คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมจะมีอำนาจออกคำสั่งตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2512 มาตรา 36(3) ก็ต่อเมื่อโรงงานของผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานนั้นก่อให้เกิดความรำคาญหรืออันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าการปล่อยน้ำทิ้งของโรงงานของจำเลยไม่เคยก่อให้เกิด ความรำคาญหรืออันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้ใดเลย อธิบดีกรมโรงงานย่อมไม่มีอำนาจออกคำสั่งตามกฎหมายมาตรานี้ บังคับจำเลยให้จัดการแก้ไขและสร้างระบบขจัดน้ำทิ้ง แม้ออกมา ก็ย่อมไม่มีผลบังคับการที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้น จึงไม่เป็นความผิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้ตั้งโรงงานผลิตน้ำส้มสายชูได้ทำผิดกฎหมาย คือโรงงานของจำเลยไม่มีระบบขจัดน้ำทิ้ง และได้ระบายน้ำทิ้งออกจากโรงงานซึ่งน้ำทิ้งดังกล่าวอาจก่อให้เกิดเหตุเดือนร้อนรำคาญแก่ผู้อื่นได้ และต่อมาอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมอาศัยอำนาจตามมาตรา 36(3) แห่งพระราชบัญญัติโรงงานฯ ได้สั่งการให้จำเลยแก้ไขปรับปรุงโรงงานและสร้างระบบขจัดน้ำทิ้งตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฯ ภายในเวลากำหนด แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามอันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่ง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2512 มาตรา 36(3), 48 พระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2518 มาตรา 13 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโรงงานของจำเลยรบกวนทำความเดือดร้อนรำคาญให้แก่ชาวบ้านเกี่ยวกับน้ำทิ้งและไม่ปรากฏว่าน้ำทิ้งจากโรงงานของจำเลยก่ออันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินใด ๆ อธิบดีกรมโรงงานไม่มีอำนาจออกคำสั่งดังกล่าว การที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามจึงไม่เป็นความผิด พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาพิจารณาแล้วข้อเท็จจริงตามที่ศาลล่างฟังมาว่าโรงงานของจำเลยไม่มีระบบขจัดน้ำทิ้งตามแบบที่กระทรวงอุตสาหกรรมให้ความเห็นชอบอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้สั่งให้สร้างระบบขจัดน้ำทิ้งให้เสร็จเรียบร้อยภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2520 น้ำทิ้งที่ผ่านระบบขจัดน้ำทิ้งแล้วให้มีลักษณะตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 2 โดยให้จำเลยจัดแบบทำแปลนแผนผังระบบขจัดน้ำทิ้งส่งกรมโรงงานอุตสาหกรรมตรวจสอบเพื่อให้ความเห็นชอบภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2519 แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตาม โรงงานของจำเลยมีบ่อพักน้ำโสโครกอยู่แล้ว ไม่เคยรบกวนหรือทำความเดือดร้อนรำคาญให้แก่ชาวบ้านที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ ศาลฎีกาเห็นว่าตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2512 มาตรา 36(3) ที่ว่าพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานจัดการเปลี่ยนแปลงซ่อมแซมเกี่ยวกับโรงงานหรือเครื่องจักร หรือเกี่ยวกับการอื่นที่ก่อให้เกิดความรำคาญหรืออันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด มีความหมายว่าเมื่อโรงงานหรือเครื่องจักรหรือเกี่ยวกับการอื่น (เช่นการระบายน้ำทิ้งในกรณีคดีนี้) ของผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการโรงงาน ได้ก่อให้เกิดความรำคาญหรืออันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์ผู้อื่น พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจมีคำสั่งให้ผู้นั้นจัดการเปลี่ยนแปลงซ่อมแซมสิ่งนั้น ๆ ให้เรียบร้อยเพื่อไม่ก่อให้เกิดความรำคาญหรืออันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินอีกต่อไป เห็นได้ว่าอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมจะมีอำนาจออกคำสั่งตามกฎหมายมาตราดังกล่าวแก่จำเลยซึ่งเป็นผู้ได้รับอนุญาตประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งประกอบกิจการอุตสาหกรรมอยู่แล้วได้ต่อเมื่อโรงงานอุตสาหกรรมของจำเลยได้ก่อเหตุเดือดร้อนรำคาญหรืออันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นตามที่กฎหมายได้บัญญัติบังคับไว้เท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าการปล่อยน้ำทิ้งของโรงงานจำเลยไม่เคยก่อให้เกิดความรำคาญหรืออันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้ใดเลยเช่นนี้ อธิบดีกรมโรงงานย่อมไม่มีอำนาจออกคำสั่งตามกฎหมายมาตรานี้บังคับจำเลย แม้ออกมาก็ย่อมไม่มีผลบังคับการที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้น จึงไม่เป็นความผิดต่อกฎหมายที่โจทก์ขอมาให้ลงโทษ จึงลงโทษจำเลยไม่ได้ ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องชอบแล้ว

พิพากษายืน

Share