คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8308/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ในครั้งแรกที่มีการรังวัดการเวนคืนที่ดินและคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้ตารางละ 35,000 บาท โจทก์พอใจและไม่ได้อุทธรณ์ภายในกำหนด ทำให้โจทก์หมดสิทธิที่จะฟ้องคดีต่อศาล ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงแบบก่อสร้างทำให้ต้องเวนคืนเนื้อที่ดินเพิ่มขึ้น เมื่อโจทก์เห็นว่าเงินค่าทดแทนที่ดินในเนื้อที่ที่ต้องเวนคืนเพิ่มขึ้นใหม่นี้ไม่เป็นธรรม โจทก์ก็สามารถใช้สิทธิอุทธรณ์ขอเงินค่าทดแทนที่ดินในส่วนนี้เพิ่มต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ภายในกำหนดเวลาตามกฎหมาย แต่โจทก์จะอ้างความเสียหายจากเนื้อที่ที่ต้องเวนคืนเพิ่มขึ้นใหม่มาเป็นเหตุอุทธรณ์เงินค่าทดแทนที่ดินจากการเวนคืนโดยการดำเนินการของจำเลยในครั้งแรกที่โจทก์พอใจไปแล้วด้วยไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 193,283,750 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 140,570,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มอีกโจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากจำเลยที่ 2 ให้รับเงินค่าทดแทน จึงไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 14,700,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน แต่ไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้ 50,000 บาท คำขอนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 12,534,000 บาท แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ทั้งสองฝ่ายให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังยุติโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 82357 เนื้อที่ 14 ไร่ ถูกเวนคืนอันเนื่องมาจากการดำเนินการของจำเลยตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตจอมทอง เขตภาษีเจริญ เขตบางขุนเทียน และเขตหนองแขม กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2537 ครั้งแรกเนื้อที่ 2 ไร่ 2 งาน 83 ตารางวา คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ตารางวาละ 35,000 บาท เป็นเงิน 37,905,000 บาท และเงินค่าทดแทนไม้ยืนต้น 54 รายการ เป็นเงิน 306,910 บาท รวมเป็นเงินค่าทดแทนทั้งสิ้น 38,211,910 บาท โจทก์ตกลงทำหนังสือสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กับจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2539 สัญญาดังกล่าวระบุจะแบ่งจ่ายเงินเป็น 2 งวดแรกจ่ายร้อยละ 75 เป็นเงิน 28,428,750 บาท งวดที่สองร้อยละ 25 เป็นเงิน 9,476,250 บาท ตามสัญญาซื้อขาย โจทก์รับเงินทั้งสองงวดไปแล้ว โดยไม่ติดใจอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีฯ ต่อมาภายในอายุพระราชกฤษฎีกาฯ มีการเปลี่ยนแปลงแบบก่อสร้างจึงทำให้ที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนเพิ่มขึ้นอีกเนื้อที่ 2 ไร่ 1 งาน 79 ตารางวา จำเลยที่ 1 จึงมีหนังสือลงวันที่ 6 กรกฎาคม 2541 แจ้งโจทก์ให้ไปรับเงินค่าทดแทนที่ดินตารางวาละ 35,000 บาท เป็นเงิน 34,265,000 บาท โจทก์อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2541 ขอเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืน รวมเนื้อที่ 5 ไร่ 62 ตารางวา เป็นตารางวาละ 50,000 บาท และขอเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนเนื้อที่ 8 ไร่ 3 งาน 38 ตารางวา ซึ่งอ้างว่ามีราคาลดลงตารางวาละ 30,000 บาท รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยไม่ได้วินิจฉัยภายใน 60 วัน โจทก์จึงฟ้องคดีต่อศาล ขอเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนในอัตราตารางวาละ 50,000 บาท ที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนโดยอ้างว่าราคาลดลงตารางวาละ 30,000 บาท และเงินที่โจทก์จ่ายให้แก่ผู้เช่าที่ดินตอบแทนการยกเลิกสัญญาเช่าเป็นเงิน 