คำวินิจฉัย(คำสั่ง)ที่ 123/2556

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้พิจารณาชี้ขาดกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องที่ขอให้พิจารณาวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๗ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ และการมีคำสั่งให้บุคคลที่เกี่ยวข้องทำคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญเป็นการไม่ชอบ เห็นว่า คำร้องดังกล่าวเป็นการกล่าวอ้างว่าศาลรัฐธรรมนูญกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงมิใช่กรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลทหาร หรือศาลอื่น ที่คณะกรรมการจะมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดได้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๙๙ และพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ คำร้องดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๗ วรรคสอง ประกอบข้อบังคับคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ว่าด้วยวิธีการเสนอเรื่อง การพิจารณาและวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๔๔ ข้อ ๒๘ จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
(คำสั่ง) ที่ ๑๒๓/๒๕๕๖

วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๖

เรื่อง การยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องขอให้พิจารณาวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๗ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ


ระหว่าง

การยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการ
พันตำรวจตรี เสงี่ยม สำราญรัตน์ ยื่นคำร้องขอให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องขอให้พิจารณาวินิจฉัยว่า ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๗ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และมีคำสั่งให้บุคคลที่เกี่ยวข้องทำคำชี้แจงเป็นการไม่ชอบ อันเป็นกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๙๙

ข้อเท็จจริงในคดี
พันตำรวจตรี เสงี่ยม สำราญรัตน์ ยื่นคำร้องลงวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๕๖ ขอให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องของประธานรัฐสภาที่ส่งความเห็นของนายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกวุฒิภา (สรรหา) กับพวกรวม ๕๐ คน และนายวิรัตน์ กัลยาศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ กับพวกรวม ๖๒ คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๗ มาตรา ๒๗ ส่วนของสำนักงานศาลยุติธรรมและสำนักงานศาลปกครอง และมาตรา ๒๘ ส่วนของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติขัดแย้งหรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้อง ตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากการจัดสรรงบประมาณดังกล่าว คณะรัฐมนตรีได้ปรับลดงบประมาณจากที่หน่วยงานได้เสนอขอจัดสรร รวมทั้งในชั้นแปรญัตติของคณะกรรมาธิการ ไม่มีการเชิญหน่วยงานดังกล่าวร่วมหารือด้วย โดยศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งให้บุคคลที่เกี่ยวข้องทำคำชี้แจงต่อศาลในวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๖ ผู้ร้องเห็นว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องดังกล่าวเป็นการไม่ชอบ เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร มาตรา ๑๙๘ บัญญัติให้บรรดาศาลจะตั้งขึ้นได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติ มาตรา ๒๑๖ และมาตรา ๓๐๐ บัญญัติให้วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญเป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ในระหว่างที่ยังไม่มีกฎหมายดังกล่าว ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจออกข้อกำหนดเกี่ยวกับวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัยได้ แต่ต้องตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ แต่ในปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญและไม่มีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยกำหนดไว้ การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องดังกล่าวและมีคำสั่งให้บุคคลที่เกี่ยวข้องทำคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ จึงเป็นการไม่ชอบ และเป็นกรณีมีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๙๙ ขอให้รับคำร้องของผู้ร้องไว้พิจารณา

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คำร้องของพันตำรวจตรี เสงี่ยม สำราญรัตน์ ชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ หรือไม่
โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๙๙ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลทหาร หรือศาลอื่น ให้พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดโดยคณะกรรมการคณะหนึ่งซึ่งประกอบด้วยประธานศาลฎีกาเป็นประธาน ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานศาลอื่น และผู้ทรงคุณวุฒิอื่นอีกไม่เกินสี่คนตามที่กฎหมายบัญญัติ เป็นกรรมการ และวรรคสอง บัญญัติว่า หลักเกณฑ์การเสนอปัญหาตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้กำหนดหลักเกณฑ์การเสนอปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลไว้ ๓ ลักษณะ ได้แก่ กรณีมีปัญหาว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลใดตามมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) และมาตรา ๑๒ วรรคหนึ่งและวรรคสอง กรณีคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ถึงที่สุดระหว่างศาลขัดแย้งกันตามมาตรา ๑๔ และกรณีอื่นที่อำนาจหน้าที่ระหว่างศาลขัดแย้งกันตามมาตรา ๑๕ ดังนั้น คำร้องที่คณะกรรมการจะรับไว้พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดได้จึงต้องเป็นกรณีตามที่กฎหมายบัญญัติให้อำนาจไว้ กล่าวคือ จะต้องเป็นการขัดแย้งอำนาจหน้าที่กันระหว่างศาลแต่ละระบบ ศาลยุติธรรมกับศาลปกครอง ศาลปกครองกับศาลทหาร หรือศาลทหารกับศาลยุติธรรม การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้พิจารณาชี้ขาดกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องที่ขอให้พิจารณาวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๗ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ และการมีคำสั่งให้บุคคลที่เกี่ยวข้องทำคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญเป็นการไม่ชอบ ซึ่งเป็นการกล่าวอ้างว่าศาลรัฐธรรมนูญกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงมิใช่กรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลทหาร หรือศาลอื่น ที่คณะกรรมการจะมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดได้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๙๙ และพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ คำร้องดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒
จึงมีคำสั่งว่า คำร้องของพันตำรวจตรี เสงี่ยม สำราญรัตน์ ผู้ร้อง ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๗ วรรคสอง ประกอบข้อบังคับคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ว่าด้วยวิธีการเสนอเรื่อง การพิจารณาและวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๔๔ ข้อ ๒๘ ให้ยกคำร้อง

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท กฤษฎา เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(กฤษฎา เจริญพานิช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share