คำวินิจฉัยที่ 127/2556

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เป็นเอกชน และจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ อ้างว่า โจทก์เป็นเจ้าของและครอบครองที่ดิน ส.ค. ๑ ซึ่งได้ยื่นคำร้องขอออกโฉนดที่ดินต่อเจ้าพนักงานที่ดิน แต่จำเลยที่ ๑ คัดค้านการออกโฉนดที่ดิน และจำเลยที่ ๒ คัดค้านว่า เป็นที่สาธารณประโยชน์ ต่อมาเจ้าพนักงานที่ดินของจำเลยที่ ๓ แจ้งว่าสามารถออกโฉนดให้แก่โจทก์ด้านทิศตะวันตกได้เพียง ๒ งาน ส่วนที่เหลือไม่สามารถออกโฉนดให้ได้ ขอให้พิพากษาว่าที่ดินตาม ส.ค. ๑ เป็นที่ดินของโจทก์ จำเลยที่ ๒ ให้การว่า ที่พิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ ส่วนจำเลยที่ ๓ ให้การว่า ที่พิพาทจึงยังคงเป็นที่ดินของรัฐตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๖ (๑) ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า การที่ศาลจะพิพากษาหรือมีคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้ ก็จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินซึ่งโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองหรือเป็นที่ดินของจำเลยที่ ๑ หรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาในประเด็นอื่นต่อไป คดีนี้จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

สำเนา

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๒๗/๒๕๕๖

วันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๖

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดสงขลา
ระหว่าง
ศาลปกครองสงขลา

