แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
เอกชนเจ้าของรถยนต์ (แท็กซี่) ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการถูกกรมการขนส่งทางบก ไม่ยอมจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ (แท็กซี่) ให้ โดยอ้างว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้มีกรรมสิทธิ์ เพราะเป็นทรัพย์มรดกของผู้มีชื่อต้องให้ทายาทของผู้มีชื่อดำเนินการ ขอให้มีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ในสมุดคู่มือจดทะเบียนมาเป็นชื่อโจทก์ หรือตามคำสั่งของโจทก์ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย กับค่าขาดประโยชน์ เห็นว่า การจดทะเบียนรถยนต์ไม่ใช่หลักฐานแห่งกรรมสิทธิ์ตามกฎหมายในอันที่จะเป็นการรับรองคุ้มครอง สิทธิในทรัพย์สินของบุคคลแต่อย่างใด เป็นเพียงหลักฐานที่กำหนดขึ้นเพื่อความสะดวกในการควบคุมการใช้รถและการเสียภาษีของเจ้าพนักงานเท่านั้น ซึ่งในการจดทะเบียนรถยนต์นายทะเบียนจะต้องดำเนินการไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอันเป็นการใช้อำนาจทางปกครอง เมื่อคดีนี้ไม่มีประเด็นพิพาทเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทระหว่างโจทก์กับทายาทของผู้มีชื่อ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงมีเพียงประเด็นเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของนายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดจำเลยที่ ๑ ว่ากระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๒๕/๒๕๕๖
วันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๖
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)
ศาลแพ่ง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๕๕ นายวรศักดิ์ พวงเดช โจทก์ ยื่นฟ้องกรมการขนส่งทางบก ที่ ๑ สำนักงานมาตรฐานงานทะเบียนและภาษีรถยนต์ ที่ ๒ จำเลย ต่อศาลแพ่ง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๑๕/๒๕๕๕ ความว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และเป็นผู้ครอบครองรถยนต์รับจ้าง (แท็กซี่มิเตอร์) ประเภทบุคคลสีเขียวเหลือง โดยซื้อมาจากผู้มีชื่อ มีวัตถุประสงค์ให้นายอำนวย กุยศรีกุล ใช้เป็นรถรับจ้างและจดทะเบียนให้นายอำนวยเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ตามระเบียบของจำเลยทั้งสองที่กำหนดให้ผู้มีใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะเท่านั้นที่จะจดทะเบียนรถรับจ้างได้ โจทก์รับรถยนต์พิพาทไว้ในครอบครองก่อนที่นายอำนวยจะถึงแก่กรรม ต่อมาเมื่อนายอำนวยถึงแก่กรรมโจทก์ตกลงขายรถยนต์พิพาทให้แก่นายเดชา บุญนะ โดยโจทก์และ นายเดชายื่นขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ต่อนายทะเบียนกรุงเทพมหานคร ผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ ๑ พร้อมทั้งแจ้งข้อเท็จจริงรวมทั้งพยานหลักฐานต่าง ๆ เกี่ยวกับการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ของโจทก์จน แจ้งชัดแล้วว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์จริง แต่จำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการให้โดยอ้างว่า รถยนต์พิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนายอำนวย และแนะนำให้ทายาทนายอำนวยมาดำเนินการแทน ต่อมาโจทก์มีหนังสือถึงจำเลยที่ ๑ ขอให้เปลี่ยนชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ในคู่มือจดทะเบียนรถอีก แต่จำเลยที่ ๑ เพิกเฉย และได้ให้จำเลยที่ ๒ มีหนังสือแจ้งโจทก์ว่าไม่สามารถจดทะเบียนให้แก่โจทก์ได้เนื่องจากรถยนต์พิพาทเป็นทรัพย์มรดกตามระเบียบของกรมการขนส่งทางบกฯ ข้อ ๓๖ อันเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ถูกต้องและโดยสุจริต เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองให้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ในสมุดคู่มือจดทะเบียนรถเป็นชื่อโจทก์ หรือนายเดชา บุญนะ หรือบุคคลหนึ่งบุคคลใดตามคำสั่งของโจทก์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย และค่าขาดประโยชน์แก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะโจทก์ไม่ได้เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาท โจทก์เพิ่งมาอ้างกรรมสิทธิ์หลังจากนายอำนวยผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ถึงแก่ความตาย ทั้งโจทก์ไม่ใช่ทายาทของนายอำนวย โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย เอกสารที่โจทก์นำมายื่นไม่สามารถยืนยันได้ว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ที่แท้จริง การโอนรถโดยการรับมรดกที่ไม่มีพินัยกรรม และไม่มีคำสั่งศาลแต่งตั้งผู้จัดการมรดกต้องปฏิบัติตามระเบียบกรมการขนส่งทางบกว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับทะเบียนและภาษีรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ พ.ศ. ๒๕๓๑ ข้อ ๓๔ และข้อ ๓๖ ที่กำหนดให้ทายาทของผู้ตายแสดงความจำนงขอรับโอน ซึ่งโจทก์ไม่ใช่ทายาทของผู้ตายและไม่ใช่ผู้มีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาท ทั้งรถยนต์พิพาทเป็นรถยนต์รับจ้าง (แท็กซี่) ซึ่งตามระเบียบกรมการขนส่งทางบกว่าด้วยการรับจดทะเบียนรถยนต์รับจ้าง (รถแท็กซี่) ในเขตกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๔๙ ข้อ ๖ และข้อ ๑๐ กำหนดให้บุคคลธรรมดาที่ประสงค์จะจดทะเบียนรถยนต์รับจ้างต้องยื่นคำขอต่อนายทะเบียนพร้อมหลักฐานใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะเพื่อให้ผู้ประกอบอาชีพขับรถยนต์รับจ้างสามารถเป็นเจ้าของรถยนต์รับจ้าง โจทก์ไม่ได้ประกอบอาชีพขับรถยนต์รับจ้าง หรือประกอบธุรกิจในรูปนิติบุคคลหรือสหกรณ์ โจทก์จึงไม่อาจเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาท การดำเนินการของจำเลยที่ ๑ ชอบด้วยระเบียบและกฎหมาย จึงไม่เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า มูลคดีนี้เกิดจากกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์รับจ้าง (แท็กซี่มิเตอร์) ประเภทบุคคลสีเขียวเหลืองแตกต่างไปจากใบคู่มือจดทะเบียนที่ระบุว่านายอำนวยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์และโจทก์ได้ทำคำขอให้จำเลยที่ ๑ ดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องหรือโอนรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่นายเดชาตามคำสั่งของโจทก์ หากแต่จำเลยที่ ๑ เห็นว่านายอำนวยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รถยนต์รับจ้าง (แท็กซี่มิเตอร์) ประเภทบุคคลสีเขียวเหลืองดังกล่าว เพราะมีชื่ออยู่ในใบคู่มือจดทะเบียน ดังนั้น การยื่นคำร้องของโจทก์เพื่อให้เปลี่ยนชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์เป็นชื่อโจทก์ในใบคู่มือจดทะเบียนหรือการโอนต่อไปให้แก่บุคคลภายนอกต้องกระทำตามกฎหมายว่าด้วยเรื่องมรดก ดังนั้นในเบื้องต้นการพิจารณา จึงต้องพิจารณาถึงกรรมสิทธิ์ที่แท้จริงเสียก่อนว่าเป็นของโจทก์หรือเป็นทรัพย์มรดกของนายอำนวย ซึ่งการวินิจฉัยในกรณีนี้อยู่ในเขตอำนาจพิจารณาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้จำเลยที่ ๑ เป็นหน่วยงานทางปกครอง จำเลยที่ ๒ เป็นหน่วยงานในสังกัดจำเลยที่ ๑ การจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อเจ้าของรถยนต์ในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์รับจ้าง (แท็กซี่) หรือการโอนรถยนต์รับจ้าง (แท็กซี่) เป็นการใช้อำนาจของนายทะเบียนที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแต่งตั้งตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. ๒๕๒๒ เพื่อจัดระเบียบและควบคุมการใช้รถยนต์ มิใช่การจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามนัยมาตรา ๑๗/๑ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. ๒๕๒๒ ที่บัญญัติว่า ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้มีชื่อเป็นเจ้าของในทะเบียนรถยนต์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ซึ่งการโอนรถที่จดทะเบียนแล้ว ผู้โอนและผู้รับโอนต้องแจ้งต่อนายทะเบียนภายในสิบห้าวันนับแต่วันโอน และการแจ้งให้เป็นไปตามระเบียบที่อธิบดีกรมการขนส่งทางบกกำหนด ทั้งนี้ ตามมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวประกอบกับระเบียบกรมการขนส่งทางบกว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับทะเบียนและภาษีรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ พ.