3,500,000 บาท ศาลชั้นต้นเพิ่มเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์สำหรับที่ดินที่ถูกเวนคืน เนื้อที่ 5 ไร่ 62 ตารางวา เป็นตารางวาละ 37,000 บาท และที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนเนื้อที่ 8 ไร่ 3 งาน 38 ตารางวา ซึ่งราคาลดลงตารางวาละ 2,000 บาท และกำหนดเงินค่าทดแทนที่โจทก์ชำระแก่ผู้เช่าที่ดินเพื่อยกเลิกสัญญาเช่า 3,500,000 บาท โจทก์อุทธรณ์ขอเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนในอัตราตารางวาละ 50,000 บาท และขอเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนซึ่งราคาลดลงตารางวาละ 30,000 บาท จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากโจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีฯ เกิน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งให้ไปรับเงินค่าทดแทน อีกทั้งเงินค่าทดแทนที่ดินที่กำหนดให้ตารางวาละ 35,000 บาท ถูกต้องและเป็นธรรมแล้ว ส่วนเงินจำนวน 3,500,000 บาท ที่จ่ายให้แก่ผู้เช่าที่ดินโจทก์ไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ขอต่อรัฐมนตรีฯ จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินจำนวนนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ที่ดินที่โจทก์ถูกเวนคืนโดยการดำเนินการของจำเลยครั้งแรกเนื้อที่ 2 ไร่ 2 งาน 83 ตารางวา โจทก์ไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีฯ ภายใน 60 วัน จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนที่ดินส่วนนี้เพิ่มส่วนที่โจทก์ถูกเวนคืนโดยการดำเนินการของฝ่ายจำเลยในครั้งหลังเนื้อที่ 2 ไร่ 1 งาน 79 ตารางวา โจทก์อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีฯ ภายใน 60 วัน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องและเห็นด้วยกับศาลชั้นต้นที่กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนโดยการดำเนินการของจำเลยในครั้งหลังเพิ่มอีกตารางวาละ 2,000 บาท กำหนดเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนซึ่งราคาลดลงตารางวาละ 2,000 บาท กับกำหนดเงินค่าตอบแทนที่โจทก์ชดใช้ให้แก่ผู้เช่าที่ดินเพื่อยกเลิกสัญญาเช่า
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยข้อแรกตามที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนโดยการดำเนินการของจำเลยในครั้งแรกเนื้อที่ 2 ไร่ 2 งาน 83 ตารางวาเพิ่มขึ้นหรือไม่ เห็นว่าในครั้งแรกที่มีการรังวัดการเวนคืนที่ดินเนื้อที่ 2 ไร่ 2 งาน 83 ตารางวา และคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้ตารางวาละ 35,000 บาท โจทก์พอใจและไม่ได้อุทธรณ์ภายในกำหนด ทำให้โจทก์หมดสิทธิที่จะฟ้องคดีต่อศาล ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องเพราะการที่จำเลยที่ 1 เปลี่ยนแปลงแบบก่อสร้างทำให้ที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนเพิ่มขึ้นอีกเนื้อที่ 2 ไร่ 1 งาน 79 ตารางวา ซึ่งการเวนคืนโดยการดำเนินการของจำเลยในครั้งหลังนี้มีผลเปลี่ยนแปลงขนาด ที่ตั้งและรูปแปลงที่ดินของโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหายมากนั้น เห็นว่า ต่อมาแม้มีการเปลี่ยนแปลงแบบก่อสร้างทำให้ต้องเวนคืนเพิ่มขึ้นใหม่นี้ไม่เป็นธรรม โจทก์ก็สามารถใช้สิทธิอุทธรณ์ขอเงินค่าทดแทนที่ดินในส่วนนี้เพิ่มต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ภายในกำหนดเวลาตามกฎหมาย แต่โจทก์จะอ้างความเสียหายจากเนื้อที่ที่ต้องเวนคืนเพิ่มขึ้นใหม่มาเป็นเหตุอุทธรณ์เงินค่าทดแทนที่ดินจากการเวนคืนโดยการดำเนินการของจำเลยในครั้งแรกที่โจทก์พอใจไปแล้วด้วยไม่ได้ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองชำระเงินค่าทดแทนที่ดินแก่โจทก์เพิ่มอีก 4,895,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน แต่ไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share