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดสงขลาโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๕๔ นางแหม ตุละ โจทก์ ยื่นฟ้องนายสุนทร วิบูลย์พันธ์ ที่ ๑ นายสุนทร ณ พัทลุง ที่ ๒ กรมที่ดิน ที่ ๓ จำเลย ต่อศาลจังหวัดสงขลา เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๑๒๒๖/๒๕๕๔ ความว่า โจทก์เป็นเจ้าของและครอบครองที่ดิน ส.ค. ๑ เลขที่ ๒๑๘ หมู่ที่ ๖ ตำบลชุมพล อำเภอสทิงพระ เนื้อที่ ๗ ไร่ ๑ งาน ๔๐ ตารางวา โดยได้รับมอบมาจากบิดา โจทก์เข้าทำประโยชน์ในที่ดินโดยทำสวน ปลูกต้นไม้ ต่อมา เมื่อวันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๔๕ โจทก์ยื่นคำร้องขอออกโฉนดที่ดินต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสงขลา สาขาสทิงพระ แต่จำเลยที่ ๑ คัดค้านการออกโฉนดที่ดินโดยอ้างว่า โจทก์นำชี้รังวัดรุกล้ำที่ดินของจำเลยที่ ๑ เนื้อที่ประมาณ ๒๕ ตารางวา และจำเลยที่ ๒ คัดค้านว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นที่สาธารณประโยชน์ พร้อมทั้งยื่นเรื่องร้องเรียนต่ออำเภอสทิงพระ ซึ่งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ความเห็นว่า ไม่มีเอกสารใดชี้ชัดว่าเป็นที่สาธารณประโยชน์ ต่อมาเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสงขลา สาขาสทิงพระ ในฐานะเจ้าพนักงานที่ดินของจำเลยที่ ๓ แจ้งว่าสามารถออกโฉนดให้แก่โจทก์ด้านทิศตะวันตกได้เพียง ๒ งาน ส่วนที่เหลือไม่สามารถออกโฉนดให้ได้ เนื่องจากโจทก์ไม่ได้เข้าครอบครองและทำประโยชน์ การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ขอให้พิพากษาว่าที่ดินตาม ส.ค. ๑ เป็นที่ดินของโจทก์ ให้จำเลยที่ ๑ ถอนคำคัดค้านต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ให้จำเลยที่ ๒ ถอนเรื่องร้องเรียนจากอำเภอสทิงพระ และห้ามจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เกี่ยวข้องกับที่พิพาท กับให้จำเลยที่ ๓ ออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า โจทก์ไม่เคยเข้าทำประโยชน์หรือใช้สิทธิครอบครองในที่พิพาท จึงไม่มีสิทธิครอบครอง แต่ประชาชนทั่วไปเป็นผู้ใช้ประโยชน์ ที่พิพาทจึงเป็นที่สาธารณประโยชน์
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง หลังจากบิดาโจทก์แจ้งการครอบครองที่พิพาทแล้วมิได้เข้าครอบครองทำประโยชน์เต็มพื้นที่และมิได้ขอคำรับรองการทำประโยชน์ต่ออำเภอท้องที่ โดยปล่อยให้ที่ดินบางส่วนจำนวน ๖ ไร่ ๓ งาน ๔๐ ตารางวา เป็นที่รกร้างว่างเปล่าจนเกินกำหนด ๓ ปี ที่พิพาทจึงยังคงเป็นที่ดินของรัฐ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๖ (๑) โจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดินต่อจากบิดา จึงไม่อาจอ้างสิทธิในที่พิพาทได้ และโจทก์ไม่ได้เข้าครอบครองและทำประโยชน์ในที่พิพาทและยังคงปล่อยให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่าตลอดมาเกินกว่าสามปี ที่พิพาทจึงยังคงเป็นที่ดินของรัฐตามมาตรา ๖ (๑) แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน จำเลยที่ ๓ จึงไม่อาจออกโฉนดที่ดินให้เต็มเนื้อที่ตามคำขอของโจทก์ได้ การกระทำของเจ้าพนักงานที่ดินสังกัดจำเลยที่ ๓ ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ต่อมา โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ ๑ ศาลอนุญาต และโจทก์ได้ฟ้องนายสุนทร วิบูลย์พันธุ์ จำเลย เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๒๙๑/๒๕๕๕ ศาลสั่งรวมการพิจารณาโดยให้เรียกจำเลยในคดีหลังว่าจำเลยที่ ๑ ส่วนจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ในคดีแรกให้คงเรียกเช่นเดิม
จำเลยที่ ๓ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลจังหวัดสงขลาพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้แม้จำเลยที่ ๓ เป็นหน่วยงานทางปกครอง แต่ตามคำฟ้องของโจทก์อ้างว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตาม ส.ค. ๑ เลขที่ ๒๑๘ หมู่ที่ ๖ ตำบลชุมพล อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา เนื้อที่ดินรวม ๗ ไร่ ๑ งาน ๔๐ ตารางวา โดยบิดาโจทก์ยกที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์มาประมาณ ๓๐ ปี หลังจากรับมอบ โจทก์เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยเข้าทำสวน ปลูกต้นไม้ โดยไม่มีผู้ใดโต้แย้ง จำเลยที่ ๒ ให้การว่า โจทก์ไม่เคยเข้าทำประโยชน์หรือใช้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท โจทก์จึงไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์สำหรับประชาชนใช้ร่วมกัน จำเลยที่ ๓ ให้การว่า โจทก์ไม่เคยเข้าทำประโยชน์หรือใช้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท โจทก์จึงไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จำเลยที่ ๓ จึงไม่อาจดำเนินการออกโฉนดที่ดินให้เต็มเนื้อที่คำขอโจทก์ได้ คดีนี้จึงเป็นกรณีที่โจทก์กับจำเลยทั้งสามโต้แย้งกันเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ซึ่งการที่ศาลจะมีคำพิพากษาตามที่โจทก์ขอได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของโจทก์หรือที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่างคู่กรณี อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองสงขลาพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสงขลา สาขาสทิงพระ เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๓ ไม่ออกโฉนดที่ดินให้โจทก์ตามคำขอ โดยโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตาม ส.ค. ๑ เลขที่ ๒๑๘ เนื้อที่ดินรวม ๗ ไร่ ๑ งาน ๔๐ ตารางวา แต่เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๓ แจ้งโจทก์ว่าสามารถออกโฉนดแก่โจทก์เป็นเนื้อที่ได้เพียง ๒ งาน การออกโฉนดที่ดินตามมาตรา ๕๙ และมาตรา ๖๐ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายที่มีผลกระทบต่อสิทธิหน้าที่ของบุคคล การออกโฉนดที่ดินดังกล่าว จึงเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ คำสั่งของเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๓ ที่ปฏิเสธไม่ออกโฉนดที่ดินให้โจทก์ครบตามคำขอเป็นการใช้อำนาจของเจ้าพนักงานที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน จึงเป็นคำสั่งทางปกครอง เมื่อโจทก์อ้างว่าครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวมาประมาณ ๓๐ ปี โจทก์จึงได้รับความเสียหายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๓ เมื่อโจทก์ฟ้องว่าคำสั่งทางปกครองไม่ชอบด้วยกฎหมายและมีคำขอให้ศาลพิพากษาแสดงสิทธิหรือกรรมสิทธิ์ในที่พิพาท และให้จำเลยที่ ๓ ออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ครบตามคำขอ กรณีจึงเป็นคดีพิพาทตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งศาลปกครองมีอำนาจกำหนดคำบังคับเพื่อแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อนหรือเสียหายแก่โจทก์ตามคำขอได้ ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว สำหรับประเด็นปัญหาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ว่าผู้ใดเป็นผู้มีสิทธิครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทนั้น เป็นประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลจะต้องพิจารณาในเนื้อหาของคดี อันเป็นเพียงประเด็นปัญหาย่อยหนึ่งในหลายประเด็นปัญหาที่จะพิจารณา และแม้ว่าการพิจารณาว่าโจทก์หรือจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ผู้ใดเป็นผู้มีสิทธิครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทดังกล่าวจะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือประมวลกฎหมายที่ดินก็ตาม แต่การพิจารณาในปัญหาดังกล่าวก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลใด อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติใดห้ามศาลปกครองมิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ หรือมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกำหนดให้เป็นอำนาจเฉพาะศาลหนึ่งศาลใดเท่านั้นที่จะนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ ศาลปกครองจึงอาจนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้เช่นเดียวกัน นอกจากนั้นมาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินมีผลผูกพันบุคคลภายนอก คู่กรณีที่เกี่ยวข้องอาจอ้างกับบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกจะมีสิทธิดีกว่า อันเป็นบทบัญญัติที่ยืนยันให้เห็นว่าศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินและนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาวินิจฉัยข้อพิพาทในคดีได้

