แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ฟ้องของโจทก์ได้บรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้วว่า โจทก์ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นวิศวกรผู้ออกแบบสะพานช่วงยาวข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา และทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ที่ 3ที่ 5 และที่ 6 เป็นวิศวกรผู้ควบคุมงานให้ร่วมกันควบคุมการก่อสร้างสะพานตามที่วิศวกรผู้ออกแบบได้ออกแบบไว้ ตามสัญญาจ้างเอกสารท้ายฟ้อง แล้วโจทก์ยังบรรยายด้วยว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ไม่ได้ปฏิบัติตามข้อผูกพันในสัญญาคือมิได้ใช้ความรู้ความสามารถให้เป็นไปตามมาตรฐานทางด้านวิชาชีพ ออกแบบให้ปูสารกันน้ำซึมชนิดมาสติค แอสฟัลท์ไม่เหมาะสมที่จะใช้กับสะพาน ซึ่งจะทำให้มาสติค แอสฟัลท์อ่อนตัว พื้นผิวทางเกิดเป็นคลื่นอย่างรุนแรงและแตกตัวในที่สุด และจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ในฐานะวิศวกรผู้ควบคุมงานก็ไม่ได้ปฏิบัติตามข้อผูกพันในสัญญาคือมิได้ตรวจสอบแบบและข้อกำหนดเกี่ยวกับสารกันน้ำซึมและวัสดุพื้นผิวจราจรที่ใช้ในการก่อสร้างว่าถูกต้องสามารถนำไปใช้ในงานก่อสร้างได้ดีหรือไม่ เป็นเหตุให้โจทก์ต้องเปลี่ยนสารกันน้ำซึมจากมาสติค แอสฟัลท์มาเป็น ที.อี.ยู. ตามคำแนะนำของวิศวกรผู้ควบคุมงานโดยเสียค่าใช้จ่ายในการปูสารกันน้ำซึม ที.อี.ยู. เกินกว่าที่ปูด้วยสารกันน้ำซึมชนิดมาสติค แอสฟัลท์31,821,821.80 บาท และหลังจากเปิดทดลองใช้สะพานแล้ว ปรากฏว่าระบบพื้นผิวจราจรชำรุดเสียหายอย่างมาก ในที่สุดต้องรื้อพื้นผิวจราจรออกทั้งหมดและทำพื้นผิวจราจรโดยใช้สารกันน้ำซึมใหม่ เสียค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตลอดจนค่าขาดประโยชน์รวมเป็นเงิน 139,937,235.79 บาท รวมค่าเสียหายทั้งสิ้น 171,759,057.59 บาทซึ่งเหตุแห่งความเสียหายดังกล่าว เกิดจากความบกพร่องของวิศวกรผู้ออกแบบและวิศวกรผู้ควบคุมงานที่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ ฟ้องของโจทก์จึงได้บรรยายโดยแจ้งชัดถึงข้ออ้างที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อโจทก์แล้ว ส่วนที่โจทก์ขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดในฐานะวิศวกรผู้ออกแบบและวิศวกรผู้ควบคุมงานก็เป็นการฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดทั้งสองฐานะตามข้อผูกพันของสัญญาแต่ละฉบับซึ่งมีความรับผิดแตกต่างกัน หาใช่เป็นการซ้ำซ้อนไม่ สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับการซ่อมแซมที่โจทก์ไม่ได้บรรยายว่าใช้วัสดุชนิดใดเป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ ฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
การทางพิเศษแห่งประเทศไทยโจทก์เป็นนิติบุคคลตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 290 ข้อ 2 ซึ่งตามข้อ 17 บัญญัติว่า “ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอกผู้ว่าการเป็นผู้กระทำในนามของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย และเป็นผู้กระทำแทนการทางพิเศษแห่งประเทศไทย…” หมายถึง ผู้ว่าการเป็นผู้แทนโจทก์ในการกระทำกิจการต่าง ๆ เมื่อโจทก์ได้รับความเสียหายจากการผิดสัญญาของจำเลย ผู้ว่าการซึ่งเป็นผู้แทนของนิติบุคคลย่อมมีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ได้ ทั้งนี้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 70วรรคสอง (มาตรา 75 เดิม)
โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ในฐานะวิศวกรผู้ออกแบบปฏิบัติผิดสัญญาจ้างโดยมิได้ใช้ความรู้ความสามารถให้เป็นไปตามมาตรฐานทางด้านวิชาชีพ ออกแบบผิดพลาดทำให้เกิดความเสียหายขึ้น และฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ในฐานะวิศวกรผู้ควบคุมงานปฏิบัติผิดสัญญาจ้างโดยมิได้ใช้ความรู้ความสามารถให้เป็นไปตามมาตรฐานทางด้านวิชาชีพ ทำให้เกิดความเสียหายขึ้น เป็นการฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดเนื่องจากการผิดสัญญาจ้างธรรมดาคือออกแบบและควบคุมงานผิดพลาด ซึ่งเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความทั่วไปคือ 10 ปี ตามมาตรา 193/30
สัญญาจ้างตามเอกสารหมาย จ.1 และจ.2 ทำขึ้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ทั้งสองฉบับระบุไว้ชัดเจนว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.1 และจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.2 จะร่วมกันทำงานและร่วมรับผิดชอบตามข้อกำหนดในสัญญา และในสัญญาไม่มีข้อความตอนใดแบ่งแยกความรับผิดของจำเลยแต่ละคนไว้ แต่กลับเรียกชื่อคู่สัญญาฝ่ายจำเลยทุกคนรวมกันว่า “วิศวกร” ซึ่งบ่งบอกถึงหน้าที่และความรับผิดชอบที่ต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ ส่วนการจัดองค์การทำงานระหว่างจำเลยด้วยกันเองเป็นเรื่องภายในกลุ่มของจำเลยเอง ไม่อาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้แบ่งแยกความรับผิดของจำเลยแต่ละคนต่อโจทก์ได้
ตามสัญญาจ้างจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ในฐานะวิศวกรผู้ออกแบบมีหน้าที่และความรับผิดชอบที่จะต้องใช้ความรู้ทั้งทางเทคนิคและทางเศรษฐศาสตร์อย่างดีที่สุดและเป็นไปตามมาตรฐานทางด้านวิชาชีพวิศวกรด้วยความชำนาญ เอาใจใส่ ขยันหมั่นเพียรและจะต้องดำเนินการให้เป็นประโยชน์ต่อโจทก์มากที่สุดในการออกแบบสะพานให้สามารถก่อสร้างและใช้งานได้เป็นอย่างดี และจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ในฐานะวิศวกรผู้ควบคุมงานมีหน้าที่และความรับผิดชอบในงานควบคุมการก่อสร้างที่ต้องใช้ความรู้ทางวิชาการวิศวกรรม เศรษฐศาสตร์ และวิชาชีพอื่นที่เกี่ยวข้องอย่างดีที่สุดให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ยอมรับกันทางด้านวิชาชีพนานาชนิด ต้องดำเนินงานด้วยความชำนาญเอาใจใส่ขยันหมั่นเพียร และเป็นประโยชน์ต่อโจทก์มากที่สุด โดยต้องตรวจสอบแบบก่อสร้างข้อกำหนดรายละเอียดต่าง ๆ ที่ใช้ในการก่อสร้างเพื่อให้เกิดความถูกต้องสมบูรณ์ นำไปใช้ในงานก่อสร้างได้สัมฤทธิ์ผลตามความมุ่งหมาย ในกรณีที่ปรากฏข้อผิดพลาดในการออกแบบ ต้องเสนอแนะต่อโจทก์ในการแก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบและข้อกำหนดรายละเอียดต่าง ๆ ดังนี้ในฐานะวิศวกรผู้ออกแบบจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จะต้องศึกษาถึงคุณสมบัติของวัสดุที่จะนำมาใช้ในการก่อสร้างเพื่อให้งานก่อสร้างสำเร็จลุล่วงใช้ประโยชน์ได้สูงสุดการที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ออกแบบให้ใช้มาสติค แอสฟัลท์เป็นสารกันน้ำซึมบนพื้นผิวสะพานที่เป็นเหล็กนั้น จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ควรที่จะศึกษาถึงคุณสมบัติของมาสติค แอสฟัลท์อย่างละเอียด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับอุณหภูมิที่จะทำให้มาสติค แอสฟัลท์อ่อนตัวหรือเปลี่ยนรูป เพราะประเทศไทยมีอากาศร้อนและพื้นผิวสะพานที่ออกแบบไว้ก็เป็นเหล็กอากาศร้อนย่อมมีโอกาสที่จะทำให้ความร้อนที่สะสมบนพื้นผิวสะพานที่ทำด้วยเหล็กสูงขึ้นจนทำให้มาสติค แอสฟัลท์อ่อนตัวหรือเปลี่ยนรูปได้ แต่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 มิได้ศึกษาโดยละเอียดถึงคุณสมบัติของมาสติค แอสฟัลท์ แต่กลับยืนยันในระยะแรกให้ใช้มาสติคแอสฟัลท์ จนผู้รับเหมาต้องทักท้วงหลายครั้ง จึงได้ทำการทดสอบและยอมรับว่ามาสติคแอสฟัลท์ ไม่สามารถใช้เป็นวัสดุกันน้ำซึมบนสะพานได้ นอกจากนั้นหัวหน้าวิศวกรประจำจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ยังมีหนังสือถึงผู้อำนวยการโครงการของโจทก์ มีข้อความเกี่ยวกับความเหมาะสมของมาสติค แอสฟัลท์ ว่าเมื่อพิจารณาถึงการรับน้ำหนักและความลาดชันของสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาในกรุงเทพมหานครแล้ว เป็นความเสี่ยงที่ไม่สามารถยอมรับได้ของการอ่อนตัวของมาสติค แอสฟัลท์ซึ่งจะทำให้ผิวทางเกิดเป็นคลื่นอย่างรุนแรงและแตกในที่สุด ซึ่งเหตุการณ์นี้อาจเกิดขึ้นในฤดูร้อนแรกของการเปิดใช้งาน การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ออกแบบให้ใช้สารกันน้ำซึมชนิดมาสติค แอสฟัลท์โดยไม่ได้ศึกษาให้ดีเกี่ยวกับคุณสมบัติที่แท้จริงของวัสดุ โดยเฉพาะอุณหภูมิที่จะทำให้วัสดุนั้นอ่อนตัวหรือเปลี่ยนรูปรวมทั้งการคำนวณเกี่ยวกับความร้อนสะสมของโครงสร้างสะพานที่เป็นเหล็กในประเทศที่มีอากาศร้อนเช่นประเทศไทยว่าสมควรจะใช้วัสดุนั้นเป็นสารกันน้ำซึมหรือไม่ ย่อมเป็นความผิดพลาด บกพร่อง ไม่ใช้ความรู้ความสามารถตามมาตรฐานวิชาชีพตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้าง จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในความเสียหายที่เกิดขึ้นส่วนจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ซึ่งเป็นวิศวกรผู้ควบคุมงาน มีหน้าที่ต้องตรวจสอบแบบของวิศวกรผู้ออกแบบตั้งแต่แรกด้วยความระมัดระวังว่าสารกันน้ำซึมชนิดมาสติค แอสฟัลท์เหมาะสมที่จะใช้กับสะพานที่มีพื้นผิวเป็นเหล็กหรือไม่ แต่กลับไม่ทำการตรวจสอบให้ดีแม้ผู้รับเหมาจะได้ทักท้วง แต่วิศวกรผู้ควบคุมงานก็ยังคงยืนยันในระยะแรกให้ใช้มาสติคแอสฟัลท์ และให้ผู้รับเหมาส่งตัวอย่างวัสดุพร้อมแผนงานเพื่อตรวจสอบ ยังคงเป็นสารกันน้ำซึมได้ เพียงแต่ต้องปรับปรุงบ้าง และในเดือนเมษายน 2530 ต่อมาจึงยอมรับว่ามาสติค แอสฟัลท์ไม่เหมาะสม รวมระยะเวลาที่เสียไปถึง 9 เดือน ทำให้เกิดความล่าช้าแก่โครงการก่อสร้างโดยเฉพาะระยะเวลาการทดสอบหาสารกันน้ำซึมชนิดใหม่ที่มีคุณภาพเหมาะสม ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 บกพร่องต่อหน้าที่ตามสัญญาจ้างจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในความเสียหายที่เกิดขึ้นเช่นกัน
