คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 337/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 512 ที่ห้ามมิให้ผู้ขายเข้าสู้ราคาเองหรือใช้ให้ผู้หนึ่งผู้ใดเข้าสู้ราคานั้น หมายถึงผู้เป็นเจ้าของทรัพย์ที่นำออกขายทอดตลาดจะเข้าสู้ราคาเอง หรือใช้ให้ผู้หนึ่งผู้ใดเข้าสู้ราคามิได้ โจทก์มิได้เป็นเจ้าของทรัพย์ที่ขายทอดตลาด แต่เป็นเพียงเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์ย่อมจะเข้าสู้ราคาเอง หรือให้บุตรภริยาหรือญาติของตนเข้าสู้ราคาได้

ย่อยาว

กรณีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ในฐานะเป็นทายาทของนายสมพงษ์ สันติระชัยวัฒนา ผู้ตาย ชำระหนี้ให้โจทก์ แต่จำเลยทั้งสี่ไม่ชำระ โจทก์จึงบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 5273 ตำบลวังกระโจม อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายกของผู้ตายออกขายทอดตลาดเอาเงินมาชำระหนี้โจทก์ ผู้ร้องเป็นผู้ซื้อจากการขายทอดตลาดได้ในราคา 850,000 บาท แต่ไม่ชำระราคา ศาลชั้นต้นจึงให้ขายทอดตลาดใหม่ การขายทอดตลาดใหม่ครั้งแรก นายอ๋าสว่างอริยสกุล เป็นผู้เสนอให้ราคาสูงสุด เป็นเงิน 200,000 บาทผู้ร้องไม่คัดค้าน แต่ศาลชั้นต้นเห็นว่าราคาต่ำไม่อนุญาตให้ขายและมีคำสั่งให้ขายทอดตลาดใหม่เมื่อขายทอดตลาดใหม่ปรากฏว่านางสาวเพ็ญศิริ มณีวัฒนา เป็นผู้ซื้อได้ในราคา 600,000 บาทซึ่งไม่คุ้มราคาขายชั้นเดิม ราคาต่ำไปจำนวน 250,000 บาท และเมื่อรวมค่าประกาศการขายทอดตลาดกับค่ารักษาทรัพย์ รวมเป็นจำนวนเงินสุทธิไม่คุ้มราคาขายทอดตลาดชั้นเดิม 252,150 บาท ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2528 ให้ผู้ร้องชำระเงินจำนวนดังกล่าวภายใน 15 วัน ผู้ร้องทราบคำสั่งของศาลดังกล่าวเมื่อวันที่ 6มิถุนายน 2528 ต่อมาวันที่ 12 มิถุนายน 2528 ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องเป็นกรณีนี้มีความว่า ผู้ร้องเป็นผู้ซื้อทรัพย์ขายทอดตลาดครั้งแรกเป็นเงิน 850,000 บาท และเมื่อนำออกขายทอดตลาดใหม่ปรากฏว่าขายได้เพียง 600,000 บาท ซึ่งเป็นราคาต่ำมากไม่ถึงครึ่งหนึ่งของราคาที่แท้จริง เป็นการไม่ชอบและไม่สุจริต เพราะผู้เข้าสู้ราคาล้วนเป็นบุตรภริยาและญาติกับโจทก์ จึงร่วมกันกดราคาซื้อให้ต่ำลงทั้งบุคคลเหล่านั้นเป็นผู้เข้าสู้ราคาแทนโจทก์ เป็นการฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 512 ดังนั้นการขายทอดตลาดครั้งหลังย่อมไม่สมบูรณ์ ขอให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้อง มีคำสั่งยกเลิกการขายทอดตลาด และให้มีการขายทอดตลาดใหม่
โจทก์และนายชิต บำรุงจิต เจ้าพนักงานบังคับคดีต่างยื่นคำคัดค้านเป็นทำนองเดียวกันว่า การขายทอดตลาดกระทำโดยสุจริตเปิดเผย ถูกต้องตามระเบียบ และผู้เข้าสู้ราคามิได้เป็นผู้ต้องห้ามตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ผู้ร้องมีส่วนได้เสียมีสิทธิร้อง ผู้ร้องทราบถึงการขายทอดตลาดเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2528แต่มายื่นคำร้องคัดค้านเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2528 จึงเกินกำหนดระยะเวลา 8 วัน นับแต่วันทราบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้องโดยไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นต่อไป
ผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าว และยังได้ยื่นอุทธรณ์ลงวันที่ 21 มิถุนายน 2528 อีกฉบับหนึ่งโดยอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ระบุในหมายเรียกฉบับลงวันที่ 5 มิถุนายน 2528ที่มีคำสั่งให้ผู้ร้องชำระเงินจำนวน 252,150 บาท ที่ทำการขายทอดตลาดครั้งหลังไม่คุ้มกับราคาที่ขายครั้งแรก
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ปัญหาที่ว่า ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้มีคำสั่งยกเลิกการขายทอดตลาดภายในกำหนดระยะเวลา 8 วัน นับแต่วันทราบที่มีการฝ่าฝืนในการขายทอดตลาดครั้งหลังหรือไม่ นั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ร้องได้ทราบถึงการขายทอดตลาดดังกล่าว ในวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2528 และได้มายื่นคำร้องเป็นกรณีนี้ซึ่งยังมิได้เกินกำหนดระยะเวลา 8 วันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 อุทธรณ์ข้อนี้ของผู้ร้องฟังขึ้น สำหรับปัญหาที่ว่ามีเหตุที่จะสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดครั้งหลังและสั่งให้ขายทอดตลาดใหม่ได้หรือไม่ นั้นเห็นว่าการดำเนินการบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดีชอบแล้วไม่มีเหตุที่ศาลอุทธรณ์จะมีคำสั่งอนุญาตให้ขายทอดตลาดใหม่ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องและให้ผู้ร้องชำระเงินจำนวน252,150 บาท ศาลอุทธรณ์เห็นด้วยในผล พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้เป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2528 ผู้ร้องเป็นผู้ซื้อทรัพย์รายนี้จากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีในราคา 850,000 บาทแต่ผู้ร้องไม่ชำระราคา ศาลชั้นต้นจึงให้ขายทอดตลาดใหม่ ต่อมาได้มีการขายทอดตลาดใหม่ครั้งแรกในวันที่ 5 เมษายน 2528 มีผู้เสนอให้ราคาสูงสุดเพียง 200,000 บาท ศาลชั้นต้นเห็นว่าราคาต่ำจึงไม่อนุญาตให้ขาย และมีคำสั่งให้ขายทอดตลาดใหม่อีก วันที่ 30 เมษายน2528 เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดใหม่ ปรากฏว่านางสาวเพ็ญศิริ มณีวัฒนา เป็นผู้ซื้อได้ในราคา 600,000 บาท และในการขายทอดตลาดใหม่ดังกล่าว ต้องเสียค่าประกาศการขายทอดตลาด 150บาท กับค่ารักษาทรัพย์อีก 2,000 บาท รวมเป็นจำนวนเงินสุทธิไม่คุ้มราคาขายทอดตลาดที่ผู้ร้องเป็นผู้ซื้อได้แล้วไม่ชำระราคาจำนวน252,150 บาท ซึ่งผู้ร้องจะต้องรับผิด ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้ผู้ร้องชำระเงินจำนวนดังกล่าวภายใน 15 วัน ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องเป็นกรณีนี้อ้างว่า การที่ขายทอดตลาดได้เพียง 200,000 บาท นั้นเป็นราคาต่ำมากไม่ถึงครึ่งหนึ่งของราคาที่แท้จริง เป็นการไม่ชอบและไม่สุจริต เพราะผู้เข้าสู้ราคาล้วนเป็นบุตรภริยาและญาติกับโจทก์ จึงร่วมกันกดราคาซื้อให้ต่ำลง ทั้งบุคคลเหล่านั้นเป็นผู้เข้าสู้ราคาแทนโจทก์ เป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 512 ขอให้มีคำสั่งยกเลิกการขายทอดตลาดและให้มีการขายทอดตลาดใหม่