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เป็นเอกชน และจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ อ้างว่า โจทก์เป็นเจ้าของและครอบครองที่ดิน ส.ค. ๑ ต่อมา โจทก์ยื่นคำร้องขอออกโฉนดที่ดินต่อเจ้าพนักงานที่ดิน แต่จำเลยที่ ๑ คัดค้านการออกโฉนดที่ดินโดยอ้างว่า โจทก์นำชี้รังวัดรุกล้ำที่ดินของจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ คัดค้านว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นที่สาธารณประโยชน์ ซึ่งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ความเห็นว่า ไม่มีเอกสารใดชี้ชัดว่าเป็นที่สาธารณประโยชน์ ต่อมาเจ้าพนักงานที่ดินของจำเลยที่ ๓ แจ้งว่าสามารถออกโฉนดให้แก่โจทก์ด้านทิศตะวันตกได้เพียง ๒ งาน ส่วนที่เหลือไม่สามารถออกโฉนดให้ได้ เนื่องจากโจทก์ไม่ได้เข้าครอบครองและทำประโยชน์ การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ขอให้พิพากษาว่าที่ดินตาม ส.ค. ๑ เป็นที่ดินของโจทก์ ให้จำเลยที่ ๑ ถอนคำคัดค้านต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ให้จำเลยที่ ๒ ถอนเรื่องร้องเรียนจากอำเภอสทิงพระ และห้ามจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เกี่ยวข้องกับที่พิพาท กับให้จำเลยที่ ๓ ออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ จำเลยที่ ๒ ให้การว่า ที่พิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ ส่วนจำเลยที่ ๓ ให้การว่า บิดาโจทก์ปล่อยให้ที่ดินบางส่วนเป็นที่รกร้างว่างเปล่าจนเกินกำหนด ๓ ปี ที่พิพาทจึงยังคงเป็นที่ดินของรัฐตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๖ (๑) โจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดินต่อจากบิดาจึงไม่อาจอ้างสิทธิในที่ดินพิพาทได้ และโจทก์ยังปล่อยให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่าตลอดมา ที่พิพาทจึงยังคงเป็นที่ดินของรัฐตามมาตรา ๖ (๑) แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ไม่สามารถออกโฉนดที่ดินให้เต็มเนื้อที่ตามคำขอของโจทก์ได้ ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า คดีนี้แม้ว่าโจทก์จะมีคำขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เกี่ยวข้องกับที่พิพาท และโดยเฉพาะขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ ถอนคำคัดค้านการออกโฉนดที่ดินของโจทก์ เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของโจทก์ที่ใช้สิทธิทางศาลก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินที่โจทก์กล่าวอ้างเป็นสำคัญ ซึ่งการที่จำเลยที่ ๑ คัดค้านการออกโฉนดที่ดินก็เป็นการโต้แย้งสิทธิในที่ดินตาม ส.ค. ๑ ของโจทก์ในการที่จะขอให้เจ้าพนักงานที่ดินออกเอกสารสิทธิเป็นโฉนดที่ดินให้ได้ การที่จำเลยที่ ๑ ผู้คัดค้านจะเป็นเอกชนผู้มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดิน แต่ในการออกโฉนดที่ดินของเจ้าพนักงานที่ดินก็ย่อมเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดเพื่อให้ผู้มีสิทธิในที่ดินที่แท้จริงได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายไม่ว่าผู้คัดค้านจะเป็นเอกชนหรือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ตาม ดังนั้น การที่ศาลจะพิพากษาหรือมีคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้ ก็จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินซึ่งโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่ดินของจำเลยที่ ๑ หรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาในประเด็นอื่นต่อไป คดีนี้จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนางแหม ตุละ โจทก์ นายสุนทร วิบูลย์พันธ์ ที่ ๑ นายสุนทร ณ พัทลุง ที่ ๒ กรมที่ดิน ที่ ๓ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท กฤษฎา เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(กฤษฎา เจริญพานิช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share