การว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นวิศวกรผู้ออกแบบและให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 เป็นวิศวกรผู้ควบคุมงานนั้นมุ่งประสงค์ให้การก่อสร้างสะพานสัมฤทธิ์ผลใช้งานได้ตามความมุ่งหมาย ที.อี.ยู. โดยความเห็นชอบของวิศวกรดังกล่าว แต่ทั้งวิศวกรผู้ออกแบบและวิศวกรผู้ควบคุมงานซึ่งทราบดีถึงปัญหาที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้แล้วมิได้ทำการทดสอบให้แน่ชัด เมื่อสาเหตุของความเสียหายทั้งหมดเกิดจากความบกพร่องในการออกแบบและควบคุมงานเกี่ยวกับการใช้วัสดุก่อสร้างที่มีคุณภาพไม่เหมาะสมแก่การใช้งาน วิศวกรผู้ออกแบบและวิศวกรผู้ควบคุมงานจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในความเสียหายที่เกิดขึ้น รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นด้วย การที่ผู้ออกแบบจะเลือกใช้วัสดุใดในการก่อสร้าง ผู้ออกแบบควรที่จะต้องทราบถึงคุณสมบัติของวัสดุนั้นว่าใช้งานได้ดีหรือไม่ หากไม่แน่ใจก็ควรจะทดสอบให้ได้ผลเป็นที่น่าพอใจก่อนที่จะกำหนดให้ใช้วัสดุนั้น การกำหนดใช้วัสดุให้ถูกต้องกับการคิดค้นประดิษฐ์วัสดุขึ้นใหม่เป็นคนละเรื่องกัน เมื่อจำเลยที่ 1 รับออกแบบ จำเลยที่ 1 ก็ต้องกำหนดหรือหาวัสดุที่จะใช้งานได้กับแบบที่ออกมาหากไม่สามารถหาวัสดุดังกล่าวได้เพราะไม่มีในประเทศไทยหรือไม่มีเวลาเพียงพอที่จะทำการทดสอบการใช้งาน จำเลยที่ 1 ก็จะต้องแจ้งให้โจทก์ทราบและปรึกษาหาทางแก้ไขมิใช่กำหนดวัสดุหรือเปลี่ยนแปลงวัสดุโดยเพียงแต่เข้าใจว่าน่าจะใช้งานได้หรือทำการทดสอบผิวเผิน แล้วทำการก่อสร้างไปจนเกิดความเสียหายขึ้น
จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ออกแบบและควบคุมงานให้งานก่อสร้างสัมฤทธิ์ผลใช้งานได้ เมื่อการออกแบบกำหนดให้ใช้สารกันน้ำซึมครั้งแรกไม่ถูกต้องแล้วมีการเปลี่ยนมาใช้สาร ที.อี.ยู. โดยวิศวกรผู้ออกแบบและวิศวกรผู้ควบคุมงานเห็นชอบโดยไม่ตรวจสอบหรือทดสอบให้แน่ชัดเสียก่อน จึงไม่อาจอ้างเหตุว่าโจทก์เป็นคนเลือกสรร ที.อี.ยู. และมีการรับประกันโดยบริษัทผู้ผลิตเพื่อให้ตนเองพ้นผิดได้ ส่วนการที่โจทก์ไม่เรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัทผู้ผลิต ที.อี.ยู. ก็เป็นสิทธิในส่วนของโจทก์ ไม่เกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยที่ 1 ที่ต้องรับผิดต่อโจทก์อยู่แล้ว
แม้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 จะมิได้ฎีกา แต่เนื่องจากเป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ได้ด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบด้วยมาตรา 247
จำเลยทั้งหกก่อให้เกิดความเสียหายต่อโจทก์ จำเลยทั้งหกจึงมีหนี้ที่ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งหกหลังจากผ่านขั้นตอนอนุญาโตตุลาการตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้างแล้วได้ และการฟ้องคดีของโจทก์ถือได้ว่าเป็นการทวงถามการที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งหกเสียดอกเบี้ยตั้งแต่วันฟ้องจึงชอบแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ในฐานะวิศวกรผู้ออกแบบร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ในฐานะวิศวกรผู้ควบคุมงานชำระค่าเสียหาย 31,821,821.80 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว
