คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 995/2501

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์จำเลยตกลงกันให้รังวัดที่พิพาท ถ้าจำเลยรุกที่โจทก์ จำเลยยอมแพ้ ถ้าไม่รุกโจทก์ยอมถอนฟ้อง ดังนี้ ต่อมาได้รังวัดแล้วฝ่ายใดฝ่ายเดียวจะแก้ไขข้อตกลงนั้นไม่ได้ เมื่อปรากฏว่าจำเลยไม่รุกที่โจทก์ โจทก์ไม่ถอนฟ้อง ศาลก็พิพากษายกฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและยื่นคำร้องว่า โจทก์มีที่ดิน 1 แปลง โฉนดเลขที่ 5247เนื้อที่ 31 ไร่ อยู่ตำบลปากเพรียว อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรีทิศใต้ติดต่อกับที่ของจำเลย เมื่อเดือนตุลาคม 2497 จำเลยทั้งสองสมคบกัน ยักย้ายหลักหิน อันเป็นหลักเขตของโจทก์เข้ามาในที่ดินของโจทก์แล้วยังได้ปลูกสร้างกำแพงรั้ว และเรือนรุกล้ำเข้ามาในที่ของโจทก์ทางด้านหน้า คือ ทางทิศตะวันออก นับจากที่ดินของจำเลยทางทิศเหนือรุกเข้ามาในที่ทางทิศใต้ของโจทก์ กว้าง 2 เมตร 60 เซ็นต์ยาวไปทางด้านหลัง คือ ทิศตะวันตก เป็นรูปชายธงเรียวยาว 105 เมตร8 เซ็นต์ รวมเป็นเนื้อที่ 32 ตารางวา ราคา 7,500 บาท ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนกำแพงรั้ว และเรือนออกจากที่ดินของโจทก์ทำที่ดินของโจทก์ให้เป็นไปตามสภาพเดิม และปักหลักหินไว้ยังที่เดิมอย่าให้เกี่ยวข้องในที่ดินของโจทก์ต่อไป

จำเลยแก้ว่า มีที่ดินติดต่อกับที่ดินของโจทก์จริง ที่ดินของจำเลยตามโฉนดที่ 5246 ที่ดินของโจทก์ตามโฉนดที่ 5247 จำเลยไม่ได้ย้ายหลักหินของโจทก์ ได้ปลูกสร้างกำแพงรั้ว และเรือนในเขตที่ของจำเลย

โจทก์จำเลยตกลงกันตามรายงานพิจารณาลงวันที่ 29 กรกฎาคม2498 ขอให้พนักงานทะเบียนที่ดินไปรังวัดและทำแผนที่ ต่อมาวันที่ 10 สิงหาคม 2499 เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสระบุรีได้มีหนังสือราชการบอกมาว่า ได้ให้ช่างแผนที่ไปทำแผนที่วิวาทแล้วจึงได้ส่งรูปแผนที่ครอบปูแสดงเขตที่ของโจทก์จำเลยนำชี้ และเขตโฉนดเดิมว่าจะทับกันเพียงใด 1 ฉบับ และแผนที่วิวาทอีก 1 ฉบับ

ต่อมาวันที่ 30 สิงหาคม 2499 ศาลจดรายงานพิจารณาว่าคู่ความได้เชิญศาลไปตรวจดูหมุดฐาน ของที่ดิน ในเขตโฉนดเลขที่ 5246 และเลขที่ 165 ศาลได้ไปตรวจแล้ว คู่ความรับรองว่า หลักหินหมายเลข ย.339283 และหมายเลข ย.381132 อยู่ในสภาพที่ถูกต้องตรงที่ปักไว้เดิม คู่ความตกลงให้รังวัดตรวจสอบเขตโฉนดของโจทก์และจำเลยโดยวัดจากหลักหินเลขที่ ย.339283 ตามยาวไปทางทิศเหนือตามถนนพหลโยธินหากตามเขตโฉนดด้านนี้มีระยะยาวเท่าใดก็ให้ปักหลักลง กับให้วัดจากหลัก ย.381132 ตามยาวไปทางทิศใต้ตามถนนพหลโยธินระยะนี้ตามเขตโฉนดมีระยะเท่าใด ก็ให้ปักหลักลงอีกและจากหลักนี้ก็ให้วัดตามยาวไปทางทิศใต้ ระยะนี้ในโฉนดเลขที่ 5247 มีความยาวเท่าใดก็ให้ปักหลักลงเมื่อได้เขตที่แน่นอนดังนี้แล้ว ถ้าปรากฏว่ากำแพงและรั้วสังกะสีของจำเลยรุกล้ำที่ของโจทก์ จำเลยก็จะรื้อถอนไปและทำที่ดินให้ดีอยู่ในสภาพเดิมโจทก์ก็จะไม่คิดค่าเสียหายใด ๆ อีก และถ้าปรากฏว่าจำเลยไม่ได้รุกล้ำโจทก์ก็จะขอถอนฟ้องไปและยอมให้ค่าธรรมเนียมเป็นพับไปทั้งสองฝ่ายในการรังวัดตรวจสอบเขตครั้งนี้คู่ความขอให้นายประพาฬ มุสิกะมาน และศาลออกไปกระทำการ

