แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าเช่าบ้านของข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2528 ข้อ 4 คำว่า “ท้องที่” จำกัดเฉพาะอำเภอ กิ่งอำเภอหรือท้องที่ของอำเภอและหรือกิ่งอำเภอที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดให้เป็นท้องที่เดียวกันเท่านั้น ไม่รวมถึงจังหวัดเดียวกัน การย้ายไปประจำสำนักงานต่างสำนักงาน แม้อยู่ในจังหวัดเดียวกัน ก็มิใช่ท้องที่เดียวกัน
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2539 จำเลยย้ายมารับราชการที่องค์การบริหารส่วนตำบลธนูโจทก์ที่ 2 โดยปี 2537 จำเลยเช่าซื้อห้องชุดอาคารราชธานีแมนชั่น เลขที่ 113/149 และเบิกค่าเช่าบ้านเดือนละ 1,950 บาท นอกจากนั้นจำเลยยังเช่าที่ดินวัดโพธิ์ (ร้าง) จากกรมการศาสนาปลูกสร้างบ้านเลขที่ ธ. 19/3 และวันที่ 18 สิงหาคม 2539 จำเลยจดทะเบียนสมรสกับนางสาวจารุวรรณ ซึ่งเป็นเจ้าบ้านในสำเนาทะเบียนบ้านเลขที่ ธ. 19/3 วันที่ 16 พฤศจิกายน 2541 จำเลยย้ายมารับราชการที่โจทก์ที่ 1 จึงไม่มีสิทธิเบิกค่าเช่าบ้านจากโจทก์ที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2539 ถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2541 รวมเป็นเงิน 47,775 บาท และไม่มีสิทธิเบิกค่าเช่าบ้านจากโจทก์ที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2541 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2542 รวมเป็นเงิน 18,525 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 66,300 บาท คิดดอกเบี้ยเท่ากับดอกเบี้ยเงินฝากประจำธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 4,216.93 บาท รวมเป็นต้นเงินและดอกเบี้ย 70,516.93 บาท จำเลยถูกลงโทษไล่ออกจากราชการปี 2544 เพราะเบิกค่าเช่าบ้านเท็จ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 70,516.93 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 66,300 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การว่า เดือนพฤศจิกายน 2539 จำเลยเข้าอยู่อาศัยในบ้านเลขที่ ธ.19/3 ซึ่งอยู่ในท้องที่อำเภอพระนครศรีอยุธยา แต่โจทก์ที่ 2 อยู่ในท้องที่อำเภออุทัย และโจทก์ที่ 1 อยู่ในท้องที่อำเภอบางปะอิน ซึ่งเป็นคนละท้องที่กัน จำเลยมีสิทธิเบิกค่าเช่าบ้านตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าเช่าบ้านของข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2528 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 70,516.93 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 66,300 บาท นับถัดจากวันฟ้อง เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จกับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ให้โจทก์ทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความรวม 4,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยสมรสกับนางสาวจารุวรรณ ที่บ้านเลขที่ ธ. 19/3 และพักอาศัยอยู่ที่บ้านดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคม 2539 เป็นต้นมา ซึ่งขณะนั้นจำเลยยังรับราชการอยู่ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ถือได้ว่าจำเลยมีบ้านของตนเองหรือของภริยาที่พออาศัยอยู่ร่วมกันได้ในท้องที่ที่ไปประจำแห่งใหม่คืออำเภอพระนครศรีอยุธยาต้องด้วยข้อยกเว้นข้อ 6 (2) ของระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าเช่าบ้านของข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2528 สิทธิการเบิกค่าเช่าบ้านของจำเลยจึงระงับไปตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคม 2539 แล้วนั้น เป็นการโต้เถียงดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่ฟังว่า จำเลยเข้าอยู่อาศัยในบ้านเลขที่ ธ. 19/3 ของตนเองเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2539 จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คงมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การเบิกค่าเช่าบ้านของจำเลยชอบด้วยระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าเช่าบ้านของข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2528 หรือไม่ ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนโดยศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่นรับราชการครั้งแรกประจำองค์กรบริหารส่วนจังหวัดอำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยาไม่มีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านวันที่ 1 มีนาคม 2534 จำเลยได้รับคำสั่งให้เดินทางไปประจำองค์การบริหารส่วนจังหวัด อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้าน วันที่ 15 มีนาคม 2537 จำเลยเช่าซื้อห้องชุดอาคารราชธานีแมนชั่น เลขที่ 113/149 ซึ่งอยู่ในท้องที่อำเภอพระนครศรีอยุธยาและเบิกค่าเช่าบ้าน ต่อมาวันที่ 16 กันยายน 2539 จำเลยได้รับคำสั่งให้เดินทางไปประจำสำนักงานโจทก์ที่ 2 ในท้องที่อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และเดือนพฤศจิกายน 2539 จำเลยเข้าอยู่อาศัยในบ้านเลขที่ ธ. 19/3 ของตนเอง ซึ่งอยู่ในท้องที่อำเภอพระนครศรีอยุธยา ต่อมาวันที่ 16 พฤศจิกายน 2541 จำเลยได้รับคำสั่งให้เดินทางไปประจำสำนักงานโจทก์ที่ 1 ในท้องที่อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำเลยเบิกค่าเช่าบ้านระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2539 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2542 เห็นว่า ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าเช่าบ้านของข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2528 ข้อ 4 ในระเบียบนี้ “ท้องที่” หมายความว่า อำเภอ กิ่งอำเภอ หรือท้องที่ของอำเภอ และหรือกิ่งอำเภอที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดให้เป็นท้องที่เดียวกัน
ข้อ 6 ภายใต้บังคับข้อ 14 และข้อ 15 ข้าราชการส่วนท้องถิ่นผู้ใดได้รับคำสั่งให้เดินทางไปประจำสำนักงานในต่างท้องที่ มีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านเท่าที่ต้องจ่ายจริงตามที่สมควรแก่สภาพแห่งบ้าน แต่อย่างสูงไม่เกินจำนวนเงินที่กำหนดไว้ตามบัญชีอัตราค่าเช่าบ้านท้ายระเบียบนี้ ทั้งนี้ เว้นแต่ผู้นั้น…(2) มีเคหสถานของตนเองหรือของสามีหรือภริยาที่พออาศัยอยู่ร่วมกันได้ในท้องที่ที่ไปประจำใหม่ ฯลฯ
ข้อ 14 กรณีที่ข้าราชการส่วนท้องถิ่นซึ่งมีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านตามระเบียบนี้ได้เช่าซื้อบ้านหรือผ่อนชำระเงินกู้เพื่อชำระราคาบ้านค้างชำระอยู่ในท้องที่ที่ไปประจำสำนักงานใหม่เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยหรือได้อาศัยอยู่จริงในบ้านนั้น ให้ข้าราชการส่วนท้องถิ่นผู้นั้นมีสิทธินำหลักฐานการชำระค่าเช่าซื้อหรือผ่อนชำระเงินกู้ดังกล่าวมาเบิกค่าเช่าบ้านได้ไม่เกินจำนวนเงินที่กำหนดไว้ตามบัญชีอัตราค่าเช่าบ้านท้ายระเบียบนี้ตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้ (1) ตนเอง และสามีหรือภริยาได้ทำการผ่อนชำระค่าเช่าซื้อหรือผ่อนชำระเงินกู้ เพื่อชำระราคาบ้านอยู่เพียงหลังเดียวในท้องที่นั้น ฯลฯ
ข้อ 15 ในกรณีที่ข้าราชการส่วนท้องถิ่นซึ่งใช้สิทธินำหลักฐานการชำระค่าเช่าซื้อหรือค่าผ่อนชำระเงินกู้มาเบิกค่าเช่าบ้านตามข้อ 14 และต่อมาได้รับแต่งตั้งให้ไปรับราชการในท้องที่อื่นซึ่งตนมีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านตามระเบียบนี้ ให้ข้าราชการส่วนท้องถิ่นผู้นั้นมีสิทธินำหลักฐานการชำระค่าเช่าซื้อหรือค่าผ่อนชำระเงินกู้ในท้องที่เดิมมาเบิกค่าเช่าบ้านในท้องที่ใหม่ได้ ตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด
