คำวินิจฉัยที่ 11/2558

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครอง และเจ้าหน้าที่ของรัฐอ้างว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้ทำการขุดเจาะ ผิวจราจรและตีเส้นวางแนวเขตขุดเจาะทางเท้าและรื้อท่อระบายน้ำเก่ากับทั้งวางท่อระบายน้ำใหม่ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของผู้ฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้การว่ารื้อทางเท้าเพื่อวางระบบระบายน้ำทางเท้าตามแนวทางเท้าและระบบระบายน้ำเดิม ซึ่งทางเท้าดังกล่าวประชาชนใช้สัญจรเป็นทางเท้ามาสิบกว่าปี โดยเจ้าของมิได้หวงกันและยังเปิดหรือยินยอมให้ประชาชนทั่วไปเข้าใช้หรือใช้เป็นทางจราจร กรณีจึงเป็นทางสาธารณะโดยเปิดเผย เห็นว่า เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของผู้ฟ้องคดีที่ใช้สิทธิทางศาล ก็เพื่อให้ศาลรับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างเป็นสำคัญ ดังนั้นการที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินส่วนที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นทางสาธารณะเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๑/๒๕๕๘

วันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๕๘

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองอุบลราชธานี
ระหว่าง
ศาลแขวงอุบลราชธานี

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองอุบลราชธานีโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนี้

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ พันโท กนกศักดิ์ ชุมเสน ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้อง เทศบาลนครอุบลราชธานี ที่ ๑ นายกเทศมนตรีอุบลราชธานี ที่ ๒ นางรจนา กัลป์ตินันท์ ที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองอุบลราชธานี เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๗/๒๕๕๗ ความว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนด เลขที่ ๑๙๑๙๐ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งในขณะนั้นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ดำรงตำแหน่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ อยู่ ขุดเจาะผิวจราจรและตีเส้นวางแนวเขตขุดเจาะทางเท้าและรื้อท่อระบายน้ำเก่ากับทั้งวางท่อระบายน้ำใหม่ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของผู้ฟ้องคดี และเมื่อเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดแนวเขตที่ดิน ปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามขุดเจาะผิวจราจรและตีเส้นวางแนวเขตขุดเจาะทางเท้ากับทั้งรื้อท่อระบายน้ำเก่าและวางท่อระบายน้ำใหม่รุกล้ำเข้ามาในที่ดินของผู้ฟ้องคดี จำนวน ๐.๒ ตารางวา ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย ศาลมีคำสั่งรับคำฟ้องเฉพาะในส่วน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไว้พิจารณา และไม่รับคำฟ้องในส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ ไว้พิจารณา
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้การว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ รื้อทางเท้าเพื่อวางระบบระบายน้ำทางเท้าตามแนวทางเท้าและระบบระบายน้ำเดิมซึ่งทางเท้าดังกล่าวประชาชนใช้สัญจรเป็นทางเท้ามาสิบกว่าปี โดยเจ้าของมิได้หวงกันและยังเปิดหรือยินยอมให้ประชาชนทั่วไปเข้าใช้หรือใช้เป็นทางจราจรโดยมิได้เรียกเก็บค่าทดแทนและไม่สงวนสิทธิในการใช้สอยทางเท้าดังกล่าว กรณีจึงเป็นทางสาธารณะโดยเปิดเผย
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า การที่ศาลจะวินิจฉัยว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่ ศาลจำต้องวินิจฉัยให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินแล้วจึงจะพิจารณาว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่างคู่ความ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองอุบลราชธานีพิจารณาแล้วเห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มีอำนาจหน้าที่จัดทำบริการสาธารณะให้กับประชาชนในเขตพื้นที่รับผิดชอบในการจัดให้มีและบำรุงรักษาทางบก และทางระบายทางน้ำ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ รับผิดชอบการบริหารราชการของเทศบาล ให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ เทศบัญญัติ และนโยบาย แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ คดีนี้มีประเด็นหลักแห่งคดีที่ศาลจะต้องวินิจฉัยว่าการกระทำโดยใช้อำนาจตามกฎหมายของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่ ส่วนประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น เป็นประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลต้องพิจารณาในเนื้อหาของคดี อันเป็นประเด็นย่อยประเด็นหนึ่งในหลายประเด็นปัญหาที่จะต้องพิจารณา การพิจารณาในปัญหาดังกล่าว ก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาว่าคดีอยู่ในอำนาจของศาลใด อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติใดห้ามศาลปกครองมิให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๔ ทรัพย์สิน มาใช้บังคับกับคดีหรือมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกำหนดให้เป็นอำนาจศาลเฉพาะศาลใดศาลหนึ่งเท่านั้น ศาลปกครองจึงมีอำนาจนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้เช่นเดียวกัน นอกจากนั้น มาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินใดๆ คู่กรณีที่เกี่ยวข้องอาจอ้างกับบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกจะมีสิทธิดีกว่า อันเป็นบทบัญญัติยืนยันให้เห็นว่าศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินและนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาวินิจฉัยข้อพิพาทในคดีนี้ได้ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลแขวงอุบลราชธานีพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ กระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี และในการวินิจฉัยว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ กระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาก่อนว่าที่ดินพิพาทตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินแล้วหรือไม่ ซึ่งต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์ บรรพ ๔ และไม่มีบทกฎหมายห้ามศาลปกครองนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ก็ตาม แต่ก็มีคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล วินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานมาโดยตลอดว่า การที่จะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามที่ผู้ฟ้องคดีขอนั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาท เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน เป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินและอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้แม้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จะเป็นหน่วยงานทางปกครองและผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ตาม แต่ตามคำฟ้องผู้ฟ้องคดีอ้างว่า เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๙๑๙๐ ได้ถูกผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ขุดเจาะผิวจราจรและตีเส้นวางแนวเขตขุดเจาะทางเท้าและรื้อท่อระบายน้ำเก่ากับทั้งวางท่อระบายน้ำใหม่ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของผู้ฟ้องคดี จำนวน ๐.๒ ตารางวา ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย ขอให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย โดยศาลมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องในส่วนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ ไว้พิจาณา ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้การว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ รื้อทางเท้าเพื่อวางระบบระบายน้ำทางเท้าตามแนวทางเท้าและระบบระบายน้ำเดิม ซึ่งทางเท้าดังกล่าวประชาชนใช้สัญจรเป็นทางเท้ามาสิบกว่าปี โดยเจ้าของมิได้หวงกันและยังเปิดหรือยินยอมให้ประชาชนทั่วไปเข้าใช้หรือใช้เป็นทางจราจรโดยมิได้เรียกเก็บค่าทดแทนและไม่สงวนสิทธิในการใช้สอยทางเท้าดังกล่าว กรณีจึงเป็นทางสาธารณะโดยเปิดเผย ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของผู้ฟ้องคดีที่ใช้สิทธิทางศาล ก็เพื่อให้ศาลรับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างเป็นสำคัญ ดังนั้นการที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินส่วนที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นทางสาธารณะเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง พันโท กนกศักดิ์ ชุมเสน ผู้ฟ้องคดี เทศบาลนครอุบลราชธานีที่ ๑ นายกเทศมนตรีอุบลราชธานี ที่ ๒ นางรจนา กัลป์ตินันท์ ที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

ลาประชุม (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share