แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
กรมทางหลวงโจทก์เป็นกรมในรัฐบาล มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 75 ผู้แทนของโจทก์คืออธิบดีรถยนต์ของโจทก์ถูกรถยนต์จำเลยชนเสียหายการที่ ป. ข้าราชการในกรมโจทก์และเป็นผู้รับผิดชอบรถของโจทก์คันที่ถูกชนไปบันทึกตกลงกับจำเลยให้ซ่อมรถให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยตามกำหนดเวลาและไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายนั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้แต่งตั้ง ป. ให้เป็นตัวแทน บันทึกดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่าเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความที่มีผลผูกพันโจทก์โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยในมูลละเมิดได้
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาใหม่ จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีมีปัญหาในชั้นนี้ตามข้อฎีกาของจำเลยที่ 1แต่เพียงว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยให้รับผิดในมูลละเมิดหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำฟ้องโจทก์และคำให้การที่จำเลยที่ 1 มิได้ปฏิเสธว่าโจทก์เป็นกรมในรัฐบาลสังกัดกระทรวงคมนาคม และเป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกหมายเลข22-0924-64 ซึ่งโจทก์ใช้รถคันดังกล่าวในหน่วยงานของโจทก์ที่แขวงการทางสระบุรี จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน นม.16911 และเป็นนายจ้างจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2522 จำเลยที่ 2 ได้ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน นม.16911 ชนรถยนต์บรรทุกของโจทก์คันดังกล่าวได้รับความเสียหายหลังเกิดเหตุแล้วนายประมวล สุวรรณา ซึ่งรับราชการตำแหน่งหมวดการทางบัวชมและเป็นผู้รับผิดชอบรถยนต์บรรทุกของโจทก์ที่ถูกชน กับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน นม.16911ที่ชนได้ไปตกลงเรื่องค่าซ่อมรถยนต์บรรทุกของโจทก์ที่สถานีตำรวจทางหลวง 2 กองกำกับการ 1 ว่า จำเลยนัดรับจะซ่อมรถยนต์บรรทุกของโจทก์ที่ถูกชนให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยและใช้การได้ดีเหมือนเดิมโดยจะทำการซ่อมให้เสร็จภายในกำหนด นายประมวลพอใจตามที่จำเลยที่ 1 เสนอและไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายในทางคดีแพ่งเอากับผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถดังกล่าวหรือกับผู้เกี่ยวข้องเรื่องนี้อีกแต่อย่างใดทั้งสิ้น พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจทางหลวง 2 ได้บันทึกข้อตกลงดังกล่าวไว้ในรายงานประจำวันของสถานี และให้โจทก์นายประมวลกับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เซ็นชื่อไว้ด้วย ปรากฏรายละเอียดตามบันทึกประจำวัน เอกสารท้ายฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์เป็นทบวงการเมืองโดยเป็นกรมในรัฐบาลจึงมีฐานะเป็นนิติบุคคล ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 75 ได้บัญญัติว่า “อันความประสงค์ของนิติบุคคลนั้น ย่อมแสดงปรากฏจากผู้แทนทั้งหลายของนิติบุคคลนั้น” ซึ่งได้แก่อธิบดีกรมทางหลวง ตามคำฟ้องโจทก์ก็ดี คำให้การของจำเลยที่ 1 ก็ดี ไม่ปรากฏว่าในกรณีนายประมวลตกลงเรื่องการซ่อมรถยนต์ดังกล่าวกับจำเลยที่ 1 นั้น โจทก์ได้มีหนังสือแต่งตั้งให้นายประมวลเป็นผู้แทนของโจทก์ให้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้ ฉะนั้นบันทึกประจำวันฉบับดังกล่าวในชั้นนี้จึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความที่มีผลผูกพันโจทก์ เป็นเรื่องที่จะต้องฟังข้อเท็จจริงให้สิ้นกระแสความต่อไป เมื่อจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยในมูลละเมิดได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่นั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งในชั้นพิจารณาคดีใหม่”