จำเลยที่ 1 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 7 ให้การว่า จำเลยที่ 7 ค้ำประกันความรับผิดของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์จริง แต่หนังสือสัญญาค้ำประกันแต่ละฉบับสิ้นอายุแล้ว จำเลยที่ 7 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ร่วมกันชำระเงิน 139,937,235.79 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2531 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 7 ในฐานะผู้ค้ำประกันร่วมรับผิดชำระเงิน 5,131,928.99 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินค้ำประกัน 5,106,397.01 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ร่วมกันชำระเงิน 171,759,057.59 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้จำเลยที่ 7 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 5,106,397.01 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนถึงวันที่จำเลยที่ 7 นำเงินมาวางศาล
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์ได้ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นวิศวกรผู้ออกแบบสะพานพระราม 9 และทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 เป็นวิศวกรผู้ควบคุมงาน โดยทำสัญญาว่าจ้างผู้รับเหมาก่อสร้างดำเนินการก่อสร้างสะพานพระราม 9 เมื่อดำเนินการถึงขั้นตอนปูพื้นผิวจราจรชั้นใช้สารกันน้ำซึมผู้รับเหมาได้ทักท้วงว่ามาสติค แอสฟัลท์ ที่วิศวกรผู้ออกแบบกำหนดไม่เหมาะสมในการใช้งาน วิศวกรผู้ออกแบบและวิศวกรผู้ควบคุมงานจึงได้เห็นชอบให้โจทก์เปลี่ยนมาใช้สารกันน้ำซึม ที. อี. ยู. แทน โจทก์จึงจ้างบริษัท ซี ไอ เอส ปารีส จำกัด และบริษัทเพอร์เฟคบิลท์ จำกัด ร่วมกันปูสารกันน้ำซึม ที. อี. ยู. แทน หลังจากนั้นผู้รับเหมาได้ปูพื้นผิวจราจรด้วยแอสฟัลท์ติค คอนกรีตบนสารกันน้ำซึม ที.อี.ยู. จนเสร็จ แต่เมื่อโจทก์เปิดทดลองใช้สะพานไปได้ประมาณ 1 เดือน เกิดความชำรุดที่พื้นผิวจราจรหลายแห่งโจทก์ได้ซ่อมแซมแล้วเสร็จ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อแรกว่าฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า ฟ้องของโจทก์ได้บรรยายโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้วว่า โจทก์ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นวิศวกรผู้ออกแบบสะพานช่วงยาวข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา และทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 เป็นวิศวกรผู้ควบคุมงานให้ร่วมกันควบคุมการก่อสร้างสะพานตามที่วิศวกรผู้ออกแบบได้ออกแบบไว้ แล้วโจทก์ยังบรรยายด้วยว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ไม่ได้ปฏิบัติตามข้อผูกพันในสัญญาคือมิได้ใช้ความรู้ความสามารถให้เป็นไปตามมาตรฐานทางด้านวิชาชีพ ออกแบบให้ปูสารกันน้ำซึมชนิดมาสติค แอสฟัลท์ ไม่เหมาะสมที่จะใช้กับสะพานพระราม 9 