พิเคราะห์แล้ว การที่จะขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดได้นั้น ความต้องปรากฏว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดโดยไม่สุจริต หรือดำเนินการขายทอดตลาดโดยมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติและข้อบังคับที่กำหนดไว้ว่าด้วยวิธีการขายทอดตลาดเท่านั้น กรณีนี้ปรากฏว่า หลังจากที่ผู้ร้องไม่ชำระราคาและมีการขายทอดตลาดใหม่เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2528 มีผู้เสนอราคาถึง 10 ครั้ง แต่มีผู้เสนอราคาสูงสุดเป็นเงิน 200,000 บาท ซึ่งในการขายทอดตลาดครั้งนี้ปรากฏว่าผู้ร้องอยู่รู้เห็นด้วยแต่ก็ไม่ได้คัดค้านว่าราคาที่มีผู้เสนอสูงสุด 200,000 บาท นั้น เป็นราคาที่ต่ำไป ทั้ง ๆที่ราคาต่ำกว่าราคาที่ผู้ร้องประมูลซื้อถึง 650,000 บาท แต่ศาลชั้นต้นเห็นว่าราคาต่ำไปจึงมีคำสั่งให้มีการขายทอดตลาดใหม่อีกและในการขายทอดตลาดใหม่ครั้งนี้ ปรากฏว่านางสาวเพ็ญศิริเป็นผู้เสนอราคาสูงสุดถึง 600,000 บาท มากกว่าการขายทอดตลาดใหม่ครั้งแรกที่ผู้ร้องไม่คัดค้านถึง 400,000 บาท แม้จะต่ำกว่าราคาที่ผู้ร้องซื้อทอดตลาดได้แต่เดิม 250,000 บาท ซึ่งในการขายทอดตลาดแต่ละครั้ง ก็ไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการขายทอดตลาดโดยไม่สุจริต หรือดำเนินการขายทอดตลาดโดยมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติ และข้อบังคับที่กำหนดไว้ว่าด้วยวิธีการขายทอดตลาดแต่ประการใด สำหรับข้อที่ผู้ร้องอ้างว่า การขายทอดตลาดใหม่ครั้งหลังเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2528 เป็นการฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 512 นั้น เห็นว่า ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ห้ามมิให้ผู้ขายเข้าสู้ราคาเอง หรือใช้ให้ผู้หนึ่งผู้ใดเข้าสู้ราคานั้น หมายถึงผู้เป็นเจ้าของทรัพย์ที่นำออกขายทอดตลาดนั้นเอง จะเข้าสู้ราคาเอง หรือใช้ให้ผู้หนึ่งผู้ใดเข้าสู้ราคามิได้ สำหรับกรณีนี้โจทก์มิได้เป็นเจ้าของทรัพย์ที่ขายทอดตลาด แต่เป็นเพียงเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ดังนั้น โจทก์ย่อมจะเข้าสู้ราคาเองหรือให้บุตรภริยา หรือญาติของตนเข้าสู้ราคาได้ ไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายดังกล่าวแต่อย่างใด ข้ออ้างของผู้ร้องที่ว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งขายทรัพย์ให้แก่นางสาวเพ็ญศิริมณีวัฒนา เป็นเงิน 600,000 บาท เป็นราคาที่ต่ำมากเพราะผู้สู้ราคาไม่สุจริต มีการสมรู้กดราคาให้ต่ำกว่าความเป็นจริงนั้น ไม่อาจยกขึ้นเป็นเหตุร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดโดยชอบได้ ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษาให้ยกคำร้องของผู้ร้องเสียนั้น ชอบแล้วฎีกาผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share