไขทางขึ้น-ลงเพิ่มเติมสำหรับทางด่วนเฉลิมมหานครจนถึงวันที่ผู้ร้องสอดบอกเลิกสัญญาเช่าบางส่วนแก่โจทก์ตามเอกสารหมาย ร.9 ผู้ร้องสอดและบริษัทอิตาเลียนไทยดีเวล็อปเมนต์คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ดำเนินโครงการของผู้ร้องสอดไม่ได้จัดทำแบบที่มีรายละเอียดจนระบุได้ว่า-ผู้ร้องสอดจำเป็นต้องใช้พื้นที่ตึกแถวที่จำเลยทั้งสิบเอ็ดเช่าช่วงจากโจทก์ในการก่อสร้างจะขาดเสียไม่ได้ ทั้งข้อเท็จจริงยังปรากฏตามแผนผังเอกสารหมายร.15 อีกว่าเสาของทางขึ้น-ลงเพิ่มเติมสำหรับทางด่วนเฉลิมมหานครก็ไม่ได้ใช้พื้นที่ตึกแถวดังกล่าว และความจริงที่ปรากฏจนถึงปัจจุบันคือทางขึ้น-ลงนั้นสร้างเสร็จจนเปิดใช้แล้วโดยไม่ต้องใช้พื้นที่ตึกแถวที่จำเลยทั้งสิบเอ็ดเช่าช่วงจากโจทก์ ผู้ร้องสอดไม่มีความจำเป็นต้องใช้พื้นที่ตึกแถวที่จำเลยทั้งสิบเอ็ดเช่าช่วงจากโจทก์ในการก่อสร้างจึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าแก่โจทก์ในส่วนพื้นที่ตึกแถวเลขที่ 98/35-39,98/42, 98/44-47 และ 98/61 ถนนสุนทรโกษา แขวงคลองเตย เขตคลองเตยกรุงเทพมหานคร ที่จำเลยทั้งสิบเอ็ดเช่าช่วงจากโจทก์โดยอาศัยความในเอกสารหมาย ร.4 ข้อ 38 และโจทก์ก็ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าช่วงแก่จำเลยทั้งสิบเอ็ดโดยอาศัยความในเอกสารหมาย ร.18 ถึง ร.28 ข้อ 14เช่นกัน ไม่จำต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยทั้งสิบเอ็ดว่าเอกสารหมายร.4 ข้อ 38 กับเอกสารหมาย ร.18 ถึง ร.27 ข้อ 14 เป็นนิติกรรมมีเงื่อนไขบังคับหลังหรือไม่และผู้ร้องสอดเสียหายเพียงใดเพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง ฎีกาของจำเลยทั้งสิบเอ็ดฟังขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share