คำวินิจฉัยที่ 15/2558

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่เอกชนยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครองและเอกชนด้วยกันว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดิน น.ส. ๓ ก. ได้ยื่นคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดิน สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดศรีสะเกษคัดค้านว่า ที่ดินของโจทก์อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินซึ่งจำเลยที่ ๑ จัดให้จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ เข้าทำประโยชน์ เจ้าพนักงานที่ดินมีคำสั่งออกโฉนดที่ดินให้โจทก์แล้ว แต่จำเลยที่ ๑ ออก ส.ป.ก. ๔-๐๑ ทับที่ดินของโจทก์เต็มทั้งแปลง เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอน ส.ป.ก. ๔-๐๑ เฉพาะส่วนที่ทับที่ดินของโจทก์ ส่วนจำเลยที่ ๑ ให้การว่า ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน การอนุญาตให้จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ เข้าทำประโยชน์และการออก ส.ป.ก. ๔-๐๑ ชอบด้วยกฎหมายแล้ว จำเลยที่ ๓ ให้การว่า โจทก์ไม่ได้ครอบครองทำประโยชน์เกิน ๕ ปี จึงขาดสิทธิครอบครอง คดีขาดอายุความ เห็นว่า คดีนี้แม้มีประเด็นเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองออก ส.ป.ก. ๔-๐๑ ทับซ้อนกับที่ดินของโจทก์ แต่โจทก์ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอน ส.ป.ก. ๔-๐๑ เฉพาะส่วนที่ทับซ้อนกับที่ดินของโจทก์ เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของโจทก์ในการใช้สิทธิทางศาลก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของโจทก์ การที่ศาลจะพิพากษาหรือมีคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือไม่เป็นสำคัญ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๕/๒๕๕๘

วันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๕๘

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดกันทรลักษ์
ระหว่าง
ศาลปกครองอุบลราชธานี

