คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 53/2552

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คำฟ้องของโจทก์เป็นคำฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพของข้อหาของโจทก์ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา โจทก์ยังส่งสำเนาใบทำงาน/ใบแจ้งหนี้ซึ่งคำนวณถึงรายละเอียดเกี่ยวกับค่าจ้างแนบมาท้ายฟ้องด้วย จึงเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ส่วนจำเลยค้างชำระค่าจ้างโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ เป็นเรื่องที่คู่ความจะต้องนำพยานเข้าสืบพิสูจน์ในชั้นพิจารณา
โจทก์ยื่นคำฟ้องพร้อมแนบสำเนาสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยมาด้วย จำเลยได้รับสำเนาสัญญาดังกล่าวแล้วมิได้ให้การโต้แย้งว่าไม่ถูกต้อง จึงต้องรับฟังว่าสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยดังกล่าวเป็นสัญญาที่ถูกต้อง ศาลไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยอีกว่าต้นฉบับสัญญาจ้างทำของได้มีการติดอากรแสตมป์หรือไม่
โจทก์ยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม โดยอ้างว่าฝ่ายบัญชีของโจทก์เพิ่งค้นพบเอกสารที่ยื่นเป็นพยานต่อศาลและเป็นเอกสารสำคัญที่เกี่ยวข้องในคดี เป็นกรณีที่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 วรรคสาม เมื่อเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารเกี่ยวกับประเด็นของคดีซึ่งทำให้การวินิจฉัยชี้ขาดข้อสำคัญเป็นไปโดยเที่ยงธรรมจึงชอบที่จะอนุญาตให้ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมได้
ตามสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยกำหนดให้โจทก์นำพนักงานรักษาความปลอดภัยมาดูแลความปลอดภัยในช่วงเวลาตามที่ตกลงไว้ในสัญญา หากนอกเหนือจากสัญญาจำเลยมีหน้าที่ต้องชำระค่าจ้างเพิ่มให้แก่โจทก์ การทำงานล่วงเวลาที่ตกลงกันไว้ตามสัญญาจึงถือว่าเป็นสัญญาจ้างทำของเช่นเดียวกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยว่าจ้างโจทก์ให้จัดหาพนักงานรักษาความปลอดภัยบริเวณสถานที่ทำการของจำเลยคิดเป็นค่าบริการเดือนละ 82,000 บาท หากผิดนัดยอมชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จำเลยค้างชำระค่าบริการมีนาคมและเมษายน 2545 เป็นเงิน 144,221.04 บาท และ 115,973 บาท ตามลำดับ คำนวณดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 16,680.93 บาท รวมเป็นเงิน 276,874.97 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 260,194.04 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเนื่องจากระบุว่าค่าจ้างเดือนละ 82,000 บาท จำเลยยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์ 1 เดือน กับ 25 วัน เท่านั้น คิดเป็นเงินเพียง 150,333.25 บาท มิใช่ตามฟ้อง โจทก์เรียกมาเกินความเป็นจริงทำให้จำเลยไม่เข้าใจฟ้อง ตามสัญญามีเงื่อนไขว่าโจทก์ต้องรับผิดชอบในทรัพย์ของจำเลยที่สูญหาย สินค้าพวกทองคำของจำเลยสูญหายระหว่างการปฏิบัติงานของพนักงานโจทก์ 2 ครั้ง ครั้งแรกเป็นเงิน 80,000 บาท ครั้งที่สองเป็นเงิน 48,000 บาท แต่โจทก์ชำระค่าเสียหายให้เพียง 80,000 บาท เมื่อหักกลบกันแล้วจำเลยคงเป็นหนี้โจทก์เพียง 102,333.25 บาท สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาจ้างทำของ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าล่วงเวลา โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาจึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 260,194.04 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2545 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 9 มกราคม 2546) ไม่ให้เกิน 16,680.93 บาท ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า วันที่ 1 พฤศจิกายน 2544 จำเลยว่าจ้างโจทก์จัดหาพนักงานรักษาความปลอดภัยมาดูแลโรงงานของจำเลยคิดเป็นค่าจ้างเดือนละ 82,000 บาท ระหว่างสัญญาจำเลยได้ให้โจทก์ทำงานล่วงเวลา ระหว่างสัญญาตะกอนทองคำของจำเลยหายไป 200 กรัม คิดเป็นเงิน 80,000 บาท โจทก์ได้ชำระให้แก่จำเลยแล้ว จำเลยอ้างว่าก่อนหน้านี้ตะกอนทองคำของจำเลยหายไปคิดเป็นเงิน 48,000 บาท แต่โจทก์มิได้ชำระค่าเสียหายดังกล่าวให้แก่จำเลย ต่อมาจำเลยมีหนังสือเลิกสัญญาจ้างกับโจทก์โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน 2545 ก่อนหน้าทำสัญญาฉบับนี้จำเลยได้ว่าจ้างโจทก์มาก่อนแล้วเป็นเวลา 7 ปี
ประเด็นแรกต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า จำเลยให้การว่า ตามฟ้องโจทก์ระบุว่าค่าจ้างเดือนละ 82,000 บาท จำเลยยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์ 1 เดือน กับ 15 วัน คิดเป็นเงิน 150,333.25 บาท มิได้สูงมากดังที่โจทก์ฟ้อง จึงเป็นการเรียกร้องมากกว่าความเป็นจริง ทำให้จำเลยไม่เข้าใจ ฟ้องจึงเป็นฟ้องเคลือบคลุม คำฟ้องดังกล่าวข้างต้นเป็นคำฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพของข้อหาของโจทก์ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้ว นอกจากนี้โจทก์ยังส่งสำเนาใบทำงาน/ใบแจ้งหนี้ ซึ่งคำนวณถึงรายละเอียดเกี่ยวกับค่าจ้างแนบท้ายมาด้วย คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ส่วนจำเลยค้างชำระค่าจ้างโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ เป็นเรื่องที่คู่ความจะต้องนำพยานเข้าสืบพิสูจน์ในชั้นพิจารณา
ประเด็นต่อไปต้องวินิจฉัยว่า สัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยที่มิได้ปิดอากรแสตมป์รับฟังได้หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ยื่นคำฟ้องพร้อมแนบสำเนาสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยมาด้วย จำเลยได้รับสำเนาสัญญาดังกล่าวแล้วมิได้ให้การโต้แย้งว่าไม่ถูกต้องจึงต้องรับฟังว่าสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยดังกล่าวเป็นสัญญาที่ถูกต้อง จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยอีกว่าต้นฉบับสัญญาดังกล่าวได้มีการติดอากรแสตมป์หรือไม่ ส่วนจำนวนเงินที่โจทก์ฟ้องเกินกว่าจำนวนเงินในสัญญาจ้างทำของหรือไม่ ก็สามารถพิจารณาได้จากสัญญาดังกล่าว
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า ศาลรับฟังสำเนาใบแจ้งหนี้เอกสารหมาย จ.11 ถึง จ.13 ได้หรือไม่ จำเลยฎีกาว่า โจทก์อ้างเอกสารดังกล่าวภายหลังสิ้นกำหนดระยะเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 วรรคสาม แล้วเห็นว่า โจทก์ยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมลงวันที่ 26 มิถุนายน 2546 โดยอ้างว่าฝ่ายบัญชีของโจทก์เพิ่งค้นพบเอกสารที่ยื่นเป็นพยานต่อศาลและเป็นเอกสารสำคัญที่เกี่ยวข้องในคดี