ต่อมาวันที่ 8 กันยายน 2499 ศาลจดรายงานพิจารณาว่า วันนี้ศาลได้ไปตรวจสอบรังวัด พร้อมด้วยพนักงานรังวัดประจำสำนักงานทะเบียนที่ดินจังหวัดสระบุรี ตามรายงานพิจารณาลงวันที่ 30 สิงหาคม2499 แล้ว พนักงานรังวัดวัดจากหลัก ย.339283 ไปทางทิศเหนือซึ่งระยะนี้จะต้องมีความยาว 44.96 ม. จุดที่วัดไปถึงอยู่ระหว่างหลักไม้กับหลักหินเลข ม.17177 และได้วัดจากหลักหินเลขที่ย.381172 ซึ่งเป็นหลักอยู่ในที่ดินของนางดีมาทางทิศใต้ ซึ่งระยะนี้ตามหลักฐานมีระยะยาว 252 ม. มาถึงจุดหนึ่งเลขหลัก ม.17177 ต่อไปจวนจะถึงหลักไม้ แสดงว่าโฉนดล้ำกันเป็นเนื้อที่ระยะยาว 80 ซ.ม.วัดจากหลัก ย.339283 ถึงจุดสมมุติอันเป็นที่ของจำเลย ใช้กล้องเล็งไปยังหลัก ข.40390 ปรากฏว่ากำแพงได้เหลื่อมล้ำเข้ามาในที่ของโจทก์ แต่คู่ความทั้งสองฝ่ายว่าควรจะได้ตรวจสอบเขตโฉนดของนายประมาณ อดิเรกสาร เพื่อให้ทราบแน่นอนว่าหลักเลขที่ย.33938 อยู่ตรงใด และอยู่ตรงจุดในขณะนี้หรือไม่ ถ้าปรากฏว่าหลักนี้จะต้องย้ายไปตรงใด โดยการตรวจสอบเขตโฉนดของนายประมาณตามหลักวิชาแล้วคู่ความก็จะถือว่าเป็นอันถูกต้องและให้รังวัดจากหลักที่ติดต่อกับด้านนี้ขึ้นมาทางทิศเหนือให้ได้ระยะ 44.96 ม. แล้วปักหลักลงส่องกล้องจากหลักนี้ไปยังหลัก ข.40390 ถ้าปรากฏว่ากำแพงฯ ของจำเลยรุกล้ำจำเลยก็จะรื้อถอนไปและโจทก์จะถอนฟ้องและตกลงอย่างเดียวกับในครั้งก่อน

ต่อมาวันที่ 22 กันยายน 2499 ศาลจดรายงานพิจารณาว่าวันนี้ ศาลได้ออกไปตรวจรังวัดสอบเขตที่ดินตามความในรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 8 กันยายน 2499 แล้ว แต่ครั้นถึงที่พิพาทฝ่ายโจทก์ขอให้เริ่มรังวัดตั้งแต่หลักเลขที่ ย.339170 ซึ่งเป็นหลักมุมสุดของที่ดินนายชาติชาย เพราะปรากฏว่าที่ดินของนายประมาณเป็นที่ดินแปลงเดียวกับที่ดินแปลงดังกล่าวมาก่อน แล้วมาแบ่งแยกโฉนดกันภายหลังหลักที่กล่าวนี้จะมีความแน่นอนดีกว่า จำเลยเห็นชอบด้วยจึงได้ลงมือทำการรังวัดต่อไป โดยถือตามหลักฐานว่า ตั้งแต่หลักย.339170 วัดตามระดับถนนมาจนถึงที่ดินของจำเลยมีความยาว596 ม. 40 ซ.ม. ได้ทำการรังวัดตรวจสอบถึง 2 หน ปรากฏว่ามาถึงจุดหนึ่งในที่ดินของจำเลยล้ำหลัก ย.339283 มาอีก 44 ซ.ม.และเริ่มวัดจากจุดนี้ต่อไปทางทิศเหนือตามความยาวของถนนอีก 44 ม. 96 ซ.ม. ซึ่งเป็นระยะความยาวของที่ดินจำเลยด้านนี้ ไปถึงจุดหนึ่งแล้วได้ตั้งกล้องส่องเล็งไปยังหลัก 40390 ไม่ปรากฎว่าตรงจุดนี้กำแพงของจำเลยรุกล้ำที่ดินของโจทก์ อนึ่ง ในการรังวัดคราวนี้กลับปรากฏว่า โฉนดที่ดินระหว่างโจทก์จำเลยเหลื่อมล้ำกันมีเนื้อที่1.24 ม. แม้แต่รังวัดดังกล่าวนี้แล้วก็ยังไม่ถึงหลักหินหมาย ม.17177 ซึ่งจำเลยนำทำแผนที่วิวาท คู่ความตกลงกันว่าถ้าจะมีการดำเนินคดีกันต่อไปหรือไม่ จะได้แถลงให้ศาลทราบในวันที่ 4 ตุลาคม 2499

