คำวินิจฉัยที่ 131/2556

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีนี้ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครอง อ้างว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ ได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากเจ้าหน้าที่ในสังกัดผู้ถูกฟ้องคดีกระทำละเมิดโดยบุกรุกที่ดินและขุดรื้อถอนต้นปาล์มน้ำมันในที่ดิน ของผู้ฟ้องคดี ขอให้บังคับผู้ถูกฟ้องคดีในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวชดใช้ค่าเสียหาย ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ที่พิพาทเป็นของเรือนจำชั่วคราวทุ่งเขนโดยผู้ถูกฟ้องคดีได้รับอนุญาตให้ใช้ที่สาธารณประโยชน์ “ป่าทุ่งเขน” สำหรับก่อสร้างเรือนจำกลางสุราษฎร์ธานีแห่งใหม่ ที่พิพาทไม่ได้เป็นของผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้บุกรุกที่ดินแปลงดังกล่าว เห็นว่า คดีนี้แม้มีประเด็นเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำละเมิด ขอให้บังคับผู้ถูกฟ้องคดีในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวชดใช้ค่าเสียหาย แต่การที่ศาลจะพิพากษาหรือมีคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่พิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ผู้ถูกฟ้องคดีได้รับอนุญาตให้ใช้ในการก่อสร้างเรือนจำเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๓๑/๒๕๕๖

วันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๖

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองนครศรีธรรมราช
ระหว่าง
ศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองนครศรีธรรมราช โดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๕๕ นายธีรศักดิ์ ยวนเกิด ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องกรมราชทัณฑ์ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองนครศรีธรรมราช เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๙๒/๒๕๕๕ ความว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ ตั้งอยู่หมู่ ๓ ตำบลพลายวาส อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เนื้อที่ประมาณ ๒๓ ไร่ ตั้งแต่ปี ๒๕๔๐ และได้ชำระภาษีบำรุงท้องที่ต่อเนื่องมาโดยตลอด แต่เมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๔ เจ้าหน้าที่เรือนจำกลางสุราษฎร์ธานีปฏิบัติหน้าที่ที่เรือนจำชั่วคราวทุ่งเขนได้บุกรุกที่ดินและขุดรื้อถอนต้นปาล์มน้ำมันของผู้ฟ้องคดีโดยอ้างว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของเรือนจำชั่วคราวทุ่งเขน ผู้ฟ้องคดีแจ้งความไว้เป็นหลักฐานและมีหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อกระทรวงยุติธรรม แต่จนถึงวันฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดียังไม่ได้รับแจ้งผลการพิจารณา ขอให้บังคับผู้ถูกฟ้องคดีในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีเป็นเงิน ๑๕๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย
ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ที่พิพาทเป็นของเรือนจำชั่วคราวทุ่งเขน ไม่ได้เป็นของผู้ฟ้องคดี โดยผู้ถูกฟ้องคดีได้รับอนุญาตให้ใช้ที่สาธารณประโยชน์ “ป่าทุ่งเขน” สำหรับก่อสร้างเรือนจำกลางสุราษฎร์ธานีแห่งใหม่ แต่เนื่องจากยังไม่ได้รับงบประมาณ กระทรวงมหาดไทยจึงมีคำสั่งจัดตั้งเรือนจำชั่วคราวทุ่งเขนขึ้นบนที่ดินดังกล่าว จากการตรวจสอบพบว่าผู้ฟ้องคดีเป็นผู้บุกรุกเรือนจำชั่วคราวทุ่งเขนจึงแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีหยุดทำการบุกรุกพร้อมรายงานให้ผู้บัญชาการเรือนจำกลางสุราษฎร์ธานีและนายอำเภอกาญจนดิษฐ์ทราบ และให้คณะกรรมการตรวจสอบแนวหลักเขตของเรือนจำชั่วคราวทุ่งเขนดำเนินการตรวจสอบพื้นที่ดังกล่าว จากการตรวจสอบพบว่าหลักเขตในที่ดินครบตามตารางวัดของสำนักงานที่ดินและพบว่า ผู้ฟ้องคดีเตรียมการบุกรุกเพิ่มขึ้นโดยนำต้นปาล์มมาปลูกในที่พิพาท เรือนจำชั่วคราวทุ่งเขน จึงถอนต้นปาล์มไปเก็บรักษาเพื่อรอผู้ฟ้องคดีมารับคืนภายหลังและได้แจ้งเรื่องต่อพนักงานสอบสวนเพื่อเป็นหลักฐานแล้ว การปลูกต้นปาล์มลงในที่พิพาทและการเรียกร้องค่าเสียหายในคดีนี้เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดียื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองนครศรีธรรมราชพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่เจ้าหน้าที่เรือนจำกลางสุราษฎร์ธานีปฏิบัติหน้าที่ที่เรือนจำชั่วคราวทุ่งเขนได้ขุดรื้อถอนต้นปาล์มน้ำมันของผู้ฟ้องคดีออกจากพื้นที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ที่ดินสาธารณประโยชน์ “ป่าทุ่งเขน” สำหรับก่อสร้างเรือนจำกลางสุราษฎร์ธานีถือเป็นการเข้าไปดูแลรักษาพื้นที่ของเรือนจำ เป็นการกระทำทางปกครอง เมื่อผู้ฟ้องคดีอ้างว่าได้รับความเสียหายจากกการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อย่างไรก็ดี หากข้อพิพาทในคดีนี้มีประเด็นที่ต้องพิจารณาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินประเด็นปัญหาดังกล่าวเป็นเพียงประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงในคดีที่ใช้ประกอบการพิจารณาข้อหาการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ แม้การพิจารณาในเรื่องกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในทรัพย์สินจะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือประมวลกฎหมายที่ดินซึ่งเป็นบทกฎหมายทั่วไป แต่การนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาลักษณะคดีว่าอยู่ในอำนาจของศาลใด และศาลปกครองสามารถนำกฎหมาย ดังกล่าวมาใช้ในการวินิจฉัยข้อพิพาทในคดีนี้ได้ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานีพิจารณาแล้วเห็นว่า ในการพิจารณาการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีเป็นละเมิดหรือไม่ จะต้องชดใช้ค่าเสียหายเพียงใด ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่พิพาทดังกล่าวเป็นที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิครอบครองตามที่กล่าวอ้างหรือที่สาธารณประโยชน์เป็นสำคัญ มูลความแห่งคดีนี้จึงเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่พิพาทระหว่างคู่กรณี อันเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครอง อ้างว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ ได้รับความเสียหายอันเนื่อง มาจากเจ้าหน้าที่ในสังกัดผู้ถูกฟ้องคดีกระทำละเมิดโดยบุกรุกที่ดินและขุดรื้อถอนต้นปาล์มน้ำมันในที่ดินของผู้ฟ้องคดี ขอให้บังคับผู้ถูกฟ้องคดีในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวชดใช้ค่าเสียหาย ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ที่พิพาทเป็นของเรือนจำชั่วคราวทุ่งเขนโดยผู้ถูกฟ้องคดีได้รับอนุญาตให้ใช้ที่สาธารณประโยชน์ “ป่าทุ่งเขน” สำหรับก่อสร้างเรือนจำกลางสุราษฎร์ธานีแห่งใหม่ ที่พิพาทไม่ได้เป็นของผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้บุกรุกที่ดินแปลงดังกล่าว เห็นว่า คดีนี้แม้มีประเด็นเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำละเมิด ขอให้บังคับผู้ถูกฟ้องคดีในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวชดใช้ค่าเสียหาย แต่การที่ศาลจะพิพากษาหรือมีคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่พิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ผู้ถูกฟ้องคดีได้รับอนุญาตให้ใช้ในการก่อสร้างเรือนจำเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายธีรศักดิ์ ยวนเกิด ผู้ฟ้องคดี กรมราชทัณฑ์ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) นายดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท กฤษฎา เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(กฤษฎา เจริญพานิช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share