คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 83/2552

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ประสงค์แต่เพียงให้คำฟ้องมีรายละเอียดพอสมควรที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาดีก็พอ เมื่ออ่านฟ้องของโจทก์โดยตลอดจำเลยทั้งสองย่อมเข้าใจได้ว่าโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองว่าร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยใช้อาวุธปืนยิงและไตร่ตรองไว้ก่อน จึงเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่จำเป็นต้องระบุรายละเอียดว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันยิงผู้ตายอย่างไร ใครเป็นผู้ยิงและผู้ตายถูกยิงที่ส่วนใดของร่างกายด้วยอาวุธชนิดใด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภริยาของดาบตำรวจอนุสรณ์ เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2543 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จำเลยทั้งสองร่วมกันฆ่าดาบตำรวจอนุสรณ์ ผู้ตาย โดยไตร่ตรองไว้ก่อน เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายตามประสงค์ของจำเลยทั้งสอง เหตุเกิดที่ตำบลหนองบัง อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) ประกอบ 83
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 289 (4) ลงโทษประหารชีวิตจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีคงมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่าโจทก์บรรยายฟ้องชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) หรือไม่ โจทก์บรรยายฟ้องว่า
“ข้อ 1. โจทก์เป็นภริยาของดาบตำรวจอนุสรณ์ ซึ่งขณะมีชีวิตอยู่รับราชการตำรวจประจำสถานีตำรวจตำบลเขื่อน อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม
ข้อ 2. เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2543 เวลาใดไม่ปรากฏชัด เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยทั้งสองได้บังอาจร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายอาญา กล่าวคือ เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2543 เวลาประมาณ 22.40 จำเลยทั้งสองหลอกลวงด้วยการวางแผนให้ดาบตำรวจอนุสรณ์ตายใจว่าไม่มีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้น โดยการชวนไปรับประทานอาหารว่างร่วมกันที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง ในอำเภอเชียงยืน สั่งอาหารเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ มานั่งดื่มกินกันจนได้เวลาประมาณ 01.00 น. เศษ ของวันที่ 20 มกราคม 2543 จำเลยทั้งสองได้ชวนดาบตำรวจอนุสรณ์ออกไปจากร้านเพื่อไปเที่ยวกันต่อที่อื่น เมื่อขึ้นรถยนต์ออกจากร้านอาหารไปโดยมีผู้เห็นเหตุการณ์ว่า ผู้ตายได้นั่งรถยนต์ไปกับจำเลยที่ 1 และมีรถยนต์คันที่จำเลยที่ 2 ขับขี่ตามไปด้วย โดยมุ่งหน้าไปทางจังหวัดขอนแก่น จนเมื่อเวลาประมาณ 2 นาฬิกา มีผู้ได้ยินเสียงปืนดังขึ้นประมาณ 5 นัด จากรถคันที่จำเลยที่ 1 กับดาบตำรวจผู้ตายนั่งไปด้วยดังกล่าวนั้นเกิดที่บริเวณริมตลิ่งแม่น้ำชีบ้านกอก มีผู้เห็นรถยนต์คันที่ผู้ตายนั่งมาขับออกไป และในเวลาเดียวกันมีผู้พบศพของดาบตำรวจอนุสรณ์นอนตายอยู่ที่ริมตลิ่งแม่น้ำชีบ้านกอกนั่นเอง
ข้อ 3. การที่ดาบตำรวจอนุสรณ์ถูกยิงตาย เป็นการวางแผนเตรียมการล่วงหน้า เพราะก่อนหน้าเกิดเหตุ จำเลยทั้งสองมีความไม่พอใจที่ผู้ตายเกิดเหตุทะเลาะวิวาทกับผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาของตนมาก่อน การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของตนเองมาชักชวนไปรับประทานอาหารด้วยกันเป็นการทำให้ผู้ตายหลงเชื่อว่าผู้บังคับบัญชาไม่ได้เอาเรื่องกับตนแล้ว จึงยอมไปไหนด้วยความไว้วางใจ ฉะนั้น การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันฆ่าดาบตำรวจอนุสรณ์จึงเป็นการฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและทำให้ผู้ตาย ตายสมตามความประสงค์ของจำเลยทั้งสอง รายละเอียดแห่งข้อเท็จจจริงโจทก์จะกราบเรียนเสนอต่อศาลในชั้นพิจารณา
