แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีที่โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ซึ่งเป็นเอกชน ส่วนจำเลยที่ ๒ เป็นหน่วยงานของรัฐ อ้างว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินมือเปล่า แต่ถูกจำเลยที่ ๑ นำที่ดินไปขอออก น.ส. ๓ ก. แล้วนำไปจดทะเบียนจำนองไว้กับจำเลยที่ ๓ จากนั้นนำไปขอออกโฉนดที่ดินโดยไม่มีสิทธิ ขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ให้เพิกถอน น.ส. ๓ ก. และโฉนดที่ดิน พร้อมทั้งเพิกถอนหนังสือสัญญาจำนองกับหนังสือต่อท้ายสัญญาจำนองระหว่างจำเลยที่ ๑ กับที่ ๓ จำเลยที่ ๑ ให้การและฟ้องแย้งว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๑ ซึ่งจำเลยที่ ๑ ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินทั้งสองแปลงตลอดมา โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ขับไล่โจทก์และบริวารออกจากที่ดินพิพาทพร้อมทั้งเรียกค่าเสียหาย จำเลยที่ ๒ ให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม จำเลยที่ ๓ ให้การว่า การจดทะเบียนจำนองทำเป็นหนังสือต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โดยสุจริตเปิดเผยและเสียค่าตอบแทน นิติกรรมจำนองที่ดินจึงมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า การที่จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ จะปฏิบัติตามคำขอของโจทก์ได้นั้น ศาลจะต้องพิจารณาให้ได้ความก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือไม่ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่างเอกชนด้วยกัน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ย่อยาว
สำเนา
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๒๙/๒๕๕๖
วันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๖
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา
ระหว่าง
ศาลปกครองระยอง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดฉะเชิงเทราโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๕๔ นายแฉล้ม แก้วคำ โจทก์ ยื่นฟ้องนายเกรียงศักดิ์ แซ่เอง ที่ ๑ กรมที่ดิน ที่ ๒ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ที่ ๓ จำเลย ต่อศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๑๒๖๐/๒๕๕๔ ความว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินมือเปล่า ตั้งอยู่หมู่ที่ ๑ ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา เนื้อที่ประมาณ ๒๑ ไร่ ๑ งาน ๔๐ ตารางวา เดิมโจทก์กับบิดามารดาเข้าครอบครองปลูกมันสำปะหลัง ต่อมา บิดามารดายกที่ดินให้แก่โจทก์ จึงเปลี่ยนมาปลูกต้นยูคาลิปตัสแทน โจทก์ครอบครองที่ดินดังกล่าวด้วยความสงบ เปิดเผย และเจตนาเป็นเจ้าของมาเป็นเวลา ๔๒ ปี ต่อมา โจทก์ตรวจสอบกับสำนักงานที่ดินพบว่าจำเลยที่ ๑ นำที่ดินของโจทก์ไปขอออก น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๙๘๘ และเลขที่ ๑๙๘๙ ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา แล้วนำที่ดินไปจดทะเบียนจำนองไว้กับจำเลยที่ ๓ จากนั้นนำไปขอออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๔๓๕๓๖ และเลขที่ ๔๓๕๓๗ ตามลำดับโดยไม่มีสิทธิ ขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทโจทก์มีสิทธิครอบครองดีกว่าจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ และห้ามจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ รวมทั้งบริวารเข้าเกี่ยวข้อง และให้เพิกถอน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๙๘๘ และเลขที่ ๑๙๘๙ และโฉนดที่ดินเลขที่ ๔๓๕๓๖ และเลขที่ ๔๓๕๓๗ พร้อมทั้งเพิกถอนหนังสือสัญญาจำนองกับหนังสือต่อท้ายสัญญาจำนองระหว่างจำเลยที่ ๑ และที่ ๓
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๑ และเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๔๓๕๓๖ และ ๔๓๕๓๗ โดยโฉนดที่ดินเลขที่ ๔๓๕๓๖ จำเลยที่ ๑ ได้รับการยกให้มาจากบิดามารดาเมื่อประมาณปี ๒๕๑๐ ส่วนโฉนดที่ดินเลขที่ ๔๓๕๓๗ จำเลยที่ ๑ ซื้อมาจากผู้มีชื่อเมื่อประมาณปี ๒๕๑๐ จำเลยที่ ๑ ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินทั้งสองแปลงตลอดมา โจทก์เข้าไปอาศัยทำกินในที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิบิดามารดาจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๑ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง และฟ้องแย้งขับไล่โจทก์และบริวารออกจากที่ดินพิพาทพร้อมทั้งเรียกค่าเสียหาย