ศ. ๒๕๓๑ และระเบียบกรมการขนส่งทางบกว่าด้วยการรับจดทะเบียนรถยนต์รับจ้าง (รถแท็กซี่) ในเขตกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๔๙ สำหรับการโอนรถโดยการรับมรดกที่ไม่มีพินัยกรรมและไม่มีคำสั่งศาลแต่งตั้งผู้จัดการมรดกนั้น ตามข้อ ๓๔ (๕) ประกอบกับข้อ ๓๖ ของระเบียบกรมการขนส่งทางบกว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับทะเบียนและภาษีรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ พ.ศ. ๒๕๓๑ กำหนดให้นายทะเบียนจะต้องตรวจสอบหลักฐานประกอบคำขอ ซึ่งประกอบด้วยใบคู่มือจดทะเบียนรถ สำเนาใบมรณะบัตรของเจ้าของมรดกและหลักฐานประจำตัวของผู้รับโอน เมื่อหลักฐานประกอบคำขอถูกต้องแล้ว นายทะเบียนจะต้องดำเนินการตรวจสอบรถ และจัดทำหนังสือไปยังเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองหรือพนักงานสอบสวนท้องที่ตามภูมิลำเนาของเจ้ามรดกเพื่อขอความร่วมมือในการสอบปากคำบรรดาทายาทของเจ้ามรดก พร้อมทั้งขอให้ดำเนินการประกาศรับโอนมรดกนั้น หากไม่อาจดำเนินการดังกล่าวได้ นายทะเบียนจะต้องแจ้งให้ผู้รับโอนยื่นคำร้องต่อศาลให้มีการแต่งตั้งผู้จัดการมรดก แล้วนำคำสั่งศาลมาเป็นหลักฐานประกอบการโอนรถก่อนที่นายทะเบียนจะดำเนินการบันทึกรายการโอนในทะเบียนรถและใบคู่มือจดทะเบียนรถตามคำขอโอนรถได้ ดังนั้น การที่นายทะเบียนต้องจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ในใบคู่มือจดทะเบียนรถหรือโอนรถยนต์รับจ้าง (แท็กซี่) ตามคำร้องหรือไม่ จะต้องดำเนินการตามบทบัญญัติกฎหมายว่าด้วยรถยนต์และระเบียบที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นการใช้อำนาจทางปกครองตามที่กฎหมายกำหนด จึงต้องเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของนายทะเบียนตามบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยรถยนต์อันเป็นการใช้อำนาจทางปกครองในลักษณะที่มีอำนาจเหนือเอกชน ทั้งนี้ หากนายทะเบียนเห็นว่ามีกรณีที่จะต้องจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ในใบคู่มือจดทะเบียนรถหรือโอนรถยนต์รับจ้าง (แท็กซี่) ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีผลกระทบต่อสิทธิในทรัพย์สินของบุคคล กรณีที่ศาลปกครองเข้าไปตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำดังกล่าวแล้วมีคำพิพากษาและคำบังคับตามมาตรา ๗๒ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ย่อมมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลเช่นกัน ซึ่งศาลปกครองมีอำนาจที่จะวินิจฉัยประเด็นเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินอันเป็นประเด็นที่ต้องพิจารณาในเบื้องต้นได้ตามมาตรา ๗๑ (๔) แล้วจึงพิจารณาความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครองของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานทางปกครองและมีคำพิพากษาหรือคำสั่งต่อไป อีกทั้งข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินไม่ใช่เกณฑ์ในการพิจารณาอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