วันที่ 2 ตุลาคม ฝ่ายโจทก์ยื่นคำแถลงความว่า การรังวัดสอบเขตปรากฏว่า มิได้ใช้เครื่องมือทันสมัย และการตรวจสอบไม่ได้ตั้งรูปสามเหลี่ยมเพื่อให้เกิดเส้นตรวจสอบความผิดถูกได้ เพราะไม่มีเส้นยึดการรังวัดทั้งสองครั้งจึงมีผลผิดกันไกลมาก จึงกล่าวได้ว่าไม่ได้ทำโดยใช้หลักวิชาถ้าได้ทำตามหลักวิชาแล้วผลที่แตกต่างกันต้องตรงกัน การที่กระทำกันมาแล้วเห็นความผิดพลาดได้อย่างง่าย ๆคือการดึงโซ่ด้วยมือ ไม่มีสิ่งบังคับความตึง จะบังคับความหดหรือหย่อนของโซ่ได้อย่างไร ที่ดินที่วัดมาสู่ที่พิพาทเป็นทางยาวเกินโซ่ที่วัด จึงวัดทีเดียวตลอดไม่ได้ การลากโซ่อาจคดไปคดมา ก็เป็นเหตุให้เกิดระยะยาวบ้างสั้นบ้าง การลากโซ่อาจคดไปคดมา เป็นเหตุให้เกิดระยะยาวบ้างสั้นบ้าง การวัดทั้งสองครั้งจึงเป็นการวัดที่ใช้ไม่ได้ และไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ จึงขอให้สั่งให้พนักงานรังวัดทำการรังวัดใหม่ โดยใช้เครื่องมือทันสมัยที่มีการบังคับการดึงโซ่โดยใช้ปอนด์บังคับด้วยเพื่อกันความยืดหยุ่น แล้ววัดโดยมีการปูโฉนดข้างเคียงโดยรอบเพื่อสอบหลักเขตให้ถูกต้อง ถ้าได้ทำโดยถูกต้องไม่บังเกิดผลให้เห็นความผิดถูกของฝ่ายใดได้แล้วก็ขอให้ถือแผนที่กลางที่ได้ทำขึ้นโดยโจทก์จำเลยต่างนำชี้ไว้ ซึ่งช่างแผนที่ได้ทำส่งศาลไว้แล้ว และขอให้ทำการพิจารณาสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วจึงพิพากษาต่อไปในประเด็นที่โจทก์จำเลยตกลงกันว่า เมื่อจำเลยได้ก่อสร้างส่วนใดรุกล้ำที่ดินของโจทก์ ก็ให้จำเลยรื้อออกไป ถ้าไม่รุกล้ำก็ให้โจทก์แพ้คดี

วันที่ 3 ตุลาคม 2499 ฝ่ายจำเลยยื่นคำแถลงความว่า คำแถลงของโจทก์ขัดแย้งต่อข้อตกลง ระหว่างโจทก์จำเลยตามรายงานพิจารณาลงวันที่ 30 สิงหาคม และวันที่ 8 กันยายน 2499 โจทก์ไม่มีสิทธิจะยกขึ้นเป็นข้อโต้แย้งได้ เพราะตามข้อตกลงมีแต่เพียงว่า ในการรังวัดสอบเขตคู่ความขอให้นายประพาฬ มุสิกะมาน และศาลออกไปกระทำการซึ่งต่างฝ่ายยอมเคารพนับถือในวิทยาการและความสามารถแล้ว ระหว่างที่ทำการรังวัดโจทก์ก็มิได้ตั้งข้อรังเกียจหรือทักท้วง

