คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8361/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานวินิจฉัยให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ไม่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 45 และมาตรา 48 โดยฟังข้อเท็จจริงผิดไปจากสำนวน อันเป็นอุทธรณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมาย อุทธรณ์ของจำเลยเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
พระราชกฤษฎีกาการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2540มีบทบัญญัติห้ามฟ้องไว้แต่เฉพาะในมาตรา 26 โดยห้ามมิให้บุคคลใดฟ้องบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการและสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องเป็นคดีล้มละลายในระหว่างดำเนินการตามแผนเพื่อการแก้ไขฟื้นฟูที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน เมื่อปรากฏว่าคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินเห็นว่าจำเลยไม่อาจฟื้นฟูฐานะและไม่อาจดำเนินการต่อไปได้ จึงให้คณะกรรมการเดิมของจำเลยพ้นจากตำแหน่งและแต่งตั้งบุคคลเข้าเป็นคณะกรรมการของจำเลยเพื่อดำเนินการแทนจำเลยโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 30 แสดงว่าจำเลยมิได้อยู่ในระหว่างดำเนินการตามแผนเพื่อการแก้ไขฟื้นฟู และโจทก์มิได้ฟ้องให้จำเลยล้มละลาย โจทก์จึงไม่ต้องห้ามฟ้องคดีตามมาตรา 26 อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติว่าเจ้าหนี้ผู้ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อคณะกรรมการของบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการซึ่งแต่งตั้งโดยคณะกรรมการเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินจะฟ้องบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการไม่ได้ การยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามประกาศคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน เรื่อง การขอรับชำระหนี้สำหรับเจ้าหนี้และการจัดสรรเงินจากการขายทรัพย์สินให้แก่เจ้าหนี้ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7(3) และมาตรา 16(3)แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวก็หาได้กำหนดให้เจ้าหนี้ทุกคนต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้และไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2539 จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างทำหน้าที่แม่บ้าน ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 5,800 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 25 ของเดือนต่อมาวันที่ 29 สิงหาคม 2540 จำเลยมีหนังสือแจ้งเลิกจ้างโจทก์ให้มีผลเป็นการเลิกจ้างในวันที่ 1 กันยายน 2540 โดยโจทก์ไม่มีความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย โจทก์มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเวลา 54 วัน เป็นเงิน 10,440 บาทและมีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน เป็นเงิน17,400 บาท จำเลยไม่ยอมจ่าย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 10,440 บาท และค่าชดเชยจำนวน17,400 บาท แก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้เป็นนายจ้างของโจทก์ จำเลยไม่ได้มีส่วนในการจัดหาหรือทำการตกลงว่าจ้างโจทก์ให้เข้าทำงานในกิจการของจำเลย ไม่มีอำนาจบังคับบัญชาโจทก์ จำเลยไม่ได้เป็นนายจ้างของนางขนิษฐาและมิได้มอบหมายให้โครงการธนาคารเจเนอรัลเอเซียและนางขนิษฐาทำแทนจำเลยในการว่าจ้างโจทก์นอกจากนี้จำเลยอยู่ในฐานะบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการตามพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2540 มาตรา 30หากโจทก์เห็นว่าเป็นเจ้าหนี้จำเลยก็ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้เฉลี่ยกับเจ้าหนี้ทุกราย ซึ่งจำเลยจะได้นำคำขอรับชำระหนี้ของโจทก์เสนอต่อองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินเพื่อพิจารณาต่อไป แต่โจทก์กลับยื่นฟ้องคดีนี้เป็นการกระทำที่หลีกเลี่ยงแนวทางขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินและเป็นการเอาเปรียบเจ้าหนี้รายอื่นของจำเลย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2539 จำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2540โดยโจทก์ไม่มีความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 30 วัน และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเวลา 54 วัน โจทก์ไม่ต้องห้ามฟ้องตามพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2540 พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 5,800 บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า10,000 บาท แก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่จำเลยอุทธรณ์ข้อ 2.1.1ถึงข้อ 2.1.3 ว่า ตามสัญญาจ้างแรงงานเอกสารหมาย ล.7 ที่โจทก์อ้างว่านางขนิษฐา หงสประภาส ลงนามเป็นตัวแทนของจำเลย ข้อเท็จจริงปรากฏว่านางขนิษฐามิได้เป็นกรรมการของจำเลยและมิได้เป็นผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยนางขนิษฐาลงนามในฐานะผู้เริ่มก่อการธนาคารเนเจอรัลเอเซีย จำกัด (มหาชน) จำเลยมิได้มีส่วนในการจัดหาหรือทำการตกลงว่าจ้างโจทก์ให้เข้าทำงานในกิจการของจำเลย ไม่มีอำนาจบังคับบัญชาโจทก์ ผู้บอกเลิกจ้างโจทก์ไม่ใช่ผู้รับมอบอำนาจหรือลูกจ้างของจำเลย นางขนิษฐาไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลย โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานแน่ชัดว่าจำเลยเป็นนายจ้างโจทก์ ส่วนที่จำเลยจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์เป็นการทดรองจ่ายค่าจ้างแทนธนาคารเจเนอรัลเอเซีย จำกัด (มหาชน) จำเลยมิได้เป็นนายจ้างโจทก์นั้น เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า ตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย ล.7 จัดทำขึ้นระหว่างโครงการธนาคารจีเอฟบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ จี เอฟ จำกัด (มหาชน) (จำเลย) กับโจทก์จำเลยรับว่าเป็นผู้จ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในโครงการธนาคารแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยเพื่อทำงานแม่บ้านบริการพนักงานของจำเลยในส่วนที่ทำโครงการธนาคารเจเนอรัลเอเซียของจำเลย อุทธรณ์ทั้งสามข้อดังกล่าวจึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ข้อ 2.2.1 และข้อ 3 ว่า ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ไม่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 45 และมาตรา 48 โดยฟังข้อเท็จจริงผิดไปจากสำนวน เนื่องจากจำเลยเป็นเพียงตัวแทนธนาคารที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ ไม่ใช่นายจ้างโจทก์ ศาลแรงงานกลางพิพากษาคดีโดยไม่คำนึงถึงฐานะแห่งกิจการของจำเลยและธนาคารเจเนอรัลเอเซีย จำกัด (มหาชน)กับสภาพทางเศรษฐกิจสังคมทั่วไปนั้น เห็นว่า อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองข้อดังกล่าวเป็นอุทธรณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับอุทธรณ์ของจำเลยข้อ 2.1.1ถึงข้อ 2.1.3 เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมาย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งห้าข้อเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ที่จำเลยอุทธรณ์ประการสุดท้ายว่า พระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2540 มาตรา 30 บัญญัติให้องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) จัดการชำระบัญชี รวบรวมทรัพย์สินของจำเลยออกประมูลเพื่อแบ่งให้แก่เจ้าหนี้ทุกราย โจทก์ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้เฉลี่ยกับเจ้าหนี้รายอื่น แต่โจทก์ไม่ปฏิบัติตามพระราชกำหนดดังกล่าวโดยใช้สิทธิไม่สุจริตยื่นฟ้องคดีนี้จึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า พระราชกำหนดดังกล่าวมีบทบัญญัติห้ามฟ้องไว้แต่เฉพาะในมาตรา 26 โดยห้ามมิให้บุคคลใดฟ้องบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการและสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องเป็นคดีล้มละลายในระหว่างดำเนินการตามแผนเพื่อการแก้ไขฟื้นฟูที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินปรากฏตามสำเนาคำสั่งคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินที่ 17/2540 เอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 5ของจำเลยว่าคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินเห็นว่าจำเลยไม่อาจฟื้นฟูฐานะและไม่อาจดำเนินการต่อไปได้จึงให้คณะกรรมการเดิมของจำเลยพ้นจากตำแหน่งและแต่งตั้งบุคคลเข้าเป็นคณะกรรมการของจำเลยเพื่อดำเนินการแทนจำเลยโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 30 แสดงว่าจำเลยมิได้อยู่ในระหว่างดำเนินการตามแผนเพื่อการแก้ไขฟื้นฟู และโจทก์มิได้ฟ้องให้จำเลยล้มละลายโจทก์จึงไม่ต้องห้ามฟ้องคดีตามมาตรา 26 อีกทั้งพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2540 และพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 ไม่มีบทบัญญัติว่าเจ้าหนี้ผู้ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อคณะกรรมการของบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการซึ่งแต่งตั้งโดยคณะกรรมการเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินจะฟ้องบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการไม่ได้การยื่นคำขอรับชำระหนี้ปรากฏอยู่ในประกาศคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน เรื่อง การขอรับชำระหนี้สำหรับเจ้าหนี้และการจัดสรรเงินจากการขายทรัพย์สินให้แก่เจ้าหนี้ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7(3) และมาตรา 16(3)แห่งพระราชกำหนดดังกล่าว ได้ระบุไว้ในข้อ 3 ข้อย่อย 3.1 ในการยื่นคำขอรับชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ที่ประสงค์จะขอรับชำระหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้และในข้อ 8 ข้อย่อย 8.3 ระบุว่าคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินจะกันเงินตามสัดส่วนแห่งหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ที่ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ แสดงว่าตามประกาศฉบับนี้ก็หาได้กำหนดให้เจ้าหนี้ทุกคนต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้และไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

พิพากษายืน

Share