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๒ เพราะคดีนี้เป็นคดีปกครอง อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม การจดทะเบียนจำนองทำเป็นหนังสือต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โดยสุจริตเปิดเผยและเสียค่าตอบแทน นิติกรรมจำนองที่ดินระหว่างจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๓ จึงมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย โจทก์ไม่สามารถฟ้องให้เพิกถอนได้ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือคำสั่งทางปกครอง ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดฉะเชิงเทราพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากการที่จำเลยที่ ๒ มีฐานะเป็นกรมในรัฐบาล ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดิน ในเรื่องการพิจารณาออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์และโฉนดที่ดินพิพาท จะเกิดจากการใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของฝ่ายปกครองดังกล่าวก็ตาม แต่โจทก์ก็ได้โต้แย้งว่าจำเลยที่ ๑ ไม่เคยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดิน จึงไม่ใช่เจ้าของที่ดินมือเปล่าพิพาทที่แท้จริง และไม่สามารถนำที่ดินพิพาทไปออก น.ส. ๓ ก. และโฉนดที่ดินได้ ซึ่งเรื่องนี้จำเลยที่ ๑ ก็ให้การคัดค้านว่าจำเลยที่ ๑ เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินมือเปล่าพิพาท และเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามโฉนดที่ดิน โดยเมื่อประมาณปี ๒๕๑๐ จำเลยที่ ๑ ได้รับการยกให้ที่ดินมาจากบิดามารดา และปีเดียวกันที่ดินบางส่วนซื้อมาจากผู้มีชื่อ จำเลยที่ ๑ ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินทั้งสองแปลงตลอดมา ดังนั้น การที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๙๘๘ และ ๑๙๘๙ และโฉนดที่ดินเลขที่ ๔๓๕๓๖ และ ๔๓๕๓๗ รวมทั้งคำขออื่นๆ ของโจทก์ได้หรือไม่นั้น ศาลจำต้องพิจารณาในปัญหาว่าที่ดินพิพาทโจทก์หรือจำเลยที่ ๑ เป็นผู้มีสิทธิครอบครองดีกว่ากันเป็นสำคัญ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่างคู่กรณี อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองระยองพิจารณาแล้วเห็นว่า การออก น.ส. ๓ ก. และโฉนดที่ดินที่โจทก์อ้างว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง ที่ต้องดำเนินการตามประมวลกฎหมายที่ดินและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่า โจทก์มีความประสงค์จะให้เพิกถอน น.ส. ๓ ก. และโฉนดที่ดินพิพาทที่อ้างว่าออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และศาลปกครองมีอำนาจออกคำบังคับตามคำขอของโจทก์ โดยการสั่งให้เพิกถอนการออก น.ส. ๓ ก. และโฉนดที่ดินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายได้ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) และวรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว อย่างไรก็ตามแม้คดีนี้มีประเด็นที่จะต้องพิจารณาว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของโจทก์หรือจำเลยที่ ๑ ซึ่งประเด็นดังกล่าวก็เป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลปกครองจะต้องพิจารณาในเนื้อหาของคดี อันเป็นเพียงประเด็นปัญหาย่อยหนึ่งในหลายประเด็นปัญหาที่จะพิจารณาว่า การดำเนินการออก น.ส. ๓ ก. และโฉนดที่ดินพิพาทของจำเลยที่ ๒ เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และแม้การพิจารณาว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทดังกล่าวหรือไม่ จะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือประมวลกฎหมายที่ดินก็ตาม แต่การพิจารณาในปัญหาดังกล่าวมิใช่เกณฑ์การพิจารณาว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลใด อีกทั้ง ไม่มีบทบัญญัติใดห้ามศาลปกครองมิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ หรือมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกำหนดให้เป็นอำนาจเฉพาะศาลหนึ่งศาลใดเท่านั้นที่จะนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ ศาลปกครองจึงนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ มาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินมีผลผูกพันบุคคลภายนอก คู่กรณีที่เกี่ยวข้องอาจอ้างกับบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกจะมีสิทธิดีกว่า อันเป็นบทบัญญัติที่ยืนยันให้เห็นว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินและนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาวินิจฉัยข้อพิพาทในคดีได้ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายหรือดำเนินกิจการทางปกครองไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ รวมทั้งศาลปกครองมีอำนาจบังคับตามคำขอของโจทก์ได้ ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) และวรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว อีกทั้งจำเลยที่ ๒ มีหน้าที่ดำเนินการออกโฉนดที่ดิน จึงมิได้อยู่ในฐานะเจ้าของหรือผู้มีสิทธิในที่ดินพิพาทที่ศาลจะพิพากษาเฉพาะสิทธิในที่ดินเพียงอย่างเดียว ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งเป็นประเด็นหลักของคดี ทั้งนี้ เพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจของหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ กรณีจึงมิใช่เรื่องพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินโดยเฉพาะเท่านั้น