เนื่องจากพื้นผิวสะพานเป็นโครงเหล็กมีอุณหภูมิสูง ซึ่งจะทำให้มาสติค แอสฟัลท์อ่อนตัว พื้นผิวทางเกิดเป็นคลื่นอย่างรุนแรงและแตกตัวในที่สุด และจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ในฐานะวิศวกรผู้ควบคุมงานก็ไม่ได้ปฏิบัติตามข้อผูกพันในสัญญาคือมิได้ตรวจสอบแบบและข้อกำหนดเกี่ยวกับสารกันน้ำซึมและวัสดุพื้นผิวจราจรที่ใช้ในการก่อสร้างว่าถูกต้องสามารถนำไปใช้ในงานก่อสร้างได้ดีหรือไม่ เป็นเหตุให้โจทก์ต้องเปลี่ยนสารกันน้ำซึมชนิดมาสติค แอสฟัลท์ มาเป็น ที.อี.ยู. ตามคำแนะนำของวิศวกรผู้ควบคุมงานโดยเสียค่าใช้จ่ายในการปูสารกันน้ำซึม ที.อี.ยู. เป็นเงิน 35,976,493.50 บาท เกินกว่าที่ปูด้วยสารกันน้ำซึมชนิดมาสติค แอสฟัสท์ 31,821,821.80 บาท และ หลังจากเปิดทดลองใช้สะพานพระราม 9 ปรากฏว่าระบบพื้นผิวจราจรชำรุดเสียหายอย่างมาก ในที่สุดต้องรื้อพื้นผิวจราจรออกทั้งหมดและทำพื้นผิวจราจรโดยใช้สารกันน้ำซึมใหม่เสียค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตลอดจนค่าขาดประโยชน์รวมเป็นเงิน 139,937,235.79 บาท รวมค่าเสียหายทั้งสิ้น 171,759,057.59 บาท ซึ่งเหตุแห่งความเสียหายดังกล่าวเกิดจากความบกพร่องของวิศวกรผู้ออกแบบและวิศวกรผู้ควบคุมงานที่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ ฟ้องของโจทก์จึงได้บรรยายโดยแจ้งชัดถึงข้ออ้างที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อโจทก์แล้ว ส่วนที่โจทก์ขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดในฐานะวิศวกรผู้ออกแบบและวิศวกรผู้ควบคุมงานก็เป็นการฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดทั้งสองฐานะตามข้อผูกพันของสัญญาแต่ละฉบับซึ่งมีความรับผิดแตกต่างกัน หาใช่เป็นการซ้ำซ้อนไม่ สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับการซ่อมแซมที่โจทก์ไม่ได้บรรยายว่า ใช้วัสดุชนิดใดเป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ ฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อ 2 ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะผู้ว่าการของโจทก์ฟ้องคดีโดยคณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยมิได้มอบหมายหรือมีมติให้ฟ้อง เป็นการขัดกับประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 290 นั้น เห็นว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 290 ข้อ 2 ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวไม่ได้บัญญัติว่า การฟ้องคดีโดยผู้ว่าการของโจทก์จะต้องได้รับมอบหมายหรือได้รับมติจากคณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยแต่อย่างใด เพียงแต่บัญญัติไว้ในข้อ 17 ว่า “ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ผู้ว่าการเป็นผู้กระทำในนามของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย และเป็นผู้กระทำแทนการทางพิเศษแห่งประเทศไทย
” ซึ่งหมายถึงว่า ผู้ว่าการเป็นผู้แทนโจทก์ในการกระทำกิจการต่าง ๆ เมื่อโจทก์ได้รับความเสียหายจากการผิดสัญญาของจำเลยทั้งเจ็ด ผู้ว่าการซึ่งเป็นผู้แทนของนิติบุคคลย่อมมีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ได้ ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 70 วรรคสอ (มาตรา 75 เดิม)