ตามระเบียบดังกล่าวแสดงว่า คำว่า “ท้องที่” จำกัดเฉพาะอำเภอ กิ่งอำเภอหรือท้องที่ของอำเภอและหรือกิ่งอำเภอที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดให้เป็นท้องที่เดียวกันเท่านั้น ไม่รวมถึงจังหวัดดังที่โจทก์ฎีกา หากข้าราชการส่วนท้องถิ่นซึ่งมีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านตามระเบียบนี้ได้เช่าซื้อบ้านในท้องที่ที่ไปประจำสำนักงานใหม่เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยหรือได้อาศัยอยู่จริงในบ้านนั้น มีสิทธินำหลักฐานการชำระค่าเช่าซื้อมาเบิกค่าเช่าบ้านได้หากตนเองได้ทำการผ่อนชำระค่าเช่าซื้อบ้านอยู่เพียงหลังเดียวในท้องที่นั้น และต่อมาหากได้รับแต่งตั้งให้รับราชการในท้องที่อื่นซึ่งตนมีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้าน ก็ยังนำหลักฐานการชำระค่าเช่าซื้อในท้องที่เดิมมาเบิกค่าเช่าบ้านในท้องที่ใหม่ได้เช่นกัน การที่จำเลยย้ายจากอำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยาซึ่งเป็นที่เริ่มรับราชการครั้งแรกไปประจำองค์การบริหารส่วนจังหวัด อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2534 นั้น เป็นการย้ายไปประจำสำนักงานในต่างท้องที่จำเลยจึงมีสิทธิเบิกค่าเช่าบ้านตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยฯ ข้อ 6 ต่อมาวันที่ 15 มีนาคม 2537 จำเลยเช่าซื้อห้องชุดอาคารราชธานีแมนชั่น เลขที่ 113/149 ในท้องที่อำเภอพระนครศรีอยุธยา และนำหลักฐานการชำระค่าเช่าซื้อห้องชุดดังกล่าวมาเบิกค่าเช่าบ้านตั้งแต่เดือนกันยายน 2537 เป็นต้นมา ก็เป็นการใช้สิทธิเบิกค่าเช่าบ้านตามความในข้อ 14 ของระเบียบดังกล่าว ต่อมาจำเลยได้รับคำสั่งให้เดินทางไปประจำสำนักงานโจทก์ที่ 2 ในท้องที่อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2539 ถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2541 และวันที่ 16 พฤศจิกายน 2541 จำเลยได้รับคำสั่งให้เดินทางไปประจำสำนักงานโจทก์ที่ 1 ในท้องที่อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก็ใช้สิทธิเบิกค่าเช่าบ้านได้ตามความในข้อ 15 ของระเบียบดังกล่าว แม้จำเลยจะเข้าอยู่อาศัยในบ้านเลขที่ ธ. 19/3 ของตนเองเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2539 ก็ตาม ก็หามีผลกระทบต่อสิทธิในการเบิกค่าเช่าบ้านของจำเลยดังกล่าวมาข้างต้นแต่อย่างใดไม่ เพราะจำเลยได้รับคำสั่งให้เดินทางไปประจำสำนักงานโจทก์ที่ 2 ในท้องที่อำเภออุทัยซึ่งเป็นคนละท้องที่กับบ้านเลขที่ ธ. 19/3 ตั้งอยู่ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2539 ก่อนแล้ว กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยมีเคหสถานของตนเองหรือของสามีหรือภริยาที่พออาศัยอยู่ร่วมกันได้ในท้องที่ที่ไปประจำใหม่ตามความในข้อ 6 (2) ของระเบียบดังกล่าว และในทำนองเดียวกัน การที่จำเลยย้ายจากอำเภออุทัยไปประจำสำนักงานโจทก์ที่ 1 ในท้องที่อำเภอบางปะอินตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2541 ซึ่งก็เป็นคนละท้องที่กับบ้านเลขที่ ธ. 19/3 ตั้งอยู่ กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยมีเคหสถานของตนเองหรือของสามีหรือภริยาที่พออาศัยอยู่ร่วมกันได้ในท้องที่ที่ไปประจำใหม่ตามความในข้อ 6 (2) ของระเบียบดังกล่าวเช่นกัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า การเบิกค่าเช่าบ้านของจำเลยชอบด้วยระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าเช่าบ้านของข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2528 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้โจทก์ทั้งสองใช้ค่าทนายความทั้งสองศาลแทนจำเลยรวม 4,000 บาทนั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะจำเลยว่าความเองในศาลชั้นต้นจึงไม่มีเหตุที่จะกำหนดค่าทนายความให้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดค่าทนายความให้โจทก์ทั้งสองใช้แทนจำเลยในศาลชั้นต้นด้วยจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาแก้ไขให้ถูกต้องได้”
พิพากษาแก้เป็นว่า กำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 2,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