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ซึ่งเป็นเอกชน ส่วนจำเลยที่ ๒ เป็นหน่วยงานของรัฐ อ้างว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินมือเปล่า ด้วยความสงบ เปิดเผย และเจตนาเป็นเจ้าของมาเป็นเวลา ๔๒ ปี แต่ถูกจำเลยที่ ๑ นำที่ดินไปขอออก น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๙๘๘ และเลขที่ ๑๙๘๙ แล้วนำไปจดทะเบียนจำนองไว้กับจำเลยที่ ๓ จากนั้นนำไปขอออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๔๓๕๓๖ และเลขที่ ๔๓๕๓๗ ตามลำดับโดยไม่มีสิทธิ ขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทโจทก์มีสิทธิครอบครองดีกว่าจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ และห้ามจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ รวมทั้งบริวารเข้าเกี่ยวข้อง และให้เพิกถอน น.ส. ๓ ก. และโฉนดที่ดิน พร้อมทั้งเพิกถอนหนังสือสัญญาจำนองกับหนังสือต่อท้ายสัญญาจำนองระหว่างจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ส่วนจำเลยที่ ๑ ให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๑ และเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๔๓๕๓๖ และ ๔๓๕๓๗ โดยโฉนดที่ดินเลขที่ ๔๓๕๓๖ จำเลยที่ ๑ ได้รับการยกให้มาจากบิดามารดา ส่วนโฉนดที่ดินเลขที่ ๔๓๕๓๗ จำเลยที่ ๑ ซื้อมาจากผู้มีชื่อ ซึ่งจำเลยที่ ๑ ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินทั้งสองแปลงตลอดมา โจทก์เข้าไปอาศัยทำกินในที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิบิดามารดาจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๑ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง และฟ้องแย้งขับไล่โจทก์และบริวารออกจากที่ดินพิพาทพร้อมทั้งเรียกค่าเสียหาย จำเลยที่ ๒ ให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม จำเลยที่ ๓ ให้การว่า การจดทะเบียนจำนองทำเป็นหนังสือต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โดยสุจริตเปิดเผยและเสียค่าตอบแทน นิติกรรมจำนองที่ดินระหว่างจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๓ จึงมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย โจทก์ไม่สามารถฟ้องให้เพิกถอนได้ ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า แม้คดีมีประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวข้องกับการที่หน่วยงานทางปกครองออกเอกสารสิทธิในที่ดินพิพาท แต่โจทก์ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ พร้อมบริวารออกจากที่ดินของโจทก์และให้เพิกถอนเอกสารสิทธิที่ออกเป็นชื่อบุคคลอื่น เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของโจทก์ที่ใช้สิทธิทางศาลก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินที่โจทก์กล่าวอ้างว่าตนมีสิทธิเป็นสำคัญ และในการออกเอกสารสิทธิในที่ดินของจำเลยที่ ๒ ก็เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดเพื่อให้ผู้มีสิทธิในที่ดินที่แท้จริงได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย การที่จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ จะปฏิบัติตามคำขอของโจทก์ได้ก็จะต้องดำเนินการไปตามข้อเท็จจริงที่รับฟังได้เป็นยุติ ศาลจึงจำต้องพิจารณาให้ได้ความก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือไม่ อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินระหว่างเอกชนด้วยกันว่า โจทก์หรือจำเลยที่ ๑ มีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่ากัน แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายแฉล้ม แก้วคำ โจทก์ นายเกรียงศักดิ์ แซ่เอง ที่ ๑ กรมที่ดิน ที่ ๒ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ที่ ๓ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลเรือโท กฤษฎา เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(กฤษฎา เจริญพานิช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