แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ร้องบรรยายคำร้องว่าการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นไม่ชอบด้วยกฎหมายและฝ่าฝืนข้อบังคับของผู้คัดค้าน โดยไม่มีการขอเรียกประชุมจากจำนวนผู้ถือหุ้นครบตามข้อบังคับ ไม่มีคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นไม่ว่าโดยลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ หรือส่งหนังสือนัดประชุมไปยังผู้ถือหุ้น ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านเพียงว่า ได้ส่งหนังสือเรียกประชุม และแจ้งทางโทรศัพท์แก่กรรมการทุกคนแล้ว มิได้คัดค้านโดยชัดแจ้งเลยว่าการประชุมดังกล่าวมิใช่การประชุมผู้ถือหุ้นแต่เป็นเพียงการประชุมคณะกรรมการผู้คัดค้าน ซึ่งไม่ต้องดำเนินการส่งคำบอกกล่าวต่อผู้ถือหุ้นตามข้อบังคับของผู้คัดค้าน คดีจึงไม่มีประเด็นว่าการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเป็นการประชุมคณะกรรมการบริษัทผู้คัดค้านหรือไม่
ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องแม้ผู้คัดค้านมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ แต่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผู้คัดค้านจึงยกขึ้นในชั้นฎีกาได้
ป.พ.พ. มาตรา 1195 บัญญัติว่า การประชุมใหญ่นั้นถ้าได้นัดเรียกหรือได้ประชุมกันฝ่าฝืนข้อบังคับของบริษัท เมื่อกรรมการหรือผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดร้องขึ้นแล้ว ให้ศาลเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบนั้นเสีย เมื่อการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นตามฟ้องเป็นการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น การที่ผู้คัดค้านไม่ได้ส่งคำบอกกล่าวเรียกประชุมลงพิมพ์โฆษณาอย่างน้อยสองคราวในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่ หรือส่งหนังสือนัดประชุมไปยังผู้ถือหุ้นทุกคนก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน อันเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับของผู้คัดค้าน ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นและเป็นกรรมการของผู้คัดค้านย่อมมีอำนาจร้องขอให้เพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบนั้นได้
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมวิสามัญครั้งที่ 2/2546 อันผิดระเบียบเสีย
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 2/2546 เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2546 เรื่องขายที่ดินโฉนดเลขที่ 3198 ตำบลทวีวัฒนา อำเภอทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร ให้ผู้คัดค้านใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้ร้องโดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ผู้ร้องไม่แก้อุทธรณ์จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่าคดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านประการแรกว่า คดีมีประเด็นในชั้นอุทธรณ์ว่า การประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 2/2546 เป็นการประชุมคณะกรรมการบริษัทผู้คัดค้านหรือไม่ เห็นว่า ผู้ร้องบรรยายคำร้องว่าการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายและฝ่าฝืนข้อบังคับของผู้คัดค้าน โดยไม่มีการขอเรียกประชุมจากจำนวนผู้ถือหุ้นครบตามข้อบังคับ ไม่มีคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นไม่ว่าโดยลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ หรือส่งหนังสือนัดประชุมไปยังผู้ร้องและผู้ถือหุ้นอีก 2 คน ส่วนผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านเพียงว่า ได้ส่งหนังสือเรียกประชุม และแจ้งทางโทรศัพท์แก่กรรมการทุกคนแล้ว มิได้คัดค้านโดยชัดแจ้งเลยว่าการประชุม มิใช่การประชุมผู้ถือหุ้นแต่เป็นเพียงการประชุมคณะกรรมการผู้คัดค้าน ซึ่งไม่ต้องดำเนินการส่งคำบอกกล่าวต่อผู้ถือหุ้นตามข้อบังคับของผู้คัดค้าน ดังนี้คดีจึงไม่มีประเด็นว่าการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 2/2546 เป็นการประชุมคณะกรรมการบริษัทผู้คัดค้านหรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยปัญหานี้โดยเห็นว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น จึงต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาผู้คัดค้านข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านประการต่อไปว่า ผู้ร้องในฐานะกรรมการและผู้ถือหุ้นผู้คัดค้าน มีอำนาจร้องขอให้ศาลเพิกถอนมติของที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 2/2546 หรือไม่ เห็นว่า ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องแม้ผู้คัดค้านมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ แต่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผู้คัดค้านจึงยกขึ้นในชั้นฎีกาได้ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1195 บัญญัติว่า “การประชุมใหญ่นั้นถ้าได้นัดเรียกหรือได้ประชุมกัน หรือได้ลงมติฝ่าฝืนบทบัญญัติในลักษณะนี้ก็ดี หรือฝ่าฝืนข้อบังคับของบริษัทก็ดี เมื่อกรรมการหรือผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดร้องขึ้นแล้ว ให้ศาลเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบนั้นเสีย แต่ต้องร้องขอภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันลงมตินั้น” เมื่อคดีนี้ได้ความว่า การประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 2/2546 ลงวันที่ 15 กรกฎาคม 2546 ของผู้คัดค้านเป็นการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น การที่ผู้คัดค้านไม่ได้ส่งคำบอกกล่าวเรียกประชุมลงพิมพ์โฆษณาอย่างน้อยสองคราวในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่ หรือส่งหนังสือนัดประชุมไปยังผู้ถือหุ้นทุกคนก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน อันเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับของผู้คัดค้าน ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นและเป็นกรรมการของผู้คัดค้านย่อมมีอำนาจร้องขอให้เพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบนั้นได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ผู้คัดค้านอ้างเป็นเรื่องผู้ถือหุ้นและกรรมการฟ้องเพิกถอนสัญญาซื้อขายและสัญญาจำนองระหว่างบริษัทกับบุคคลภายนอก ข้อเท็จจริงจึงไม่ตรงกับคดีนี้ ฎีกาของผู้คัดค้านข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