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อ 3 ว่า ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่นั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ในฐานะวิศวกรผู้ออกแบบปฏิบัติผิดสัญญาจ้างโดยมิได้ใช้ความรู้ความสามารถให้เป็นไปตามมาตรฐานทางด้านวิชาชีพ ทำให้ออกแบบผิดพลาด ทำให้เกิดความเสียหายขึ้น และฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ในฐานะวิศวกรผู้ควบคุมงานปฏิบัติผิดสัญญาจ้างโดยมิได้ใช้ความรู้ความสามารถให้เป็นไปตามมาตรฐานทางด้านวิชาชีพ ทำให้เกิดความเสียหายขึ้น ฟ้องของโจทก์จึงไม่ใช่การฟ้องเรียกค่าเสียหายเพื่อการที่ทำชำรุดบกพร่องอันมีอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 601 แต่เป็นการฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดเนื่องจากการผิดสัญญาจ้างธรรมดาคือ ออกแบบและควบคุมงานผิดพลาดซึ่งเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความทั่วไปคือ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อ 4 ว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จะต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ในการออกแบบสะพานพระราม 9 และจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 จะต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ในการควบคุมงานก่อสร้างสะพานพระราม 9 หรือไม่ เห็นว่า สัญญาจ้างทั้งสองฉบับที่ทำขึ้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ตามลำดับ ระบุไว้ชัดเจนว่า จำเลยจะร่วมกันทำงานและร่วมรับผิดชอบตามข้อกำหนดในสัญญา และในสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวก็ไม่มีข้อความตอนใดแบ่งแยกความรับผิดของจำเลยแต่ละคนไว้ แต่กลับเรียกคู่สัญญาฝ่ายจำเลยทุกคนรวมกันว่า “วิศวกร” ซึ่งบ่งบอกถึงหน้าที่และความรับผิดชอบที่จะต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ ส่วนการจัดองค์กรการทำงานระหว่างจำเลยด้วยกันเอง ไม่อาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้แบ่งแยกความรับผิดของจำเลยแต่ละคนต่อโจทก์ก็ได้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อ 5 ถึงข้อที่ 7 ว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ในฐานะวิศวกรผู้ออกแบบ และจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ในฐานะวิศวกรผู้ควบคุมงานจะต้องร่วมกันรับผิดในความเสียหายของระบบพื้นผิวจราจรบนสะพานพระราม 9 รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในการเปลี่ยนสารกันน้ำซึมจากมาสติค แอสฟัสท์ เป็น ที.อี.ยู. หรือไม่เพียงใด เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ออกแบบให้ใช้สารกันน้ำซึมชนิดมาสติค แอสฟัลท์โดยไม่ได้ศึกษาให้ดีเกี่ยวกับคุณสมบัติที่แท้จริงของวัสดุ โดยเฉพาะอุณหภูมิที่จะทำให้วัสดุนั้นอ่อนตัวหรือเปลี่ยนรูป รวมทั้งการคำนวณเกี่ยวกับความร้อนสะสมของโครงสร้างสะพานที่เป็นเหล็กในประเทศที่มีอากาศร้อนเช่นประเทศไทยว่าสมควรจะใช้วัสดุนั้นเป็นสารกันน้ำซึมหรือไม่ ย่อมเป็นความผิดพลาดบกพร่อง