คำวินิจฉัยที่ 126/2556

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่จำเลยเป็นบริษัทมหาชนจำกัดที่แปรรูปมาจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยตาม พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๔๒ มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมทุกชนิด อันเป็นบริการสาธารณะด้านการสื่อสารโทรคมนาคมของรัฐ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ โจทก์จำเลยทำสัญญาร่วมลงทุนจัดตั้งโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงตามเส้นทางรถไฟ เพื่อเป็นโครงข่ายวงจรทางไกลรองรับการขยายหมายเลขโทรศัพท์และเป็นข่ายสำรองฉุกเฉินของจำเลย จึงเป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการจัดทำบริการสาธารณะด้านการสื่อสารโทรคมนาคมให้บรรลุผล สัญญาร่วมลงทุนจัดตั้งโครงข่ายเคเบิลใยแก้วจึงเป็นสัญญาทางปกครอง ส่วนสัญญาพิพาทในคดีนี้เป็นสัญญาที่จำเลยว่าจ้างโจทก์ทำการดูแลซ่อมบำรุงรักษาโครงข่ายเคเบิลใยแก้วเป็นสัญญาที่เกี่ยวเนื่องกับสัญญาร่วมลงทุน ซึ่งเป็นสัญญาหลัก สัญญาพิพาทจึงเป็นสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน

ย่อยาว

สำเนา

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๒๖/๒๕๕๖

วันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๖

เรื่อง เขตอำนาจศาลที่เกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔)