วันที่ 10 ตุลาคม 2499 ศาลมีคำสั่งว่า ตามที่โจทก์ขอให้ทำการรังวัดใหม่ แต่จำเลยไม่ยอม ไม่มีทางที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาดังที่โจทก์ขอ จึงให้โจทก์จัดการถอนฟ้อง หากไม่ปฏิบัติตามจะพิพากษาต่อไป

โจทก์มิได้ดำเนินการถอนฟ้อง ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า เรื่องนี้คู่ความได้แสวงหาความเป็นธรรมด้วยความพอใจทั้งสองฝ่ายตามรายงานพิจารณาลงวันที่ 22 กันยายน 2499 เป็นการชี้ขาดปัญหาแล้ว โจทก์ต้องปฏิบัติตามที่ได้ท้ากันไว้ เมื่อไม่ปฏิบัติตามก็ต้องพิพากษายกฟ้องเพราะปรากฏว่ากำแพงที่โจทก์กล่าวหาว่า จำเลยรุกล้ำนั้นอยู่ในเขตโฉนดของจำเลย จำเลยมิได้ละเมิดสิทธิของโจทก์ ให้โจทก์เสียค่าฤชาธรรมเนียม ค่าทนายความ 300 บาท แทนจำเลย

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การวินิจฉัยชี้ขาดคดีนี้จะต้องถือตามที่คู่ความตกลงกันตามกระบวนพิจารณาลงวันที่ 8 กันยายน 2499 และวันที่ 22 กันยายน 2499 ซึ่งโจทก์ได้ขอให้เริ่มวัดจากหลักที่ย.339170 มุมสุดที่ดินนายชาติชายแปลงเดียวกับที่ดินของนายประมาณแบ่งแยกโฉนดกันเป็นหลักที่มีความแน่นอนดีและจำเลยเห็นชอบด้วยทำการรังวัดตรวจสอบ 2 ครั้ง ได้ผลตรงกัน ไม่ปรากฏว่ากำแพงของจำเลยรุกล้ำที่ดินของโจทก์ ต้องถือว่าการตรวจสอบรังวัดซึ่งนายประพาฬเจ้าพนักงานที่ดิน และศาลได้ไปกระทำตามข้อตกลงของคู่ความ โจทก์ชอบที่จะถอนฟ้องตามข้อตกลงตามที่โจทก์ขอให้รังวัดตรวจสอบใหม่ เห็นว่าตามข้อตกลงในรายงานพิจารณาทุกฉบับไม่ได้กำหนดให้รังวัดตรวจสอบโดยเครื่องมือและวิธีการอย่างไร และนายประพาฬก็ได้ใช้เครื่องมือรังวัดที่สำนักงานทะเบียนที่ดินใช้อยู่ โดยผู้พิพากษาได้ไปควบคุมอยู่ด้วย ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้คัดค้านเครื่องมือที่ใช้รังวัดและวิธีการรังวัด โจทก์เพิ่งจะมาแถลงคัดค้านภายหลังนั้นไม่ชอบ และไม่มีประเด็นจะโต้เถียงได้โจทก์โต้เถียงว่าโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอมตามรายงานพิจารณาลงวันที่ 8 กันยายน 2489ด้วย เพราะใบแต่งทนายมิได้ให้อำนาจทนายทำเช่นนั้นได้ เห็นว่านายเทพ ทนายของโจทก์เป็นผู้แถลงตามรายงานพิจารณาดังกล่าวนั้นถือได้ว่า เป็นการที่ทนายความดำเนินการพิจารณาตามกฎหมาย ทั้งตามใบแต่งทนายโจทก์ได้มอบอำนาจระบุไว้แจ้งชัดให้นายเทพ ทนายมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณา ในทางจำหน่ายสิทธิของคู่ความ ฯลฯย่อมมีอำนาจตกลงหรือสละสิทธิการตรวจสอบได้อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ได้ จึงพิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายชั้นอุทธรณ์ 150 บาทแก่จำเลย

