คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8283/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งสองผิดนัดไม่ชำระค่างวดตามกำหนด จำเลยได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทั้งสองชำระเงินค่างวดที่ 17 และที่ 18 ภายในวันที่ 20 มิถุนายน 2541 แล้ว นับว่าเป็นการให้โอกาสโจทก์ทั้งสองในการปฏิบัติตามสัญญา ถือเป็นการกำหนดเวลาให้คู่สัญญาชำระหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 แล้ว เมื่อโจทก์ทั้งสองไม่ชำระเงินค่างวดตามกำหนดรวม 2 งวดติดต่อกันและจำเลยได้บอกกล่าวให้โจทก์ทั้งสองปฏิบัติตามสัญญาแล้ว แต่โจทก์ทั้งสองเพิกเฉย จึงถือว่าโจทก์ทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญา สัญญาจองเพื่อจะซื้อขายที่ดินและโรงเรือนจึงเป็นอันเลิกกัน จำเลยมีสิทธิริบเงินมัดจำได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 378 (2) เมื่อจำเลยบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ทั้งสองเนื่องจากโจทก์ทั้งสองผิดสัญญาแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง แต่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองได้ชำระเงินค่าบ้านและที่ดินบางส่วนและเงินค่าอุปกรณ์เพิ่มเติมเพื่อตกแต่งบ้านให้แก่จำเลยก่อนที่สัญญาจะเลิกกัน การที่โจทก์ทั้งสองและจำเลยตกลงกันตามสัญญาว่าหากผู้จองผิดนัดไม่ชำระราคา ฯลฯ รวม 2 งวด ฯลฯ เมื่อผู้รับจองใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาแล้ว ให้ผู้รับจองมีสิทธิริบเงินมัดจำและเงินที่ผ่อนชำระแล้วได้ทั้งหมดทันที ฯลฯ นั้น ทำให้ข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับที่กำหนดเป็นจำนวนเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 และถ้าเบี้ยปรับสูงเกินส่วน ศาลก็มีอำนาจลดลงให้เหลือเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383
สำหรับเงินค่าอุปกรณ์เพิ่มเติมเพื่อตกแต่งบ้านนั้น มิใช่เงินมัดจำหรือเงินที่ผ่อนชำระตามสัญญา เงินจำนวนนี้จึงไม่ใช่เบี้ยปรับที่คู่สัญญาตกลงกันไว้ แต่เป็นเงินค่าการงานที่จำเลยได้กระทำให้ก่อนเลิกสัญญา ดังนั้น เมื่อสัญญาเลิกกันแล้ว โจทก์ทั้งสองจะต้องใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้นเพื่อให้จำเลยได้กลับสู่ฐานะดั่งที่เป็นอยู่เดิม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่งและวรรคสาม จำเลยจึงไม่ต้องคืนเงินนี้แก่โจทก์ทั้งสอง ส่วนเงินค่างวดเป็นเงินที่โจทก์ทั้งสองผ่อนชำระให้แก่จำเลย จึงเป็นเบี้ยปรับตามสัญญา เมื่อพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของจำเลยทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายแล้ว เห็นสมควรให้จำเลยริบเบี้ยปรับได้บางส่วน และที่โจทก์ขอให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องนั้น เมื่อโจทก์ทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญาจำเลยจึงริบเงินค่างวดที่โจทกทั้งสองชำระไปแล้วตามสัญญาได้ เมื่อศาลฎีกาพิพากษาลดเบี้ยปรับลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง ให้จำเลยคืนเบี้ยปรับบางส่วนให้แก่โจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองหามีสิทธิได้ดอกเบี้ยจากเบี้ยปรับที่ได้รับคืนนั้นไม่เพราะการที่จำเลยรับเงินค่างวดดังกล่าวไว้เป็นการใช้สิทธิโดยชอบ