เมื่อมูลเหตุแห่งการฟ้องคดีเกิดจากการที่โจทก์ได้มีคำร้องขอเปลี่ยนชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ (แท็กซี่) คันพิพาท ต่อนายทะเบียนกรุงเทพมหานคร แต่เจ้าหน้าที่ของจำเลยทั้งสองปฏิเสธไม่ดำเนินการให้ โดยอ้างว่ารถยนต์คันดังกล่าวเป็นทรัพย์มรดกของนายอำนวย โจทก์มิใช่ผู้มีกรรมสิทธิ์ต้องให้ทายาทของนายอำนวยดำเนินการแทน โจทก์เห็นว่าจำเลยทั้งสองกับพวกเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายซึ่งมีหน้าที่ต้องดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงรายการตามที่โจทก์ร้องขอ แต่จำเลยทั้งสองกับพวกไม่ทำการจดทะเบียนให้ เป็นการกระทำละเมิดทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงฟ้องขอให้มีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้จำเลย ทั้งสองจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ในสมุดคู่มือจดทะเบียนจากนายอำนวยเป็นชื่อโจทก์ หรือนายเดชาหรือบุคคลหนึ่งบุคคลใดตามคำสั่งของโจทก์ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย กับค่าขาดประโยชน์ให้แก่โจทก์ กรณีตามคำฟ้องและคำขอจึงเป็นการโต้แย้งการปฏิบัติหน้าที่ของนายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดจำเลยที่ ๑ ว่ากระทำการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย อันเป็นการกระทำละเมิดและเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐให้ต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ตามมาตรา ๕ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่นหรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง และจำเลยที่ ๒ หน่วยงานในสังกัดจำเลยที่ ๑ โดยตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่า โจทก์ยื่นคำร้องขอเปลี่ยนชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ (แท็กซี่) คันพิพาทต่อนายทะเบียนกรุงเทพมหานคร แต่เจ้าหน้าที่ของจำเลยทั้งสองไม่ทำการจดทะเบียนให้ โดยอ้างว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้มีกรรมสิทธิ์ เพราะเป็นทรัพย์มรดกของนายอำนวย ต้องให้ทายาทของนายอำนวยดำเนินการแทน เป็นการกระทำละเมิดทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้มีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ในสมุดคู่มือจดทะเบียนจากนายอำนวยเป็นชื่อโจทก์ หรือนายเดชาหรือบุคคลหนึ่งบุคคลใดตามคำสั่งของโจทก์ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย กับค่าขาดประโยชน์ให้แก่โจทก์ ส่วนจำเลยที่ ๑ ให้การว่า รถยนต์พิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนายอำนวย โจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ การโอนรถโดยการรับมรดกที่ไม่มีพินัยกรรม และไม่มีคำสั่งศาลแต่งตั้งผู้จัดการมรดกต้องปฏิบัติตามระเบียบและกฎหมาย ทั้งโจทก์ไม่ได้ประกอบอาชีพขับรถยนต์รับจ้าง จึงไม่อาจเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาท การดำเนินการของจำเลยที่ ๑ ชอบด้วยระเบียบและกฎหมาย จึงไม่เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า การจดทะเบียนรถยนต์ไม่ใช่หลักฐานแห่งกรรมสิทธิ์ตามกฎหมายในอันที่จะเป็นการรับรองคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลแต่อย่างใด เป็นเพียงหลักฐานที่กำหนดขึ้นเพื่อความสะดวกในการควบคุมการใช้รถและการเสียภาษีของเจ้าพนักงานเท่านั้น ซึ่งในการจดทะเบียนรถยนต์นายทะเบียนจะต้องดำเนินการไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอันเป็นการใช้อำนาจทางปกครอง เมื่อคดีนี้ไม่มีประเด็นพิพาทเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทระหว่างโจทก์กับทายาทของนายอำนวย ข้อพิพาทในคดีนี้จึงมีเพียงประเด็นเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของนายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดจำเลยที่ ๑ ว่ากระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายวรศักดิ์ พวงเดช โจทก์ กรมการขนส่งทางบก ที่ ๑ สำนักงานมาตรฐานงานทะเบียนและภาษีรถยนต์ ที่ ๒ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลเรือโท กฤษฎา เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(กฤษฎา เจริญพานิช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