แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
รถจักรยานยนต์ที่จำเลยใช้เป็นพาหนะในการวิ่งราวทรัพย์นั้นไม่เรียกว่าเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำผิด จึงริบไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกอีก ๑ คน ร่วมกันลักเอาสร้อยคอทองคำของนางละเอียด เลื่อนฉวี โดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้า แล้วขึ้นรถจักรยานยนต์ที่จำเลยกับพวกใช้เป็นพาหนะหนีไป เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมรถดังกล่าวที่จำเลยกับพวกใช้เป็นพาหนะในการกระทำผิดเป็นของกลางขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๖, ๘๓ ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ ๔๐๐ บาทแก่เจ้าทรัพย์ และริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๓๖, ๘๓ ซึ่งใช้อยู่ในขณะกระทำผิด และเป็นคุณแก่จำเลย ให้จำคุกจำเลย ๔ ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ ๔๐๐ บาทแก่เจ้าของ รถของกลางริบ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับเฉพาะฎีกาข้อ ๓ (ก)(ข) ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมาย
สำหรับฎีกาข้อ ๓(ก) ของจำเลยซึ่งจำเลยฎีกาว่าพลตำรวจจับกุมจำเลยโดยไม่มีหมายจับเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย นั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าการจับกุมจำเลยในคดีนี้ไม่ต้องมีหมายจับ เพราะต้องด้วยข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๗๘ ข้อ ๔ ส่วนฎีกาข้อ ๓(ข)ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามมาตรา ๒๑๘แล้วศาลฎีกาวินิจฉัยต่อไปว่า สำหรับรถจักรยานยนต์ของกลางที่ศาลล่างพิพากษาให้ริบนั้น ศาลฎีกาเห็นว่ารถจักรยานยนต์ของกลางที่จำเลยใช้เป็นพาหนะในการวิ่งราวทรัพย์นั้นไม่เรียกว่าเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำผิดจึงริบไม่ได้
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า รถจักรยานยนต์ของกลางให้คืนเจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์