คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 244/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บิดามีเจตนายกเงินให้บุตร ได้ยื่นคำร้องขอเปิดบัญชีกับธนาคารโดยระบุชื่อบุตรและในสมุดคู่ฝากก็ระบุชื่อบุตรเป็นเจ้าของบัญชีเงินฝาก กรรมสิทธิ์ในเงินนั้นย่อมตกเป็นของบุตรทันที่ที่ธนาคารรับเงินเข้าบัญชีเงินฝากของบุตร แม้จะมีข้อตกลงกับธนาคารว่าบิดาเป็นผู้ลงชื่อถอนเงินจากบัญชีเงินฝากได้ก็ตาม
ครั้นเมื่อบิดาตาย ธนาคารย่อมต้องคืนเงินฝากนั้นให้แก่ทายาท เมื่อผู้จัดการมรดกขอถอนเงินฝากดังกล่าว การที่ธนาคารจ่ายเงินคืนให้ จึงเป็นการชอบ
ผู้จัดการมรดกต้องมอบเงินที่ถอนมาให้แก่บุตรผู้เป็นเจ้าของเงิน เพราะเงินนั้นมิใช่มรดก บุตรผู้เป็นเจ้าของเงินย่อมมีสิทธิติดตามและเอาคืนจากผู้จัดการมรดกผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นพี่น้องกัน เป็นบุตรนายเปรื่องนางละม้าย โจทก์เป็นเจ้าของบัญชีเงินฝากธนาคารจำเลยที่ ๑ เมื่อบิดาถึงแก่กรรม จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของบิดาตามคำสั่งศาลได้เบิกเงินตามบัญชีเงินฝากของโจทก์ จึงขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงิน ๘,๙๕๐ บาท กับค่าเสียหายในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในจำนวนเงิน ๘,๐๐๐ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะใช้เงินเสร็จ
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า โจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของบัญชีเงินฝาก ผู้เป็นเจ้าของคือนายเปรื่อง เมื่อผู้จัดการมรดกมาขอถอนเงินฝาก จำเลยโดยสุจริตได้มอบให้ไปโดยถูกต้อง จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ให้การว่า โจทก์เป็นบุตรนางละม้ายอันเกิดกับนายเปรื่อง แต่ไม่ใช่ภรรยาชอบด้วยกฎหมาย การที่นายเปรื่องใช้ชื่อโจทก์ลงในบัญชีเงินฝากหาได้แสดงว่าโจทก์เป็นเจ้าของไม่ การกระทำของจำเลยไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า เงินฝากตามบัญชีเงินเป็นเงินของโจทก์ จึงไม่ใช่ทรัพย์มรดกจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ไม่มีสิทธิเบิกเงินนั้นมาแบ่งให้แก่ทายาท และจำเลยที่ ๑ ไม่มีอำนาจอนุมัติให้ถอนเงินฝากได้ พิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้เงินจำนวน ๘,๙๕๐ บาท แก่โจทก์ทั้งสอง พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในเงินต้น ๘,๐๐๐ บาท จนกว่าจะชำระเงินให้เสร็จ
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นสั่งรับแต่อุทธรณ์ของจำเลยที่ ๑
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้เป็นคดีที่อุทธรณ์ได้แต่เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมาย จึงต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยมาว่า นายเปรื่องได้ไปเปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคารจำเลยที่ ๑ รวม ๒ บัญชี โดยระบุชื่อโจทก์ทั้งสองตามคำร้องขอเปิดบัญชีและในสมุดคู่ฝาก ทั้งนี้โดยนายเปรื่องมีเจตนายกเงินที่นำเข้าฝากในบัญชีให้แก่โจทก์ เห็นว่า การที่นายเปรื่องมีเจตนายกเงินให้โจทก์ทั้งสอง ได้ยื่นคำร้องขอเปิดบัญชีกับธนาคารจำเลยที่ ๑ โดยระบุชื่อโจทก์ทั้งสองคนละบัญชี และในสมุดคู่ฝากก็ระบุชื่อโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของบัญชีเงินฝากคนละเล่ม เช่นนี้ กรรมสิทธิ์ในเงินดังกล่าวย่อมตกเป็นของโจทก์แต่ละคนในทันทีที่ธนาคารจำเลยที่ ๑ รับเงินเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์ ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๘๒๘/๒๔๘๓ แม้จะมีข้อตกลงระหว่างนายเปรื่องกับธนาคารว่านายเปรื่อง เป็นผู้ลงชื่อถอนเงินจากบัญชีทั้งสองนี้ได้ แต่เมื่อใดที่นายเปรื่องใช้สิทธิตามข้อตกลงนี้ถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ก็มีหน้าที่เกิดขึ้นแก่นายเปรื่องในอันที่จะต้องมอบเงินที่ถอนมานั้นแก่โจทก์ผู้เป็นเจ้าของด้วย ครั้นเมื่อนายเปรื่องผู้ฝากเงินถึงแก่กรรม การที่จะคืนเงินฝากในบัญชีให้แก่ผู้ใดนั้น ธนาคารจำเลยที่ ๑ ย่อมต้องคืนแก่ทายาทของผู้ฝากตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๖๕ วรรคสอง เมื่อจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งศาลได้มีคำสั่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของนายเปรื่องขอถอนเงินฝากจากบัญชีของโจทก์ทั้งสอง การที่ธนาคารจำเลยที่ ๑ จ่ายเงินคืนให้ จึงเป็นการชอบ แต่เมื่อจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ถอนเงินฝากมาแล้ว ก็มีหน้าที่เช่นเดียวกับนายเปรื่อง คือต้องมอบให้แก่โจทก์ทั้งสองเพราะเงินนั้นมิได้ตกเป็นทรัพย์มรดกของนายเปรื่อง แต่เป็นของโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองผู้เป็นเจ้าของเงินย่อมมีสิทธิติดตามและเอาคืนจากจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จึงต้องคืนเงินให้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย ส่วนธนาคารจำเลยที่ ๑ เมื่อไม่ปรากฏว่าได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อทำโดยผิดกฎหมายให้โจทก์เสียหายอย่างใด จึงไม่ต้องร่วมรับผิดด้วย
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๑ เสีย นอกจากที่แก้นี้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมของจำเลยที่ ๑ ทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share