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาได้ฟังคำแถลงและประชุมพิจารณาแล้ว คดีนี้คู่ความได้ตกลงกันขอให้นายประพาฬ มุสิกะมาน เจ้าพนักงานรังวัดและศาลไปกระทำการรังวัดที่ดิน ถ้าปรากฏว่ากำแพงและรั้วสังกะสีของจำเลยรุกล้ำที่ของโจทก์ จำเลยก็จะรื้อถอนไป และทำที่ดินให้ดีอยู่ในสภาพเดิมโจทก์ก็จะไม่คิดค่าเสียหายใด ๆ และถ้าปรากฏว่าจำเลยไม่ได้รุกล้ำ โจทก์ก็จะขอถอนฟ้องไป และยอมให้ค่าธรรมเนียมเป็นพับไปทั้งสองฝ่ายตามที่ปรากฏในรายงานพิจารณาลงวันที่ 30 สิงหาคม 2499 ต่อมาวันที่ 8 กันยายน 2499 ศาลได้ตรวจสอบรังวัดพร้อมด้วยพนักงานรังวัด (นายประพาฬ) ปรากฏว่ากำแพงได้เหลื่อมล้ำเข้ามาในที่ของโจทก์จริงแต่คู่ความทั้งสองฝ่ายต่างแถลงตามรายงานพิจารณาที่กล่าวนี้ต่อไปอีกว่าควรจะได้ตรวจสอบเขตโฉนดของนายประมาณอดิเรกสาร เพื่อให้ทราบแน่นอนอีกโดยคู่ความจะถือว่าเป็นอันถูกต้องถ้าปรากฏว่ากำแพงของจำเลยรุกล้ำ จำเลยก็จะรื้อถอนไป และโจทก์จะถอนฟ้องโดยตกลงอย่างเดียวกับในครั้งก่อน ต่อมาวันที่ 22 กันยายน 2499 ศาลได้ไปตรวจรังวัดสอบเขตที่ดินพร้อมด้วยนายประพาฬ เจ้าพนักงานรังวัดที่ดินอีก แต่เมื่อไปถึงที่พิพาท ฝ่ายโจทก์ได้ขอให้เริ่มวัดตั้งแต่หลักที่ ย.339170 ซึ่งเป็นหลักมุมสุดของที่ดินนายชาติชายเพราะปรากฏว่าที่ดินของนายประมาณเป็นที่ดินแปลงเดียวกับที่ดินที่กล่าวแล้ว และว่าหลักที่กล่าวนี้จะมีความแน่นอนดีกว่า ฝ่ายจำเลยก็เห็นชอบด้วย จึงได้ลงมือทำการรังวัดต่อไปได้ทำการรังวัดตรวจสอบถึงสองหน ไม่ปรากฏว่ากำแพงของจำเลยรุกล้ำที่ดินของโจทก์ โดยไม่มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดคัดค้านว่าประการใด ซึ่งตามข้อตกลงดังกล่าวมาแล้วจะต้องถือว่า กำแพงของจำเลยมิได้รุกล้ำที่ดินของโจทก์ โดยโจทก์จะต้องถอนฟ้องไปตามข้อที่ได้ตกลงมาแล้วนั้น แต่โจทก์ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง กลับจะขอให้รังวัดที่ใหม่ตามข้อที่โจทก์กล่าวอ้างนั้น ฝ่ายจำเลยคัดค้านว่าโจทก์ไม่มีสิทธิจะขอให้ทำการรังวัดใหม่ ศาลนี้พิจารณาเห็นว่า ตามข้อตกลงที่ได้กล่าวมาแล้วเป็นเรื่องที่ต่างฝ่ายต่างพอใจให้นายประพาฬ พร้อมด้วยศาลไปกระทำการรังวัดเป็นการยอมรับนับถือว่าเป็นผู้มีความสามารถ และจะเป็นผู้ให้ความเป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่าย ศาลและนายประพาฬก็ได้พร้อมกันไปปฏิบัติการตามข้อตกลงนั้นแล้ว ในครั้งสุดท้ายได้ทำการรังวัดถึงสองครั้งสองหนคงได้ผลอย่างเดียวกัน ในขณะทำการรังวัดก็มิได้มีฝ่ายใดคัดค้านว่าการรังวัดมิชอบ จึงถือได้ว่าเป็นการสมบูรณ์ตามข้อตกลงของทั้งสองฝ่ายแล้วฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดแต่ฝ่ายเดียวไม่มีอำนาจที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อที่ได้ตกลงกันไว้แล้วได้อีก ส่วนข้อที่โจทก์ฎีกาอ้างว่า นายเทพ ทนายของโจทก์ไม่มีอำนาจตกลงยินยอมตามข้อความที่ได้กล่าวมาแล้วนั้นความก็ปรากฏชัดแจ้งตามใบแต่งทนายว่า มีอำนาจดังที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้ว จึงพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลทั้งสอง ให้โจทก์ใช้ค่าทนายชั้นฎีกาแทนจำเลยอีก 200 บาท

Share