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดกันทรลักษ์โดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดีและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ นายปรเมษฐ กานตวนิชกูร โจทก์ ยื่นฟ้องสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ ๑ นายประเสริฐ รองทอง ที่ ๒ นางผ่องศรี สุระศร ที่ ๓ นางตุ๋ย ทองยิ้ม ที่ ๔ จำเลย ต่อศาลจังหวัดกันทรลักษ์ เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๔๘/๒๕๕๗ หมายเลขแดงที่ ๒๒๐/๒๕๕๗ ความว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๒๖๙๕ ตำบลกุดเสลา อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๓ โจทก์ยื่นคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดิน ต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดศรีสะเกษ สาขากันทรลักษ์ และช่างรังวัดได้ทำการรังวัดสอบเขตที่ดินให้โจทก์แล้ว ต่อมาสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดศรีสะเกษคัดค้านว่า ที่ดินของโจทก์อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินซึ่งจำเลยที่ ๑ ได้ดำเนินการรังวัดและจัดที่ดินให้จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ เข้าทำประโยชน์แล้ว ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินได้สอบสวนเปรียบเทียบและมีคำสั่งออกโฉนดที่ดินให้โจทก์แล้ว แต่จำเลยที่ ๑ ออกหนังสืออนุญาตให้จำเลยที่ ๒ถึงจำเลยที่ ๔ เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินทับที่ดินของโจทก์เต็มทั้งแปลงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ ๑ เพิกถอน ส.ป.ก. ๔-๐๑ เฉพาะส่วนที่ทับที่ดินของโจทก์แล้ว จำเลยที่ ๑ เพิกเฉย ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอน ส.ป.ก. ๔-๐๑ ของจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ เฉพาะส่วนที่ทับที่ดินของโจทก์
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะเจ้าพนักงานที่ดินมีคำสั่งออกโฉนดที่ดิน ให้โจทก์แล้ว จำเลยที่ ๑ จึงมิได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินและการอนุญาตให้จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินได้ดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบแล้ว โดยที่โจทก์ไม่เคยครอบครองทำประโยชน์และไม่เคยโต้แย้งคัดค้านการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ ในที่ดินพิพาท การออก ส.ป.ก. ๔-๐๑ ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะไม่เคยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินและไม่เคยโต้แย้งคัดค้านการทำประโยชน์ โจทก์ไม่ได้ครอบครองทำประโยชน์เกิน ๕ ปี จึงขาดสิทธิครอบครอง คดีขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ และที่ ๔ ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดกันทรลักษ์พิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้แม้โจทก์กล่าวอ้างว่าได้รับความเสียหาย จากการที่จำเลยที่ ๑ ออก ส.ป.ก. ๔-๐๑ ให้แก่จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ โดยมิชอบด้วยกฎหมาย แต่เมื่อเหตุแห่งการฟ้องคดีสืบเนื่องมาจากการออก ส.ป.ก. ๔-๐๑ ทับที่ดินของโจทก์ อันเป็นกรณีโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ทั้งความมุ่งหมายในการฟ้องคดีก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองและคุ้มครองสิทธิในที่ดินของโจทก์ ประกอบกับจำเลยที่ ๓ ให้การว่า ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินและโจทก์ไม่มีสิทธิครอบครองเพราะไม่เคยเข้าครอบครองทำประโยชน์ ดังนั้น การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทหรือไม่เป็นสำคัญ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองอุบลราชธานีพิจารณาแล้วเห็นว่า ตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดิน เพื่อเกษตรกรรม การออกหนังสืออนุญาตให้เกษตรกรเข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑) เป็นการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ และเมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่าการออกหนังสืออนุญาตดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ทับที่ดินของโจทก์ ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอน ส.ป.ก. ๔-๐๑ กรณีจึงมีประเด็นที่ศาลจะต้องวินิจฉัยว่า ส.ป.ก. ๔-๐๑ ที่ออกให้แก่จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองและจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ซึ่งเป็นเอกชนด้วยกันว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. ได้ยื่นคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดินต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดศรีสะเกษ สาขากันทรลักษ์ และช่างรังวัดได้ทำการรังวัดสอบเขตที่ดินให้โจทก์แล้ว ต่อมาสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดศรีสะเกษ คัดค้านว่า ที่ดินของโจทก์อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินซึ่งจำเลยที่ ๑ ได้ดำเนินการรังวัดและจัดที่ดินให้จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ เข้าทำประโยชน์แล้ว ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินได้สอบสวนเปรียบเทียบและมีคำสั่งออกโฉนดที่ดินให้โจทก์แล้ว แต่จำเลยที่ ๑ ออกหนังสืออนุญาตให้จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินทับที่ดินของโจทก์เต็มทั้งแปลง เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ ๑ เพิกถอน ส.ป.ก. ๔-๐๑ เฉพาะส่วนที่ทับที่ดินของโจทก์แล้ว จำเลยที่ ๑ เพิกเฉย ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอน ส.ป.ก. ๔-๐๑ ของจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ เฉพาะส่วนที่ทับที่ดินของโจทก์ ส่วนจำเลยที่ ๑ ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะเจ้าพนักงานที่ดินมีคำสั่งออกโฉนดที่ดินให้โจทก์แล้ว จำเลยที่ ๑ จึงมิได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน และการอนุญาตให้จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินได้ดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบแล้ว โดยที่โจทก์ไม่เคยครอบครองทำประโยชน์และไม่เคยโต้แย้งคัดค้านการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท การออก ส.ป.ก. ๔-๐๑ ชอบด้วยกฎหมายแล้ว จำเลยที่ ๓ ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะไม่เคยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินและไม่เคยโต้แย้งคัดค้านการทำประโยชน์ โจทก์ไม่ได้ครอบครองทำประโยชน์เกิน ๕ ปี จึงขาดสิทธิครอบครอง คดีขาดอายุความ เห็นว่า คดีนี้แม้มีประเด็นเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองออกหนังสืออนุญาตให้จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑) ทับซ้อนกับที่ดินของโจทก์ แต่โจทก์ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑) ดังกล่าวเฉพาะส่วนที่ทับซ้อนกับที่ดินของโจทก์ เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของโจทก์ในการใช้สิทธิทางศาลก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของโจทก์ การที่ศาลจะพิพากษาหรือมีคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือไม่เป็นสำคัญ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายปรเมษฐ กานตวนิชกูร โจทก์ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ ๑ นายประเสริฐ รองทอง ที่ ๒ นางผ่องศรี สุระศร ที่ ๓ นางตุ๋ย ทองยิ้ม ที่ ๔ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share