แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ออกไป 7 วันครั้นถึงวันครบกำหนดยื่นอุทธรณ์ ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอถอนตัวจากการเป็นทนาย และจำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ออกไปอีก 10 วัน อ้างว่าทนายจำเลยถอนตัว ไม่อาจหาทนายใหม่ได้ทันเป็นพฤติการณ์ที่ส่อไปในทางประวิงคดีถือไม่ได้ว่าเป็นพฤติการณ์พิเศษอันจะเป็นเหตุให้ศาลมีอำนาจขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้จำเลยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23.
ย่อยาว
คดีนี้สืบเนื่องจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสองเด็ดขาดครบกำหนดยื่นอุทธรณ์วันที่ 25 มกราคม 2531 ในวันดังกล่าวทนายจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ 1 เพิ่งได้รับสำเนาคำพิพากษา (ที่ถูกคำสั่ง) เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2531 คดีนี้เป็นคดีที่มีข้อยุ่งยาก ข้อเท็จจริงมาก และมีเอกสารจำนวนมาก ทนายจำเลยที่ 1 จึงทำอุทธรณ์ไม่ทันภายในกำหนดด้วย ความจำเป็นดังกล่าวจำเลยที่ 1 จึงขอให้ศาลชั้นต้นขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ต่อไปอีก7 วัน
ศาลชั้นต้นสั่งว่า เจ้าหน้าที่เพิ่งคัดสำเนาภาพถ่ายคำสั่งให้แก่จำเลยที่ 1 ได้เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2531 ถือได้ว่ามีพฤติการณ์พิเศษ จึงขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1 ถึงวันที่ 1กุมภาพันธ์ 2531
ต่อมาวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2531 ทนายจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอถอนตัวจากการเป็นทนายจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตตามคำร้องในวันเดียวกันนั้นเองจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องอ้างว่าทนายจำเลยที่ 1ได้ถอนตัวจากการเป็นทนายให้จำเลยที่ 1 ในวันนั้น ไม่อาจหาทนายใหม่ได้ทัน จึงขอให้ศาลสั่งขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ต่อไปอีก 10 วัน
ศาลชั้นต้นสั่งว่า เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 กับทนายมีความเห็นขัดแย้งกันจนทนายจำเลยที่ 1 ขอถอนตัว ถือไม่ได้ว่ามีพฤติการณ์พิเศษที่จะขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ได้อีก ให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า นายอดิศพงศ์เป๋าสมบัติได้รับแต่งตั้งเป็นทนายจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม2530 และได้ดำเนินคดีแก้ต่างจำเลยที่ 1 มาโดยตลอด ครั้นวันที่24 ธันวาคม 2530 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 เด็ดขาดต่อมาเมื่อวันจันทร์ที่ 25 มกราคม 2531 อันเป็นวันสุดท้ายของกำหนดเวลายื่นอุทธรณ์ นายอดิศพงศ์ เป๋าสมบัติ ในฐานะทนายจำเลยที่ 1ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายไปถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2531 ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ศาลคัดสำเนาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ให้จำเลยที่ 1 ได้เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2531ทนายจำเลยที่ 1 จึงมีเวลาเรียงอุทธรณ์นานกว่า 10 วัน แต่ครั้นถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2531 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ ทนายจำเลยที่ 1 หาได้ยื่นอุทธรณ์ไม่กลับยื่นคำร้องขอถอนตัวจากการเป็นทนายจำเลยที่ 1 ซึ่งศาลชั้นต้นก็มีคำสั่งอนุญาตและในวันเดียวกันนั้นจำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ออกไปเป็นครั้งที่สอง โดยอ้างว่ามีความคิดเห็นขัดแย้งกับทนายจำเลยที่ 1 จนทนายจำเลยที่ 1 ขอถอนตัว ดังนี้ มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาว่า คดีของจำเลยที่ 1 มีพฤติการณ์พิเศษอันจะเป็นเหตุให้ศาลมีอำนาจขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1 หรือไม่พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น ก่อนที่ทนายจำเลยที่ 1 จะยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์เป็นครั้งที่สองนั้น จำเลยที่ 1 และทนายความมีเวลาสำหรับปรึกษาหารือกันเพียงพออยู่แล้ว เพราะนอกจากเวลาที่กำหนดไว้โดยกฎหมายแล้วยังมีเวลาที่ศาลชั้นต้นขยายให้อีก 7 วัน จนถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2531หากจำเลยที่ 1 มีความคิดเห็นขัดแย้งกับทนายจำเลยที่ 1 จริง ก็น่าจะแต่งตั้งทนายความอื่นให้ทำอุทธรณ์ยื่นให้ทันกำหนดเวลา โดยไม่ต้องขอให้ถึงวันสุดท้าย หรือรอให้ทนายจำเลยที่ 1 ขอถอนตัวเสียก่อนการที่ทนายจำเลยที่ 1 และตัวจำเลยที่ 1 มีเวลาพอที่จะดำเนินการยื่นอุทธรณ์ตามกำหนดเวลาได้ แต่มิได้ดำเนินการกลับมายื่นคำร้องขอถอนตัว และขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ในวันครบกำหนดระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นขยายให้ โดยอ้างว่ามีความคิดเห็นขัดแย้งกันนั้น เป็นพฤติการณ์ที่ขอไปในทางประวิงคดี ไม่มีเหตุผลให้เชื่อว่า มีความคิดเห็นขัดแย้งกัน ถือไม่ได้ว่าเป็นพฤติการณ์พิเศษอันจะเป็นเหตุให้ศาลมีอำนาจขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1 ได้ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 และพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153 ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยชอบแล้ว ฎีกาจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.