ศาลแพ่ง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๕๔ บริษัทคอม – ลิ้งค์ จำกัด โจทก์ ยื่นฟ้องบริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) จำเลย ต่อศาลแพ่ง เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๓๖๔๙/๒๕๕๔ ความว่า เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๓๓ โจทก์และจำเลยทำสัญญาร่วมลงทุนจัดตั้งโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงตามเส้นทางรถไฟ (Fibre Optic Cable Transmission System) เพื่อเป็นข่ายรองรับวงจรทางไกล และเป็นข่ายสำรองฉุกเฉินของจำเลย เพื่อให้การรถไฟแห่งประเทศไทยใช้เป็นระบบสื่อสัญญาณควบคุมการเดินรถและเป็นระบบโทรคมนาคมสำหรับการบริหารงานภายในของการรถไฟแห่งประเทศไทย มีกำหนดเวลา ๒๐ ปี นับแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๓๔ โดยโจทก์เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการลงทุนทั้งหมด เป็นผู้จัดหาอุปกรณ์โครงข่ายทำการก่อสร้างและติดตั้ง รวมทั้งการให้บริการโครงข่ายและให้บรรดาเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ตลอดจนทรัพย์สินอื่นๆ ที่โจทก์ได้กระทำขึ้นหรือจัดหามาไว้สำหรับดำเนินการตามสัญญาตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยทันทีที่ติดตั้งเสร็จเรียบร้อยและทดสอบตรวจรับแล้ว และโจทก์มีหน้าที่บำรุงรักษาให้อยู่ในสภาพใช้การได้ดีตลอดระยะเวลา ๑๕ ปี นับแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๓๔ โดยจำเลยตกลงแบ่งรายได้จากการให้บริการโครงข่ายเคเบิลใยแก้วให้แก่โจทก์เป็นรายปีตามอัตราส่วนของรายได้ตามเงื่อนไขที่กำหนดในสัญญา ก่อนที่โจทก์จะหมดหน้าที่ในการดูแลและบำรุงรักษาตามสัญญาร่วมลงทุน จำเลยได้ตกลงทำสัญญาซ่อมบำรุงจัดหาอุปกรณ์โครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงตามเส้นทางรถไฟกับโจทก์ โดยว่าจ้างให้โจทก์ทำการดูแลตรวจซ่อมบำรุงรักษาโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสง ตลอดจนทรัพย์สินอื่นๆ เป็นระยะเวลา ๕ ปี นับแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๔๙ หลังจากทำสัญญากันแล้วจำเลยชำระค่าจ้างให้แก่โจทก์ตลอดมา จนกระทั่ง ๕ เดือนสุดท้ายของอายุสัญญา จำเลยไม่ยอมชำระค่าจ้างให้แก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าจ้างจำนวน ๑๑๖,๔๐๘,๒๖๑.๕๙ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี จากต้นเงิน๑๑๒,๐๔๔,๑๐๘.๘๒ บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยรับผิดชอบค่าธรรมเนียมการออกหนังสือค้ำประกันแก่ธนาคารจนกว่าจะคืนโจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาซ่อมบำรุง โดยมิได้จัดให้ช่างผู้มีความรู้ความชำนาญมาตรวจสอบบำรุง ทำให้ Sever ไม่สามารถใช้งานได้ การซ่อมบำรุงรักษาส่วนอุปกรณ์มีค่า Loss สูงเกินค่ามาตรฐาน อุปกรณ์และทรัพย์สินบางส่วนอยู่ในสภาพที่ไม่เหมาะสม สูญหายหรือเสียหายจนใช้การไม่ได้ ซึ่งจำเลยได้แจ้งให้โจทก์แก้ไขปรับปรุงแล้ว แต่โจทก์ไม่ดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องตามสัญญา โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระค่าเสียหาย และค่าธรรมเนียมในการออกหนังสือค้ำประกันธนาคาร ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า สัญญาร่วมลงทุนและสัญญาซ่อมบำรุงเกี่ยวเนื่องกันตามข้อ ๑๖ ของสัญญาซ่อมบำรุงถือเป็นกิจการที่หน่วยงานของรัฐซึ่งมีหน้าที่ในการจัดดำเนินการและนำมาซึ่งความเจริญของกิจการโทรศัพท์ เพื่อประโยชน์แห่งรัฐและประชาชนจัดทำบริการสาธารณะให้บรรลุผล และเป็นกิจการสาธารณูปโภค สัญญาทั้งสองฉบับจึงเป็นสัญญาทางปกครอง ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้จำเลยเป็นหน่วยงานทางปกครอง และสัญญาว่าจ้างบำรุงรักษาโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงตามเส้นทางรถไฟสืบเนื่องมาจากสัญญาร่วมลงทุนโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงตามเส้นทางรถไฟ ระหว่างคู่สัญญาสามฝ่าย คือ โจทก์ จำเลย และการรถไฟแห่งประเทศไทยอันมีลักษณะเป็นสัญญาที่หน่วยงานทางปกครองมอบให้เอกชนดำเนินการจัดสร้างโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงตามเส้นทางรถไฟเพื่อใช้ในกิจการบริการสาธารณะอันทำให้พิจารณาได้ว่าสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาทางปกครองตามนัยมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ก็ตาม