แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ป.วิ.พ. มาตรา 195 บัญญัติให้นำบทบัญญัติในคดีสามัญมาใช้บังคับกับคดีมโนสาเร่เช่นคดีนี้ด้วย กล่าวคือ กรณีที่ไม่มีการชี้สองสถานต้องยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน เว้นแต่มีเหตุอันสมควรที่ไม่อาจยื่นคำร้องได้ก่อนนั้น หรือเป็นการขอแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ฯลฯ เมื่อคำร้องขอแก้ไขคำให้การของจำเลยยื่นภายหลังล่วงพ้นเวลาที่กฎหมายกำหนด จึงต้องพิจารณาว่าเป็นกรณีเข้าข้อยกเว้นที่จะสามารถยื่นได้หรือไม่ ปรากฏข้อความที่จำเลยขอแก้ไขจากคำให้การเดิมว่า ผู้มอบอำนาจไม่มีอำนาจ ลายมือชื่อผู้มอบอำนาจให้ฟ้องคดีนี้ เป็นลายมือชื่อปลอม การมอบอำนาจจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นว่า ลายมือชื่อผู้มอบอำนาจเป็นลายมือชื่อปลอมและดวงตราที่ประทับก็ไม่ใช่ดวงตราประทับที่จดทะเบียนไว้ จึงเป็นการมอบอำนาจโดยมิชอบนั้น ล้วนเป็นเรื่องที่จำเลยย่อมทราบดีอยู่แล้วตั้งแต่เมื่อได้รับสำเนาคำฟ้องของโจทก์ ซึ่งจำเลยอาจยื่นคำให้การต่อสู้ในเรื่องดังกล่าวได้ตั้งแต่ยื่นคำให้การครั้งแรก หรือมิฉะนั้นนับแต่วันยื่นคำให้การไปจนถึงวันสืบพยานโจทก์นัดแรกก็ยังมีระยะเวลานานเพียงพอที่จำเลยจะสามารถขอแก้ไขคำให้การได้ทัน จึงไม่ใช่เหตุอันสมควรที่ไม่อาจยื่นคำร้องได้ก่อนนั้น อีกทั้งการขอแก้ไขคำให้การดังกล่าวนั้น ไม่ได้มีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนแต่อย่างใด จึงไม่ใช่การขอแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน การที่จำเลยยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การภายหลังจากสืบพยานโจทก์แล้วเช่นนี้ จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 180
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยพร้อมบริวารออกไปและขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากอาคารพาณิชย์เลขที่ 49 ถนนท่าดินแดง ซอยท่าดินแดง 20 แขวงคลองสาน เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร และส่งมอบคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อย ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 40,000 บาท และให้จำเลยชำระค่าเช่าแก่โจทก์เดือนละ 4,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากอาคารพาณิชย์ของโจทก์และชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
หลังจากโจทก์สืบพยานเสร็จแล้ว และคดีอยู่ระหว่างสืบพยานจำเลย จำเลยยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นการยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาตามกฎหมายแล้ว จึงไม่อนุญาต ให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยพร้อมบริวารออกจากอาคารพาณิชย์ เลขที่ 49 ของโจทก์ ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายจำนวนเงิน 40,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 14 ธันวาคม 2543) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้ชดใช้ค่าเสียหายอีกเดือนละ 3,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะออกจากอาคารพาณิชย์ของโจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งและคำพิพากษา โดยอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งธนบุรีอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 1,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษาไม่อนุญาตให้จำเลยแก้ไขคำให้การนั้นชอบแล้วหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า จำเลยเพิ่งทราบเหตุบกพร่องไม่สมบูรณ์ของคำให้การจำเลย ภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ถอนทนายจำเลยซึ่งเป็นเวลาหลังจากสืบพยานโจทก์เสร็จแล้ว ซึ่งเป็นเหตุอันสมควรที่ไม่อาจยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การได้ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ และเป็นการแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน เห็นว่า คดีนี้เป็นคดีมโนสาเร่ ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 195 บัญญัติให้นำบทบัญญัติในคดีสามัญมาใช้บังคับกล่าวคือ กรณีที่ไม่มีการชี้สองสถานต้องยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน เว้นแต่มีเหตุอันสมควรที่ไม่อาจยื่นคำร้องได้ก่อนนั้นหรือเป็นการขอแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ฯลฯ เมื่อคำร้องขอแก้ไขคำให้การของจำเลยยื่นภายหลังล่วงพ้นเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ จึงต้องพิจารณาว่าเป็นกรณีเข้าข้อยกเว้นที่จะสามารถยื่นได้หรือไม่ ปรากฏว่าข้อความที่จำเลยขอแก้ไขคำให้การเดิมจากที่จำเลยให้การปฏิเสธว่า โจทก์ไม่ได้มอบอำนาจให้นายประพล เป็นผู้ฟ้องและดำเนินคดีแทนโจทก์เพราะผู้มอบอำนาจไม่มีอำนาจ ลายมือชื่อผู้มอบอำนาจเป็นลายมือชื่อปลอม การมอบอำนาจจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นว่า ลายมือชื่อของนายพีรพล และนายสุรชาติ และดวงตราประทับของบริษัทโจทก์ในหนังสือมอบอำนาจเป็นลายมือชื่อปลอมและไม่ใช่ดวงตราประทับที่จดทะเบียนไว้ต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร จึงเป็นการมอบอำนาจโดยมิชอบด้วยกฎหมายนั้น ล้วนเป็นเรื่องที่จำเลยย่อมทราบดีอยู่แล้วตั้งแต่เมื่อได้รับสำเนาคำฟ้องของโจทก์ ซึ่งจำเลยอาจยื่นคำให้การต่อสู้ในเรื่องดังกล่าวได้ตั้งแต่ยื่นคำให้การครั้งแรก หรือมิฉะนั้นหลังจากจำเลยยื่นคำให้การครั้งแรกในวันที่ 30 มกราคม 2544 ไปจนถึงวันสืบพยานโจทก์นัดแรกวันที่ 4 เมษายน 2544 ก็ยังมีระยะเวลานานเพียงพอที่จำเลยจะสามารถขอแก้ไขคำให้การได้ทัน จึงไม่ใช่เหตุอันสมควรที่ไม่อาจยื่นคำร้องได้ก่อนนั้น อีกทั้งการขอแก้ไขคำให้การดังกล่าวนั้น ไม่ได้มีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนแต่อย่างใด จึงไม่ใช่การขอแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน การที่จำเลยยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การภายหลังจากสืบพยานโจทก์เสร็จแล้วเช่นนี้ จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษายืนตามกันมาไม่อนุญาตให้จำเลยแก้ไขคำให้การนั้นชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