คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8332/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 296 อยู่ในอำนาจของศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษา เมื่อท้องที่ศาลจังหวัดหลังสวนยังมิได้มีศาลแขวงเปิดทำการและมีพระราชกฤษฎีกาให้ใช้บทบัญญัติมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 บังคับสำหรับคดีที่เกิดขึ้นในบางท้องที่ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2532 ลงวันที่ 17 เมษายน 2532 ระบุไว้ในบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกาให้ใช้บังคับแก่คดีที่เกิดขึ้นในท้องที่อำเภอทุกอำเภอของจังหวัดชุมพร คดีนี้จึงอยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 7
พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ให้จำเลยทราบวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2543 ย่อมถือว่าจำเลยถูกจับตั้งแต่วันดังกล่าว พนักงานสอบสวนต้องส่งตัวจำเลยพร้อมสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการเพื่อให้ฟ้องภายในกำหนด 48 ชั่วโมง โจทก์ฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2543 โดยไม่ได้ขอผัดฟ้องและพ้นกำหนดเวลาตามบทบัญญัติดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ฟ้องจากอัยการสูงสุดตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 9 จึงไม่ชอบ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2538 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จำเลยใช้มีดดาบฟันร้อยตำรวจโทโกมล ชินราช ผู้เสียหาย 1 ครั้ง ถูกบริเวณใต้ข้อศอกซ้าย ขณะกระทำตามหน้าที่เข้าระงับเหตุวัยรุ่นทำร้ายร่างกายกัน เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย เหตุเกิดที่ตำบลนาโพธิ์ อำเภอสวี จังหวัดชุมพร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 296
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 296 จำคุก 1 ปี 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
จำเลยฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ปรากฏตามบันทึกคำให้การของจำเลยในสำนวนการสอบสวนที่ศาลฎีกาให้ศาลชั้นต้นเรียกมาจากพนักงานอัยการเพื่อประกอบการพิจารณาคดีว่า เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2543 พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่จำเลยว่าทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ จำเลยให้การปฏิเสธ ความผิดฐานดังกล่าวมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 296 ซึ่งเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษา เมื่อท้องที่ศาลจังหวัดหลังสวนยังมิได้มีศาลแขวงเปิดทำการซึ่งตามพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 2 และมาตรา 3 บัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัดในท้องที่ซึ่งยังมิได้มีศาลแขวงเปิดทำการสำหรับคดีอาญาที่อัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนการที่จะให้ใช้บังคับคดีที่เกิดขึ้นในท้องที่ใดเมื่อใดให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ต่อมามีพระราชกฤษฎีกาให้ใช้บทบัญญัติมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 บังคับสำหรับคดีที่เกิดขึ้นในบางท้องที่ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2532 ลงวันที่ 17 เมษายน 2532 โดยบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกาได้ระบุให้ใช้บังคับแก่คดีที่เกิดขึ้นในท้องที่อำเภอทุกอำเภอของจังหวัดชุมพร และใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2532 คดีนี้จึงอยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 7 เมื่อพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาฐานทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ให้จำเลยทราบวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2543 กรณีย่อมถือว่าจำเลยถูกจับในข้อหาคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลแขวงตั้งแต่วันดังกล่าว พนักงานสอบสวนต้องส่งตัวจำเลยพร้อมสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการเพื่อให้ฟ้องภายในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมง ถ้าไม่สามารถฟ้องได้ทันภายในกำหนด พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการต้องขอผัดฟ้อง คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2543 โดยไม่ได้ขอผัดฟ้องและพ้นกำหนดเวลาตามบทบัญญัติกล่าว โดยไม่ปรากฏว่าได้รับอนุญาตให้ฟ้องจากอัยการสูงสุดตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 9 จึงไม่ชอบ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น ฎีกาข้ออื่นของจำเลยไม่ทำให้ผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลฎีกาเปลี่ยนแปลง จึงไม่จำต้องวินิจฉัย”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share