แต่กรณีพิพาทคดีนี้เกี่ยวกับการที่โจทก์อ้างว่าจำเลยผิดนัดสัญญาไม่ชำระเงินค่าจ้างซ่อมบำรุงรักษาโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงตามเส้นทางรถไฟ ฉบับลงวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๔๘ ซึ่งเกิดจากการตกลงกันโดยปกติธรรมดาระหว่างคู่สัญญาโดยมุ่งผูกพันด้วยใจสมัครบนพื้นฐานแห่งความเสมอภาค และข้อสัญญาไม่ปรากฏว่ามีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาให้จัดทำบริการสาธารณะหรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติโดยตรงแต่อย่างใด จึงเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องในทางแพ่งทั่วไป มิใช่ข้อพิพาทตามสัญญาทางปกครองอันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง คดีพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยในคดีนี้ จึงเป็นคดีพิพาทในทางแพ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้จำเลยเป็นหน่วยงานทางปกครอง โดยสัญญาฉบับแรกเป็นสัญญาร่วมลงทุนจัดตั้งโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงตามเส้นทางรถไฟระหว่างโจทก์ จำเลย และการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นโครงข่ายวงจรทางไกลรองรับการขยายหมายเลขโทรศัพท์ประจำที่ให้บริการโทรศัพท์แก่ประชาชนและเป็นข่ายสำรองฉุกเฉินของจำเลยที่ก่อสร้างในที่ดินของการรถไฟแห่งประทศไทย เพื่อให้การรถไฟแห่งประเทศไทยใช้เป็นระบบสื่อสัญญาณควบคุมการเดินรถและเป็นระบบโทรคมนาคมสำหรับการบริหารงานภายในของการรถไฟแห่งประเทศไทย มีกำหนดเวลา ๒๐ ปี ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๓๔ ถึงวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๔ โดยเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ที่โจทก์ทำขึ้นและหามาไว้สำหรับโครงข่ายเคเบิลใยแก้วตามสัญญาให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย และโจทก์จะต้องดูแลตรวจซ่อมบำรุงรักษาเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ตลอดจนทรัพย์สินอื่นๆ เป็นระยะเวลา ๑๕ ปี โดยมีภาระตรวจซ่อมบำรุงรักษา จนถึงวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๔ สัญญาฉบับนี้จึงเป็นสัญญาที่หน่วยงานทางปกครองมอบหมายให้เอกชนร่วมจัดทำบริการสาธารณะ อันเป็นสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ส่วนสัญญาฉบับที่สองเป็นสัญญาที่จำเลยว่าจ้างโจทก์ทำการดูแลซ่อมบำรุงรักษาโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสง เครื่องมือ และอุปกรณ์ต่างๆ ตลอดจนทรัพย์สินอื่นๆ ในระยะเวลา ๕ ปี สุดท้ายของสัญญาร่วมลงทุนจัดตั้งโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงตามเส้นทางรถไฟ ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๔๙ ถึงวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๔ โดยโจทก์ต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการตรวจซ่อมบำรุงรักษา แก้ไขเปลี่ยนแปลงที่จำเป็น ตลอดจนการจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการดูแลตรวจซ่อมบำรุงรักษาและทดแทนส่วนที่ชำรุดเสียหายเพื่อให้โครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงที่จำเลยใช้ในการให้บริการโทรศัพท์แก่ประชาชนอยู่ในสภาพที่ใช้การได้ดีเช่นเดียวกับสัญญาฉบับแรก สัญญาฉบับนี้ จึงเป็นสัญญาที่จำเลยซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินกิจการโทรศัพท์รวมถึงการซ่อมบำรุงเสาและสายโทรศัพท์ หรืออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องในกิจการโทรศัพท์มอบหมายให้โจทก์ซึ่งเป็นเอกชนดำเนินการบำรุงรักษาและซ่อมแซมโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสง เครื่องมือ และอุปกรณ์ต่างๆ ของจำเลยให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ดีตลอดเวลาต่อเนื่องจากสัญญาฉบับแรก เพื่อให้การจัดทำบริการสาธารณะของจำเลยมีความต่อเนื่องและบรรลุผล อันเป็นสัญญาที่ให้โจทก์เข้าร่วมจัดทำบริการสาธารณะ สัญญาฉบับที่สองที่พิพาทในคดีนี้จึงเป็นสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ การที่ศาลจะพิพากษาว่าฝ่ายใดเป็นผู้ที่จะต้องรับผิดตามฟ้องหรืออีกนัยหนึ่งคือ เป็นผู้รับผิดชอบในค่าซ่อมบำรุง และค่าจัดหาอุปกรณ์โครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงตามเส้นทางรถไฟ นั้น ศาลจะต้องพิจารณาตามสัญญาดังกล่าวข้างต้นทั้งสองฉบับ ว่าใครเป็นผู้ที่จะต้องรับผิดตามสัญญา ถึงแม้ว่าเงื่อนไขในการรับภาระในการซ่อมบำรุงในระยะแรกจะสิ้นสุดก่อนระยะเวลาตามสัญญาร่วมทุนก็ตาม อีกทั้งข้อ ๑๖ ของสัญญาฉบับที่สองยังกำหนดให้นำข้อความตามสัญญาฉบับแรกในส่วนที่เกี่ยวกับการดูแลตรวจซ่อมบำรุงรักษาโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงมาบังคับใช้ คดีนี้กรณีพิพาทที่แท้จริงจึงเป็นผลสืบเนื่องมาจากสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าว จึงมีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครองทั้งด้านรูปแบบและเนื้อหา ดังนั้น เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำบังคับให้จำเลยชำระค่าจ้างที่ค้างชำระและค่าธรรมเนียมการออกหนังสือค้ำประกันของโจทก์ตามสัญญาดังกล่าว จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ จำเลยเป็นบริษัทมหาชนจำกัดที่แปรรูปมาจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๔๒ มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมทุกชนิด พร้อมโครงข่ายโทรคมนาคมผ่านบริการต่างๆ ซึ่งรวมถึงการให้บริการเกี่ยวกับกิจการโทรศัพท์ อันเป็นบริการสาธารณะด้านการสื่อสารโทรคมนาคมของรัฐ จึงเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินกิจการทางปกครองซึ่งถือเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ โจทก์จำเลยทำสัญญาร่วมลงทุนจัดตั้งโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงตามเส้นทางรถไฟ เพื่อเป็นโครงข่ายวงจรทางไกลรองรับการขยายหมายเลขโทรศัพท์และเป็นข่ายสำรองฉุกเฉินของจำเลย โดยโจทก์เป็นผู้จัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ มาติดตั้ง สัญญาดังกล่าวมีกำหนด ๒๐ ปี แต่ตามข้อสัญญากำหนดให้โจทก์มีหน้าที่ดูแลบำรุงรักษาระบบเพียง ๑๕ ปี เท่านั้น ภายหลังโจทก์จำเลยได้ดำเนินการตามสัญญามาจนถึงปีที่ ๑๔ จำเลยจึงทำสัญญาพิพาทว่าจ้างโจทก์ให้บำรุงรักษาต่ออีกเป็นเวลา ๕ ปี จึงมีประเด็นต้องพิจารณาว่า สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาทางแพ่งหรือสัญญาทางปกครอง เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง และมาตรา ๓ บัญญัติให้สัญญาทางปกครองหมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ เมื่อสัญญาร่วมลงทุนจัดตั้งโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงตามเส้นทางรถไฟอันเป็นสัญญาหลักและเป็นสัญญาที่มีคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง มีสาระสำคัญเพื่อเป็นข่ายรองรับวงจรทางไกลรองรับการขยายหมายเลขโทรศัพท์ประจำที่ให้บริการโทรศัพท์แก่ประชาชนและเป็นข่ายสำรองฉุกเฉินของจำเลย ตามภารกิจในการให้บริการเกี่ยวกับกิจการโทรศัพท์ของจำเลย ดังนั้น โครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงตามเส้นทางรถไฟ จึงเป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการจัดทำบริการสาธารณะด้านการสื่อสารโทรคมนาคมให้บรรลุผล สัญญาร่วมลงทุนจัดตั้งโครงข่ายเคเบิลใยแก้วดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางปกครอง ส่วนสัญญาพิพาทในคดีนี้เป็นสัญญาที่จำเลยว่าจ้างโจทก์ทำการดูแลซ่อมบำรุงรักษาโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสง เครื่องมือ และอุปกรณ์ต่างๆ ตลอดจนทรัพย์สินอื่นๆ ในระยะเวลา ๕ ปี สุดท้ายของสัญญาร่วมลงทุนดังกล่าว โดยโจทก์ต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการตรวจซ่อมบำรุงรักษา แก้ไขเปลี่ยนแปลงที่จำเป็น ตลอดจนการจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการดูแลตรวจซ่อมบำรุงรักษาและทดแทนส่วนที่ชำรุดเสียหายเพื่อให้โครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงที่จำเลยใช้ในการให้บริการโทรศัพท์แก่ประชาชนอยู่ในสภาพที่ใช้การได้ดีเช่นเดียวกับสัญญาร่วมลงทุน โดยข้อ ๑๖ ของสัญญาพิพาทกำหนดให้นำข้อความตามสัญญาร่วมลงทุนในส่วนที่เกี่ยวกับการดูแลตรวจซ่อมบำรุงรักษาโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงมาบังคับใช้ และเป็นสัญญาที่เกี่ยวเนื่องกับสัญญาร่วมลงทุนซึ่งเป็นสัญญาหลัก สัญญาพิพาทจึงเป็นสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างบริษัทคอม – ลิ้งค์ จำกัด โจทก์ บริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท กฤษฎา เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(กฤษฎา เจริญพานิช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share