คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8011/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คู่สัญญาลงลายมือชื่อด้วยกันทั้งสองฝ่ายในสัญญาเช่าซื้อแม้เพียงแห่งเดียวก็มีผลเป็นสัญญาเช่าซื้อที่สมบูรณ์ตามกฎหมาย เมื่อโจทก์ผู้ให้เช่าซื้อและจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อได้ลงลายมือชื่อด้วยกันทั้งสองฝ่ายในหนังสือสัญญาต่อท้ายสัญญาเช่าซื้อที่ทำขึ้นพร้อมกับหนังสือสัญญาเช่าซื้อและคู่สัญญาตกลงให้สัญญาต่อท้ายสัญญาเช่าซื้อเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาเช่าซื้อทั้งหมด ย่อมเป็นสัญญาเช่าซื้อที่มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย มิใช่ว่าจะต้องลงลายมือชื่อด้วยกันทั้งสองฝ่ายในหนังสือสัญญาในส่วนของสัญญาเช่าซื้ออีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินตามสัญญาเช่าซื้อและค้ำประกันจำนวน 663,730.70 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า โจทก์มิได้ลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้อในฐานะผู้ให้เช่าซื้อตามเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 6 สัญญาเช่าซื้อจึงเป็นโมฆะ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่2 และที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 1 และที่ 2 สละข้อต่อสู้ตามคำให้การทั้งหมด โดยให้เหลือเพียงประเด็นเดียวว่า จำเลยทั้งสี่จะต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์หรือไม่เพียงใด
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 75,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีว่า สัญญาเช่าซื้อเป็นโมฆะหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า ผู้ให้เช่าซื้อไม่ได้ลงลายมือชื่อที่ท้ายหนังสือสัญญาในส่วนสัญญาเช่าซื้อ สัญญาเช่าซื้อจึงเป็นโมฆะนั้น ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบด้วยมาตรา 247 โดยศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ประเภทรถขุดไปจากโจทก์ตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาต่อท้ายสัญญาเช่าซื้อ สัญญาทั้งสองส่วนดังกล่าวทำขึ้นพร้อมกัน และสัญญาต่อท้ายสัญญาเช่าซื้อข้อ 1 ระบุว่าสัญญาต่อท้ายสัญญาเช่าซื้อเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาเช่าซื้อ ท้ายสัญญาเช่าซื้อมีแต่ผู้เช่าซื้อลงลายมือชื่อ แต่ผู้ให้เช่าซื้อไม่ได้ลงลายมือชื่อ ส่วนสัญญาต่อท้ายสัญญาเช่าซื้อทั้งผู้ให้เช่าและผู้เช่าซื้อลงลายมือชื่อด้วยกันทั้งสองฝ่าย ศาลฎีกาเห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572 วรรคสอง บัญญัติว่า “สัญญาเช่าซื้อนั้นถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ ท่านว่าเป็นโมฆะ” ย่อมหมายถึงว่าเจ้าของทรัพย์สินผู้ให้เช่าซื้อและผู้เช่าซื้อจะต้องลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญาเช่าซื้อด้วยกันทั้งสองฝ่าย สัญญาเช่าซื้อจึงจะมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย สัญญาเช่าซื้อและสัญญาต่อท้ายสัญญาเช่าซื้อที่ทำขึ้นพร้อมกันและคู่สัญญาตกลงให้สัญญาต่อท้ายสัญญาเช่าซื้อเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาเช่าซื้อ ทั้งหมดย่อมเป็นสัญญาเช่าซื้อ ดังนั้น เมื่อคู่สัญญาลงลายมือชื่อด้วยกันทั้งสองฝ่ายในสัญญาแม้เพียงแห่งเดียวก็ย่อมมีผลเป็นสัญญาเช่าซื้อที่สมบูรณ์ตามกฎหมาย ในเมื่อปรากฏว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์สินผู้ให้เช่าซื้อและจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อได้ลงลายมือชื่อด้วยกันทั้งสองฝ่ายในหนังสือสัญญาต่อท้ายสัญญาเช่าซื้อแล้ว สัญญาเช่าซื้อก็ย่อมมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย หาใช่ว่าจะต้องลงลายมือชื่อด้วยกันทั้งสองฝ่ายที่ท้ายหนังสือสัญญาในส่วนสัญญาเช่าซื้ออีกด้วยไม่ สัญญาเช่าซื้อจึงไม่เป็นโมฆะ คำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อ้างในฎีกาข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า อุทธรณ์ของโจทก์เคลือบคลุมเนื่องจากไม่ได้บรรยายขอให้จำเลยทั้งสี่รับผิดเพียงใดนั้น จำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้กล่าวไว้ในคำแก้อุทธรณ์ จึงเป็นข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ทั้งปัญหาว่าอุทธรณ์ของโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ ไม่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share