คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3938/2533

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งยก คำร้อง ของจำเลยในกระบวนพิจารณาชั้นรับฎีกา เป็นกระบวนพิจารณาที่ศาลชั้นต้นทำแทนศาลฎีกา หากจำเลยไม่พอใจก็ชอบที่จะร้องอุทธรณ์คำสั่ง ดังกล่าวต่อศาลฎีกาโดยตรงที่จำเลยอุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งดังกล่าวของศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ และศาลชั้นต้นได้ส่งอุทธรณ์ของจำเลยตรงมายังศาลฎีกานั้น พอถือได้ว่าจำเลยได้อุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งดังกล่าวต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยในปัญหาที่จำเลยอุทธรณ์มานั้นได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมของนางสาวหนู ทองห่อ มีมรดกที่จัดการคือ ที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 101ตำบลสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เนื้อที่ 7 ไร่ 1 งาน52 ตารางวา จำเลยทั้งสี่เป็นทายาทมีสิทธิในมรดกของนายไกรวุฒิสินทรัพย์ เมื่อนางสาวหนูถึงแก่ความตาย โจทก์ไปติดต่อขอรับมรดกที่ดินดังกล่าวเพื่อแบ่งปันให้ผู้รับพินัยกรรมจึงทราบว่าที่ดินดังกล่าวถูกนายไกรวุฒิอายัดเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2509เนื่องจากนายไกรวุฒิฟ้องขับไล่นางสาวหนูออกจากที่ดิน ส.ค.1เลขที่ 100 และที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 101 ตำบลสัตหีบ อำเภอสัตหีบโจทก์ตรวจสอบแล้วจึงทราบว่าที่ดินที่นายไกรวุฒิฟ้องนั้นเป็นที่ดินคนละแปลงกับที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 101 และคดีดังกล่าวถึงที่สุดโดยศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าที่ดิน ส.ค.1 เลขที่ 100เป็นกรรมสิทธิ์ของนายไกรวุฒิ นางสาวหนูได้ส่งมอบที่ดินดังกล่าวให้นายไกรวุฒิแล้ว ส่วนที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 101ศาลไม่ได้พิพากษาว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของนายไกรวุฒิ โจทก์ได้ติดต่อกับนายไกรวุฒิเพื่อขอให้ถอนคำขออายัดที่ดิน น.ส.3เลขที่ 101 ปรากฏว่านายไกรวุฒิได้ถึงแก่ความตายไปแล้วโจทก์จึงติดต่อจำเลย จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่เพิกถอนการอายัดที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 101 หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย จำเลยทั้งสี่ให้การว่า ที่ดินพิพาท น.ส.3 เลขที่ 101 และที่ดิน ส.ค.1เลขที่ 100 ทั้งสองแปลงเป็นของนายผวนหรือไกรวุฒิ สินทรัพย์สามีและบิดาของจำเลยทั้งสี่ นางสาวหนูครอบครองที่ดินดังกล่าวแทนนายไกรวุฒิ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2498 โดยครอบครองที่ดินในนามของตนเอง โดยใช้สิทธิและไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อนายไกรวุฒิทราบจึงไปต่อว่านางสาวหนู และโต้แย้งกรรมสิทธิ์และสิทธิครอบครองนางสาวหนูยอมรับว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของนายไกรวุฒิและทำหลักฐานเป็นหนังสือเพื่อแสดงว่านางสาวหนูเป็นเพียงผู้ครอบครองที่ดินดังกล่าวแทนนายไกรวุฒิ ต่อมานายไกรวุฒิได้ขอที่ดินดังกล่าวจากนางสาวหนูมาครอบครองเอง นางสาวหนูบ่ายเบี่ยง นายไกรวุฒิจึงฟ้องขับไล่นางสาวหนูตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 149/2509 หมายเลขแดงที่ 273/2511 ของศาลชั้นต้นและขออายัดที่พิพาทไว้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้นางสาวหนูส่งมอบการครอบครองที่พิพาทคืนนายไกรวุฒิ คดีถึงที่สุด โจทก์หรือบุคคลภายนอกจะมาขอให้จำเลยทั้งสี่ถอนอายัดไม่ได้ และโจทก์ไม่เคยติดต่อกับจำเลยมาก่อนฟ้อง ที่โจทก์อ้างว่าที่พิพาทที่นายไกรวุฒิฟ้องมีเพียงแปลงเดียวคือแปลงเลขที่ 100 มีเนื้อที่9 ไร่ คนละแปลงกับเลขที่ 101 ซึ่งมีเนื้อที่ 7 ไร่ นั้นโจทก์เข้าใจคลาดเคลื่อนขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ในฐานะทายาทของนายไกรวุฒิ สินทรัพย์ เพิกถอนการอายัดที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 101 ตามที่โจทก์ฟ้องเสีย หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ส่วนปัญหาเรื่องศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของโจทก์ชอบหรือไม่นั้น จำเลยทั้งสี่ได้อุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งของศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ และศาลชั้นต้นได้ส่งอุทธรณ์ดังกล่าวตรงมายังศาลฎีกา ซึ่งอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่มีใจความว่าคดีนี้โจทก์ยื่นฎีกาเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2531 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า “รับเป็นฎีกาของโจทก์ สำเนาให้จำเลย ให้โจทก์นำส่งภายใน 7 วัน ส่งไม่ได้ให้แถลงภายใน 7 วัน มิฉะนั้นถือว่าโจทก์ทิ้งฎีกา” ต่อมาปรากฏว่าส่งสำเนาแก่จำเลยทั้งสี่ไม่ได้โจทก์ไม่ได้แถลงให้ศาลทราบภายในกำหนดเวลาตามที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไว้ดังกล่าว แต่โจทก์ได้มายื่นคำแถลงภายหลังเมื่อล่วงเลยระยะเวลานั้นแล้วให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ส่งสำเนาฎีกาแก่จำเลยทั้งสี่อีก ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตามคำแถลงของโจทก์ว่า”จัดการให้ ไม่มีผู้รับให้ปิด” จำเลยทั้งสี่ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวและมีคำสั่งใหม่ว่าโจทก์ทิ้งฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าเมื่อศาลสั่งอนุญาตให้ดำเนินการได้ แม้จะล่วงเลยเวลาดังกล่าวแล้วก็ตามก็เท่ากับเป็นการอนุญาตให้ดำเนินคดีต่อไป ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งของศาลดังกล่าวอีก ยกคำร้อง จำเลยทั้งสี่เห็นว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นนี้ยังคลาดเคลื่อนต่อกฎหมาย เพราะกรณีดังกล่าวถือได้แล้วว่าโจทก์เพิกเฉยไม่ได้ดำเนินคดีภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดเป็นการที่โจทก์ทิ้งฟ้องฎีกาแล้ว ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งอนุญาตให้มีการส่งสำเนาฎีกาให้จำเลยทั้งสี่อีกตามคำแถลงของโจทก์ไม่ได้ ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า ปัญหาดังกล่าวเป็นกระบวนพิจารณาชั้นรับฎีกาย่อมถือได้ว่าเป็นกระบวนพิจารณาที่ศาลชั้นต้นทำแทนศาลฎีกา ดังนั้นหากจำเลยทั้งสี่ไม่พอใจคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งดำเนินการแทนศาลฎีกาอย่างใดก็ชอบที่จะร้องต่อศาลฎีกาโดยตรง ที่จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวต่อศาลอุทธรณ์จึงพอถือได้ว่าจำเลยทั้งสี่ได้อุทธรณ์คำสั่งนั้นต่อศาลฎีกา และในปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาเห็นว่า ที่ศาลชั้นต้นสั่งคำแถลงของโจทก์ว่า “จัดการให้ ไม่มีผู้รับให้ปิด” ซึ่งสั่งภายหลังโจทก์ไม่นำส่งสำเนาฎีกาให้จำเลยทั้งสี่ใน 7 วันตามกำหนดเวลาของศาลชั้นต้น กรณีเป็นการที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ดำเนินการส่งสำเนาฎีกาให้จำเลยทั้งสี่ใหม่นั่นเองฉะนั้นที่ศาลชั้นต้นสั่งคำร้องของจำเลยทั้งสี่ที่ขอให้เพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นว่า “เมื่อศาลสั่งอนุญาตให้ดำเนินการได้แม้จะล่วงเลยเวลาดังกล่าวแล้วก็ตามเท่ากับเป็นการอนุญาตให้ดำเนินคดีต่อไป จึงไม่เป็นเหตุที่จะต้องให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวอีก ให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ” นั้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว ทั้งนี้เทียบตามฎีกาที่ 681/2530 ระหว่างหม่อมราชวงศ์สุรภี สวัสดิ์วัฒน์ ที่ 1 หม่อมราชวงศ์กุลประโมทย์จิรประวัติ ที่ 2 โจทก์ หลวงสารนัยประสาสน์ ที่ 1นางสาววิรัช มัณยัษเฐียร ที่ 2 นายโกวิท บุณยัษฐิติ ที่ 3นายประธาน ดวงรัตน์ ที่ 4 จำเลย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share