คำร้องดังกล่าวจึงต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 วรรคสาม และเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารเกี่ยวกับประเด็นของคดีซึ่งทำให้การวินิจฉัยชี้ขาดข้อสำคัญเป็นไปโดยเที่ยงธรรม ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานเอกสารดังกล่าวได้จึงชอบแล้ว ส่วนที่จำเลยเห็นว่าเอกสารดังกล่าวไม่ถูกต้องก็สามารถนำสืบหักล้างเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ ทั้งจำเลยเองก็ยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมหลังที่โจทก์ยื่นคำร้องดังกล่าวแล้ว กล่าวคือจำเลยยื่นคำร้องวันที่ 28 กรกฎาคม 2546 ขอระบุผู้จัดการจำเลยเป็นพยานซึ่งศาลชั้นต้นก็อนุญาต แสดงให้เห็นว่าศาลชั้นต้นเปิดโอกาสให้คู่ความต่อสู้กันอย่างเต็มที่แล้ว
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า จำเลยค้างชำระค่าจ้างโจทก์เพียงใด จำเลยฎีกาว่า แม้จำเลยเคยชำระค่าจ้างล่วงเวลาให้แก่โจทก์เพียงใด ก็ไม่ทำให้โจทก์มีสิทธิใดๆ โจทก์มีหน้าที่ต้องนำพยานหลักฐานสืบให้เห็นจริงว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์และค่าล่วงเวลาที่โจทก์เรียกร้องสามารถเรียกร้องได้เฉพาะในกรณีตามกฎหมายแรงงาน แต่ตามฟ้องเป็นเรื่องจ้างทำของ จึงเป็นจ้างเหมารวม ค่าล่วงเวลาจึงไม่อาจเกิดขึ้นได้นั้น เห็นว่า ตามสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยกำหนดให้โจทก์นำพนักงานรักษาความปลอดภัยดูแลความปลอดภัยในช่วงเวลาตามที่ตกลงไว้ในสัญญา หากนอกเหนือจากสัญญาจำเลยก็มีหน้าที่ต้องชำระค่าจ้างเพิ่มให้แก่โจทก์ ซึ่งโจทก์และจำเลยปฏิบัติต่อกันตลอดมาดังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.11 ถึง จ.13 ที่จำเลยเคยชำระค่าจ้างล่วงเวลาให้แก่โจทก์ ซึ่งการทำงานล่วงเวลาที่ตกลงกันไว้ตามสัญญาถือเป็นสัญญาจ้างทำของเช่นเดียวกัน
ประเด็นสุดท้ายที่ต้องวินิจฉัยมีว่า จำเลยมีสิทธิยึดหน่วงเงินค่าจ้างและมีสิทธิหักกลบลบหนี้หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า สัญญาจ้างระบุว่าโจทก์จะต้องรับผิดต่อการสูญหาย เมื่อทรัพย์ของจำเลยสูญหายโจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา เมื่อต่างฝ่ายต่างเป็นหนี้กันจึงหักกลบลบหนี้ได้ นั้น เห็นว่า ตามสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 2.3 ระบุว่า ผู้ว่าจ้าง (จำเลย) รับเงินค่าว่าจ้างตามข้อ 2 ผู้ว่าจ้างจะใช้สิทธิยึดหน่วงหรือถ่วงเวลาไว้เกินกำหนดหรือจะนำไปหักกลบลบหนี้อย่างอื่นไม่ได้เว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากผู้รับจ้าง (โจทก์) เป็นลายลักษณ์อักษร จากข้อสัญญาดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงเจตนาของโจทก์จำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญาว่าจำเลยจะไม่ยึดหน่วงค่าจ้างและนำค่าจ้างไปหักกลบลบหนี้ มีข้อยกเว้นอยู่กรณีเดียวคือได้รับความยินยอมจากโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับจ้างเป็นลายลักษณ์อักษร เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์อนุญาตให้จำเลยหักกลบลบหนี้เป็นลายลักษณ์อักษร จำเลยจึงไม่มีสิทธิยึดหน่วงหรือหักกลบลบหนี้แต่อย่างใด”
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความในชั้นนี้แทนโจทก์ 2,500 บาท

Share