ไม่ใช้ความรู้ความสามารถตามมาตรฐานวิชาชีพตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้าง จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในความเสียหายที่เกิดขึ้น ส่วนจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ซึ่งเป็นวิศวกรผู้ควบคุมงาน มีหน้าที่ต้องตรวจสอบแบบของวิศวกรผู้ออกแบบตั้งแต่แรกด้วยความระมัดระวังว่าสารกันน้ำซึมชนิดมาสติค แอสฟัลท์เหมาะสมที่จะใช้กับสะพานที่มีพื้นผิวเป็นเหล็กหรือไม่ แต่กลับไม่ทำการตรวจสอบให้ดี แม้ผู้รับเหมาจะได้ทักท้วง แต่วิศวกรผู้ควบคุมงานก็ยังคงยืนยันในระยะแรกให้ใช้มาสติค แอสฟัลท์ และให้ผู้รับเหมาส่งตัวอย่างวัสดุพร้อมแผนงานเพื่อตรวจสอบ จนกระทั่งเดือนกุมภาพันธ์ 2530 จึงได้มีความเห็นว่ามาสติค แอสฟัลท์ ยังคงเป็นสารกันน้ำซึมได้ เพียงแต่ต้องปรับปรุงบ้าง และในเดือนเมษายน 2530 จึงยอมรับว่ามาสติค แอสฟัลท์ไม่เหมาะสม รวมระยะเวลาที่เสียไปถึง 9 เดือน ทำให้เกิดความล่าช้าแก่โครงการก่อสร้างโดยเฉพาะระยะเวลาการทดสอบหาสารกันน้ำซึมชนิดใหม่ที่มีคุณภาพเหมาะสม ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 บกพร่องต่อหน้าที่ จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในความเสียหายที่เกิดขึ้นเช่นกัน และที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์พิจารณาเลือกสาร ที. อี. ยู. เพราะราคาถูกกว่า บริษัทผู้ผลิต ที. อี. ยู. รับประกันผลงาน 5 ปี จึงมีเหตุผลสำคัญอย่างเพียงพอให้วิศวกรตัดสินใจไม่คัดค้าน และเมื่อเกิดความเสียหายขึ้น โจทก์ไม่ใช้สิทธิตามหนังสือรับประกันให้บริษัทผู้ผลิต ที. อี. ยู. ใช้ค่าเสียหาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้วิศวกรรวมถึงจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ออกแบบและควบคุมงานให้งานก่อสร้างสัมฤทธิ์ผลใช้งานได้ เมื่อการออกแบบกำหนดให้ใช้สารกันน้ำซึมครั้งแรกไม่ถูกต้องแล้วมีการเปลี่ยนมาใช้สาร ที. อี. ยู. โดยวิศวกรผู้ออกแบบและวิศวกรผู้ควบคุมงานเห็นชอบโดยไม่ตรวจสอบหรือทดสอบให้แน่ชัดเสียก่อน จึงไม่อาจอ้างเหตุว่าโจทก์เป็นคนเลือกสาร ที. อี. ยู. และมีการรับประกันโดยบริษัทผู้ผลิตเพื่อให้ตนเองพ้นผิดได้ ส่วนการที่โจทก์ไม่เรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัทผู้ผลิต ที. อี. ยู. นั้นก็เป็นสิทธิในส่วนของโจทก์ไม่เกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยที่ 1 ที่ต้องรับผิดต่อโจทก์อยู่แล้ว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อสุดท้ายว่า โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยตามฟ้องได้หรือไม่ เห็นว่า จำเลยทั้งหกก่อให้เกิดความเสียหายต่อโจทก์ จำเลยทั้งหกจึงมีหน้าที่ต้องรับผิดต่อโจทก์แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งหกหลังจากผ่านขั้นตอนอนุญาโตตุลาการตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้างแล้วได้ และการฟ้องคดีของโจทก์ถือได้ว่าเป็นการทวงถามแล้ว การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งหกเสียดอกเบี้ยตั้งแต่วันฟ้องจึงชอบแล้ว
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 93,663,729.29 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.