คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7742/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

หนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงระบุว่าที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ แต่เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่ราชพัสดุ กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ.2518 มาตรา 4 และ 5 จึงเป็นเพียงทรัพย์สินของแผ่นดิน มิใช่สาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 (2) (3) ที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ ดังนั้น เมื่อเทศบาลตำบลน้ำพองซึ่งได้รับอนุญาตจากกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ให้ใช้ประโยชน์ที่ดินพิพาท มีหนังสือแจ้งให้จำเลยออกจากที่ดิน จำเลได้รับหนังสือดังกล่าวแล้วไม่ยอมออกจากที่ดินพิพาท การกระทำของจำเลยจึงเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ซึ่งอยู่ในความดูแลของเทศบาลน้ำพองโดยปกติสุข เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (3) ประกอบมาตรา 362

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2543 เวลากลางคืนก่อนเที่ยงจำเลยบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินและปลูกสร้างอาคารในที่ดินราชพัสดุ กระทรวงการคลัง แปลงหมายเลขทะเบียนที่ ขก. 1923 (บางส่วน) ตำบลน้ำพอง อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นที่ดินของรัฐ และเป็นอสังหาริมทรัพย์ซึ่งอยู่ในความครอบครองดูแลของเทศบาลตำบลน้ำพอง โดยจำเลยปลูกสร้างอาคารไม้ชั้นเดียว จำนวน 1 หลัง เป็นบ้านเพื่ออยู่อาศัยในบริเวณที่ดินดังกล่าว ซึ่งการกระทำของจำเลยเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของเทศบาลตำบลน้ำพองโดยปกติสุข และเป็นการทำให้เสียหายแก่ที่ดินดังกล่าว ทำให้ไร้ประโยชน์ โดยเทศบาลตำบลน้ำพองไม่สามารถปรับปรุงที่ดินบริเวณดังกล่าวให้เป็นสถานที่พักผ่อน สวนสาธารณะและสนามกีฬาสำหรับประชาชนได้ ทั้งนี้ โดยจำเลยไม่มีสิทธิครอบครองและไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย เหตุเกิดที่ตำบลน้ำพอง อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360, 362, 365 ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 มาตรา 9, 108 ทวิ กับให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินของรัฐดังกล่าว
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (3) ประกอบด้วยมาตรา 362 จำคุก 1 ปี และปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยมิได้ฎีกาโต้เถียงกันรับฟังเป็นยุติว่า ที่ดินพิพาทตามสำเนาแผนที่เอกสารหมาย จ.12 เป็นส่วนหนึ่งของที่ราชพัสดุ แปลงหมายเลขทะเบียนที่ ขก.1923 ตำบลน้ำพอง อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น จำเลยปลูกบ้านและต้นไม้ในที่ดินพิพาทเส้นสีแดงหมายเลข 17 และ 21 ตามเอกสารหมาย จ.12 วันที่ 14 มีนาคม 2543 กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง อนุญาตให้เทศบาลตำบลน้ำพองใช้ที่ราชพัสดุแปลงดังกล่าวเนื้อที่ 80 ไร่ 2 งาน 14 ตารางวา เพื่อจัดทำโครงการสถานที่พักผ่อน สวนสาธารณะและสนามกีฬา ตามเอกสารหมาย จ.3 ต่อเทศบาลตำบลน้ำพองมีหนังสือแจ้งให้จำเลยออกจากที่ดินพิพาทตามเอกสารหมาย จ.6 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (3) ประกอบมาตรา 362 หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า ตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเอกสารหมาย จ.1 ระบุไว้ชัดเจนว่า ที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทเพื่อใช้ประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ ดังนั้น ที่ดินพิพาทจึงเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 (3) ผู้บุกรุกสาธารณสมบัติของแผ่นดินจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (3) ประกอบมาตรา 362 นั้น เห็นว่า แม้ตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเอกสารหมาย จ.1 ระบุว่าที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ราชพัสดุ กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ.2518 มาตรา 4 และ 5 ที่ดินพิพาทจึงเป็นเพียงทรัพย์สินของแผ่นดิน มิใช่สาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 (2) (3) ที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ ดังนั้น เมื่อเทศบาลตำบลน้ำพองซึ่งได้รับอนุญาตจากกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ให้ใช้ประโยชน์ที่ดินพิพาท มีหนังสือแจ้งให้จำเลยออกจากที่ดินตามเอกสารหมาย จ.6 จำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวแล้วไม่ยอมออกจากที่ดินพิพาท การกระทำของจำเลยจึงเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ซึ่งอยู่ในความดูแลของเทศบาลน้ำพองโดยปกติสุข เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (3) ประกอบมาตรา 362 สำหรับคำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยอ้าง ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share