แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีที่โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเอกชนด้วยกันและจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองว่า โจทก์ครอบครองที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ โดยใช้ทำนาและมีหลักฐานการเสียภาษีบำรุงท้องที่ ภ.บ.ท. ๕ แต่ถูกจำเลยที่ ๒ ออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑ ก) ให้แก่จำเลยที่ ๑ ทับซ้อนกับที่ดินของโจทก์ อันเป็นการโต้แย้งสิทธิครอบครองและความเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทของโจทก์ จำเลยที่ ๑ ให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของที่ดินพิพาท ขอให้ยกฟ้องและห้ามมิให้โจทก์และบริวารรบกวนสิทธิครอบครองของจำเลยที่ ๑ ส่วนจำเลยที่ ๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๒ เป็นหน่วยงานสังกัดสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่า คดีนี้แม้มีประเด็นเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑ ก) ทับซ้อนกับที่ดินของโจทก์ แต่โจทก์ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่ง ให้เพิกถอนหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินดังกล่าวเฉพาะ ส่วนที่ทับซ้อนกับที่ดินของโจทก์กับห้ามจำเลยทั้งสองเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทของโจทก์ เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของโจทก์ในการใช้สิทธิทางศาลก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของโจทก์ การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือไม่เป็นสำคัญ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๓๐/๒๕๕๖
วันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๖
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลจังหวัดพิจิตร
ระหว่าง
ศาลปกครองพิษณุโลก
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดพิจิตรโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๕๕ นายธนู ทายะยัง โจทก์ ยื่นฟ้องนายทองปาน เยาวมาลย์ ที่ ๑ สำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดพิจิตร ที่ ๒ จำเลย ต่อศาลจังหวัดพิจิตร เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๖๒๐/๒๕๕๕ ความว่า โจทก์ครอบครองที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ ๑ แปลง เนื้อที่ประมาณ ๕ ไร่ อยู่ที่หมู่ที่ ๒ ตำบลหนองโสน อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร โดยใช้ทำนาและมีหลักฐานการเสียภาษีบำรุงท้องที่ ภ.บ.ท. ๕ มาตั้งแต่ปี ๒๕๓๓ เมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๔๗ จำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องให้จำเลยที่ ๒ ออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินโดยรวมเอาที่ดินของโจทก์ด้วย ต่อมาจำเลยที่ ๒ ออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑ ก) แปลงเลขที่ ๗๑ เนื้อที่ ๒๐ ไร่เศษ ให้แก่จำเลยที่ ๑ โดยทับซ้อนกับที่ดินของโจทก์อันเป็นการโต้แย้งสิทธิครอบครองและความเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทของโจทก์ ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑ ก) ดังกล่าวเฉพาะส่วนที่ทับซ้อนกับที่ดินของโจทก์กับห้ามจำเลยทั้งสองเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท
จำเลยที่ ๑ ให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของที่ดินพิพาท จำเลยที่ ๑ ครอบครองและทำประโยชน์ที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ปี ๒๕๒๔ ต่อมาปี ๒๕๒๗ จำเลยที่ ๑ ได้รับคัดเลือกจากคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดพิจิตรเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน แปลงเลขที่ ๗๑ เนื้อที่ ๕ ไร่ ๑๕ ตารางวา และในปี ๒๕๓๑ จำเลยที่ ๒ ได้ออกหนังสืออนุญาตให้จำเลยที่ ๑ เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน แปลงเลขที่ ๗๑ เนื้อที่ ๕ ไร่ ๑๕ ตารางวา จำเลยที่ ๑ ยินยอมให้โจทก์อาศัยทำประโยชน์ที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี ๒๕๓๓ ต่อมาต้นปี ๒๕๕๕ จำเลยที่ ๑ แจ้งให้โจทก์ออกไปจากที่ดินพิพาท โจทก์เพิกเฉย ขอให้ยกฟ้องและห้ามมิให้โจทก์และบริวารรบกวนสิทธิครอบครองของจำเลยที่ ๑ กับให้โจทก์ชำระค่าเสียหาย
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๒ เป็นหน่วยงานสังกัดสำนักงานการปฏิรูปที่ดิน เพื่อเกษตรกรรม และไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
ระหว่างพิจารณาศาลจังหวัดพิจิตรวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้นแล้วเห็นว่า จำเลยที่ ๒ สังกัดสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๒ มีฐานะเป็นนิติบุคคล โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ ๒
จำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑ ก) อันเป็นการโต้แย้งคำสั่งทางปกครอง คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดพิจิตรพิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินที่โจทก์และจำเลยต่างมีความมุ่งหมายในการฟ้องคดีเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองและคุ้มครองสิทธิในที่ดิน แม้โจทก์จะกล่าวอ้างว่า ได้รับความเสียหายจากการที่จำเลยที่ ๒ ออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑ ก) ทับที่ดินของโจทก์ ประกอบกับโจทก์และจำเลยยังโต้แย้งกัน เกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งตามคำขอได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือไม่เป็นสำคัญ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองพิษณุโลกพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยที่ ๒ จัดตั้งขึ้นตามมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๑๘ เป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักงาน การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตาม มาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และหนังสืออนุญาตให้จำเลยที่ ๑ เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑ ก) เป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ การฟ้องว่า จำเลยที่ ๒ ออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑ ก) โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และศาลปกครองมีอำนาจออกคำบังคับตามคำขอของโจทก์ได้ ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว สำหรับประเด็นปัญหาว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือไม่นั้น เป็นประเด็นข้อเท็จจริงที่ศาลจะต้องพิจารณาในเนื้อหาของคดี เป็นเพียงประเด็นปัญหาย่อยหนึ่งในหลายประเด็นปัญหาที่จะพิจารณาว่า การที่จำเลยที่ ๒ ออกหนังสืออนุญาตให้จำเลยที่ ๑ เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑ ก) ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และแม้การพิจารณาว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือไม่ จะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือประมวลกฎหมายที่ดินก็ตาม แต่การพิจารณาในปัญหาดังกล่าวก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลใด อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติใดห้ามศาลปกครองมิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแห่งคดีได้ หรือมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกำหนดให้เป็นอำนาจศาลหนึ่งศาลใดเท่านั้นที่จะนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ ศาลปกครองจึงนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้เช่นเดียวกัน นอกจากนั้น มาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินมีผลผูกพันบุคคลภายนอก คู่กรณีที่เกี่ยวข้องอาจอ้างกับบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกจะมีสิทธิดีกว่า อันเป็นบทบัญญัติยืนยันให้เห็นว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินและนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาวินิจฉัยข้อพิพาทในคดีนี้ได้ คดีนี้จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเอกชนด้วยกันและจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองว่า โจทก์ครอบครองที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ ๑ แปลง เนื้อที่ประมาณ ๕ ไร่เศษ โดยใช้ทำนาและมีหลักฐานการเสียภาษีบำรุงท้องที่ ภ.บ.ท. ๕ มาตั้งแต่ปี ๒๕๓๓ แต่ถูกจำเลยที่ ๒ ออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑ ก) ให้แก่จำเลยที่ ๑ ตามคำร้องขอทับซ้อนกับที่ดินของโจทก์ อันเป็นการโต้แย้งสิทธิครอบครองและความเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทของโจทก์ ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑ ก) ดังกล่าว เฉพาะส่วนที่ทับซ้อนกับที่ดินของโจทก์ กับห้ามจำเลยทั้งสองเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท ส่วนจำเลยที่ ๑ ให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของที่ดินพิพาท จำเลยที่ ๑ ครอบครองและทำประโยชน์ที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ปี ๒๕๒๔ แล้วได้รับคัดเลือกจากคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดพิจิตรเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน และจำเลยที่ ๒ ได้ออกหนังสืออนุญาตให้จำเลยที่ ๑ เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน จำเลยที่ ๑ ยินยอมให้โจทก์อาศัยทำประโยชน์ที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี ๒๕๓๓ ต่อมาต้นปี ๒๕๕๕ จำเลยที่ ๑ แจ้งให้โจทก์ออกไปจากที่ดินพิพาท โจทก์เพิกเฉย ขอให้ยกฟ้องและห้ามมิให้โจทก์และบริวารรบกวนสิทธิครอบครองของจำเลยที่ ๑ กับให้โจทก์ชำระค่าเสียหาย และจำเลยที่ ๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๒ เป็นหน่วยงานสังกัดสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่า คดีนี้แม้มีประเด็นเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑ ก) ทับซ้อนกับที่ดินของโจทก์ แต่โจทก์ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑ ก) ดังกล่าวเฉพาะ ส่วนที่ทับซ้อนกับที่ดินของโจทก์กับห้ามจำเลยทั้งสองเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทของโจทก์ เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของโจทก์ในการใช้สิทธิทางศาลก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของโจทก์ การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือไม่เป็นสำคัญ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายธนู ทายะยัง โจทก์ นายทองปาน เยาวมาลย์ ที่ ๑ สำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดพิจิตร ที่ ๒ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) นายดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลเรือโท กฤษฎา เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(กฤษฎา เจริญพานิช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