เหตุแห่งคดีตามฟ้อง ข้อ 2. และข้อ 3. เกิดที่ริมตลิ่งแม่น้ำชีบ้านกอก ตำบลหนองบัง อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม…”
เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 บัญญัติว่า “ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือและมี (1)…(5) การกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้นๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี” บทบัญญัติดังกล่าวกล่าวแต่เพียงว่าฟ้องของโจทก์ต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาและสถานที่อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีเท่านั้น ส่วนรายละเอียดอื่นๆ เป็นเรื่องที่จะต้องไปว่ากันในชั้นสืบพยาน คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) โดยบรรยายฟ้องเกี่ยวกับวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุไว้ในฟ้องข้อ 2 และข้อ 3 และบรรยายถึงมูลเหตุจูงใจที่ทำให้จำเลยทั้งสองกระทำความผิดว่า มีสาเหตุมาจากผู้ตายทะเลาะวิวาทกับผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาของจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองจึงได้ร่วมกันวางแผนชักชวนผู้ตายรับประทานอาหาร จากนั้นได้ชวนผู้ตายออกจากร้านอาหารเพื่อไปเที่ยวที่อื่น โดยในคำฟ้องได้ระบุด้วยว่ามีผู้เห็นเหตุการณ์ว่าผู้ตายนั่งรถยนต์ไปกับจำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์ตามไปด้วย โดยมุ่งหน้าไปทางจังหวัดขอนแก่น และในขณะเกิดเหตุมีผู้ได้ยินเสียงปืนประมาณ 5 นัด มาจากรถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับซึ่งผู้ตายนั่งมาในรถยนต์คันดังกล่าวและเห็นรถยนต์ของจำเลยที่ 1 ขับออกไปจากบริเวณที่มีเสียงปืนและพบศพของผู้ตาย ณ บริเวณนั้นคือบริเวณริมตลิ่งแม่น้ำชีบ้านกอก ตำบลหนองบัง อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม คำฟ้องดังกล่าวได้บรรยายพฤติการณ์ที่บ่งชี้ว่า ขณะที่เกิดเหตุการณ์ฆ่ามีจำเลยทั้งสองเท่านั้นที่อยู่ในที่เกิดเหตุ คนร้ายไม่มีทางที่จะเป็นผู้อื่น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่าฟ้องของโจทก์ไม่มีรายละเอียดโดยชัดแจ้งเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองว่าร่วมยิงอย่างไร ใครเป็นผู้ยิงและผู้ตายถูกยิงที่ส่วนใดของร่างกาย ด้วยอาวุธปืนชนิดใด ทั้งไม่มีข้อยืนยันว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันยิงผู้ตายนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย มิฉะนั้นคดีที่ไม่มีประจักษ์พยานคงมีแต่พยานแวดล้อมที่บ่งชี้ว่าผู้ใดเป็นคนร้าย ก็ไม่อาจนำคดีดังกล่าวมาฟ้องให้จำเลยรับผิดได้ เพราะไม่มีพยานรู้เห็นลักษณะหรือท่าทีการยิงหรือวิธีการฆ่าของคนร้ายได้ ทั้งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ประสงค์แต่เพียงให้มีรายละเอียดพอสมควรที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาดีก็พอแล้ว เมื่ออ่านฟ้องของโจทก์โดยตลอด จำเลยทั้งสองย่อมเข้าใจได้ว่าโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองว่า ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยใช้อาวุธปืนยิงและไตร่ตรองไว้ก่อน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share