คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8348/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 83 ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 17 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 กึ่งหนึ่ง จำคุก 8 ปี อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 104 (2) เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปฝึกอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จังหวัดสงขลา มีกำหนดจนกว่าจำเลยจะมีอายุครบ 24 ปีบริบูรณ์ จึงเป็นกรณีศาลชั้นต้นใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแทนการลงโทษทางอาญาแก่จำเลย ถือได้ว่าศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยเกิน 5 ปี เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน คู่ความจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 124 และมาตรา 6 ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยมิได้ร่วมไล่แทงผู้ตายก็ดี คำเบิกความของพยานโจทก์ไม่น่าเชื่อถือก็ดี กรณีมีเหตุลงโทษสถานเบา ลดโทษ รอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษก็ดี เป็นการฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานและดุลพินิจในการลงโทษซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามมิให้ฎีกา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2545 เวลากลางวัน จำเลยกับนายซัมซูดิง อาแว ร่วมกันชกต่อยและใช้มีดขนาดกว้างประมาณ 3 นิ้ว ยาวประมาณ 1 ฟุตครึ่ง 1 เล่ม แทงนายวีรชัยหรือตั้น บุญมี ผู้ตาย ถูกที่บริเวณใต้ราวนมซ้ายทะลุปอดอันเป็นอวัยวะสำคัญของผู้ตายโดยมีเจตนาฆ่า เป็นเหตุให้ผู้ตายได้รับอันตรายสาหัสและถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 83 และกำหนดโทษของจำเลยในคดีหมายเลขแดงที่ 168/2544 ของศาลชั้นต้น แล้วนำมาบวกเข้ากับโทษของจำเลยในคดีนี้ และบวกโทษจำคุกของจำเลยในคดีหมายเลขแดงที่ 45/2545 ของศาลชั้นต้น เข้ากับโทษของจำเลยในคดีนี้ด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่ขอให้บวกโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 83 เมื่อคำนึงถึงอายุ ประวัติความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ นิสัย อาชีพ สิ่งแวดล้อม ทั้งสภาพของความผิดประกอบรายงานแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดปัตตานีแล้ว ปรากฏว่าขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 17 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 กึ่งหนึ่ง จำคุก 8 ปี แต่เนื่องจากจำเลยกระทำความผิดด้วยความคึกคะนองเพราะความเยาว์วัย หากได้รับการอบรมขัดเกลานิสัยและความประพฤติน่าจะเป็นผลดีแก่จำเลยยิ่งกว่าให้รับโทษจำคุก ดังนั้นเพื่อสวัสดิภาพและอนาคตจำเลย และเพื่อให้จำเลยได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนหรือฝึกหัดอาชีพเป็นประโยชน์แก่ตัวจำเลยต่อไป อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 104 (2) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปฝึกอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดสงขลา มีกำหนดจนกว่าจำเลยจะมีอายุครบ 24 ปีบริบูรณ์ คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 83 ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 17 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 กึ่งหนึ่ง จำคุก 8 ปี อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 104 (2) เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปฝึกอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดสงขลา มีกำหนดจนกว่าจำเลยจะมีอายุครบ 24 ปีบริบูรณ์ จึงเป็นกรณีศาลชั้นต้นใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแทนการลงโทษทางอาญาแก่จำเลย ถือได้ว่าศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยเกิน 5 ปี เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 9 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน คู่ความจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 124 และมาตรา 6 ที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยมิได้ร่วมไล่แทงผู้ตายก็ดี คำเบิกความของพยานโจทก์ไม่น่าเชื่อถือก็ดี กรณีมีเหตุลงโทษสถานเบา ลดโทษ รอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษก็ดี เป็นการฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานและดุลพินิจในการลงโทษซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ฎีกาของจำเลยจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกฎีกาของจำเลย

Share