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินจำนวน 802,930 บาท แก่โจทก์ทั้งสองพร้อมด้วยดอกบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน จำนวน 715,783 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2539 โจทก์ทั้งสองทำสัญญาจองเพื่อจะซื้อจะขายที่ดินและโรงเรือนแปลงเลขที่ เอ.339 และ เอ.340 เนื้อที่รวม 122 ตารางวา พร้อมบ้านเดี่ยว 2 ชั้น แบบคุ้มแก้ว ในราคารวม 5,296,000 บาท กับจำเลย โจทก์ทั้งสองชำระเงินจองให้จำเลย 120,000 บาท ส่วนที่เหลือผ่อนชำระ 19 งวด งวดละเดือน เดือนละ 36,400 บาท งวดสุดท้าย จำนวน 4,484,400 บาท โจทก์ทั้งสองชำระเงินค่างวดให้จำเลยแล้ว 16 งวด โจทก์ทั้งสองสั่งให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบรายการก่อสร้างโดยมีการชำระเงินค่าต่อเติมจำนวน 13,383 บาท ต่อมาโจทก์ทั้งสองขอผ่อนผันการชำระค่างวด จำเลยจึงแจ้งให้โจทก์ทั้งสองชำระเงินค่างวดประจำงวดที่ 17 และที่ 18 โจทก์ทั้งสองไม่ชำระเงินค่างวดดังกล่าว โจทก์ทั้งสองได้ขอผ่อนผันการชำระค่างวดและงดเว้นเงินค่าปรับอีก ต่อมาวันที่ 8 มกราคม 2542 โจทก์ทั้งสองได้บอกเลิกสัญญาและให้จำเลยคืนเงินที่โจทก์ทั้งสองได้ชำระไปแล้วทั้งหมดจำนวน 715,783 บาท โดยอ้างว่าจำเลยก่อสร้างบ้านไม่แล้วเสร็จตามกำหนดระยะเวลาที่ได้ให้ไว้ในคำโฆษณา แต่จำเลยเพิกเฉยไม่คืนเงินให้แก่โจทก์ทั้งสอง
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองในข้อแรกว่า ฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดสัญญา เห็นว่า โจทก์ทั้งสองค้างชำระค่างวดที่ 17, ที่ 18 โจทก์ที่ 1 จึงมีหนังสือผ่อนผันการชำระค่างวดโดยอ้างปัญหาทางการเงิน แต่จำเลยไม่ยินยอมพร้อมกับมีหนังสือทวงถามให้โจทก์ทั้งสองชำระเงินค่างวดที่ 17 ที่ 18 พร้อมเงินค่าปรับ แต่โจทก์ทั้งสองเพิกเฉย เมื่อพิจารณาตามสัญญาจองเพื่อจะซื้อจะขายที่ดินและโรงเรือน ข้อ 4 ที่ระบุว่า “หากผู้จองผิดนัดไม่ชำระราคา ฯลฯ ตามที่ได้กำหนดในข้อ 1 รวมสองงวดหรืองวดสุดท้ายหรือผิดสัญญานี้ข้อหนึ่งข้อใด ให้ถือว่าผู้จองตกเป็นฝ่ายผิดนัดผิดสัญญา ผู้รับจองมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้โดยมิพักต้องบอกกล่าวก่อน ฯลฯ” เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองผิดนัดไม่ชำระค่างวดตามกำหนด จำเลยได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทั้งสองชำระเงินค่างวดที่ 17, ที่ 18 ภายในวันที่ 20 มิถุนายน 2541 แล้ว นับว่าเป็นการให้โอกาสโจทก์ทั้งสองในการปฏิบัติตามสัญญา ถือเป็นการกำหนดเวลาให้คู่สัญญาชำระหนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 แล้ว การที่โจทก์ทั้งสองเชื่อว่าจำเลยสร้างบ้านไม่เสร็จตามกำหนดทั้งที่เหลือเวลาอีกประมาณ 2 เดือน เป็นเพียงความคาดคะเนของโจทก์ทั้งสองเพราะขณะนั้นจำเลยยังมิได้กระทำการอันใดอันเป็นการผิดสัญญาต่อโจทก์ทั้งสอง และจำเลยอาจเร่งสร้างบ้านให้เสร็จทันตามที่กำหนดไว้ในสัญญาก็ได้ เมื่อโจทก์ทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญาก่อนโดยไม่ชำระเงินค่างวดตามกำหนดรวม 2 งวด ติดต่อกันและจำเลยได้บอกกล่าวให้โจทก์ทั้งสองปฏิบัติตามสัญญาแล้ว แต่โจทก์ทั้งสองเพิกเฉย จึงถือว่าโจทก์ทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญา ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่โจทก์ทั้งสองฎีกาในข้อต่อมาว่า แม้โจทก์ทั้งสองจะผิดสัญญาจำเลยก็ริบได้เฉพาะเงินมัดจำจำนวน 120,000 บาทเท่านั้น ส่วนเงินค่างวดและเงินค่าอุปกรณ์เพิ่มเติมนั้นริบไม่ได้ โดยถือเป็นเพียงเบี้ยปรับที่ศาลอาจลดลงได้นั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์ทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญาและจำเลยบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ทั้งสองแล้ว สัญญาจองเพื่อจะซื้อขายที่ดินและโรงเรือนจึงเป็นอันเลิกกัน จำเลยจึงมีสิทธิริบเงินมัดจำจำนวน 120,000 บาทได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 378 (2) ส่วนตามสัญญา ข้อ 4 ที่ระบุว่า “หากผู้จองผิดนัดไม่ชำระราคา ฯลฯ รวมสองงวด ฯลฯ เมื่อผู้รับจองใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาแล้ว ให้ผู้รับจองมีสิทธิริบเงินมัดจำและเงินที่ผ่อนชำระแล้วได้ทั้งหมดทันที ฯลฯ นั้น” เห็นว่า เมื่อจำเลยบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ทั้งสองเนื่องจากโจทก์ทั้งสองผิดสัญญาแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่ง แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองได้ชำระเงินค่าบ้านและที่ดินบางส่วนรวม 16 งวด จำนวน 582,400 บาท และเงินค่าอุปกรณ์เพิ่มเติมเพื่อตกแต่งบ้านจำนวน 13,383 บาท ให้แก่จำเลยก่อนที่สัญญาจะเลิกกัน การที่โจทก์ทั้งสองและจำเลยตกลงกันตามข้อ 4 ของสัญญา ข้อตกลงดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับที่กำหนดเป็นจำนวนเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 และถ้าเบี้ยปรับสูงเกินส่วน ศาลก็มีอำนาจลดลงให้เหลือเป็นจำนวนพอสมควรได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 สำหรับเงินจำนวน 13,383 บาท ซึ่งเป็นเงินค่าอุปกรณ์เพิ่มเติมเพื่อตกแต่งบ้านนั้น เห็นว่า เงินดังกล่าวมิใช่เงินมัดจำหรือเงินที่ผ่อนชำระตามข้อ 4 ของสัญญา เงินจำนวนนี้จึงไม่ใช่เบี้ยปรับที่คู่สัญญาตกลงกันไว้ แต่เป็นเงินค่าการงานที่จำเลยได้กระทำให้ก่อนเลิกสัญญา ดังนั้น เมื่อสัญญาเลิกกันแล้ว โจทก์ทั้งสองจะต้องใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้นเพื่อให้จำเลยได้กลับสู่ฐานะดั่งที่เป็นอยู่เดิม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม เมื่อพิเคราะห์ใบสั่งงานและใบเสร็จรับเงินค่าต่อเติมบ้านจำนวน 13,383 บาท แล้ว คู่ความมิได้นำสืบว่าเงินจำนวนนี้ไม่ถูกต้อง จึงฟังได้ว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินค่าการงานที่จำเลยได้กระทำให้ก่อนเลิกสัญญา จำเลยจึงไม่ต้องคืนเงินนี้แก่โจทก์ทั้งสอง ส่วนเงินค่างวด จำนวน 582,400 บาท เป็นเงินที่โจทก์ทั้งสองผ่อนชำระให้แก่จำเลย จึงเป็นเบี้ยปรับตามข้อ 4 ของสัญญา จำเลยมิได้นำสืบให้เห็นว่า การที่โจทก์ทั้งสองไม่ชำระราคาส่วนที่เหลือและรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านจากจำเลย ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายมากน้อยเพียงใด บ้านและที่ดินตามสัญญายังเป็นของจำเลยอย่างสมบูรณ์ ทั้งได้ความจากพยานจำเลยตอบคำถามค้านทนายโจทก์ทั้งสองว่า จำเลยได้ขายที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่ผู้ซื้อรายใหม่แล้วในราคาที่ไม่น่าจะต่ำกว่าราคาที่ขายให้แก่โจทก์ทั้งสอง เมื่อพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของจำเลยทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายแล้ว เห็นสมควรให้จำเลยริบเบี้ยปรับได้ จำนวน 182,400 บาท ฎีกาของโจทก์ทั้งสองในข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วนและที่โจทก์ทั้งสองขอให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องนั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์ทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยจึงริบเงินค่างวดที่โจทก์ทั้งสองชำระไปแล้วตามข้อ 4 ของสัญญา เมื่อศาลฎีกาพิพากษาลดเบี้ยปรับลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง ให้จำเลยคืนเบี้ยปรับบางส่วนให้แก่โจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองหามีสิทธิได้ดอกเบี้ยจากเบี้ยปรับที่ได้รับคืนนั้นไม่เพราะการที่จำเลยริบเงินค่างวดดังกล่าวไว้เป็นการใช้สิทธิตามสัญญาโดยชอบ”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 400,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสองนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share