คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9590/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เมาสุราส่งเสียงดัง เดินเตะเก้าอี้และพูดจาระรานจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ ทั้งขณะที่อยู่ในร้านอาหารและขณะเดินกลับออกจากร้านเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 378 จำเลยทั้งสามจึงมีอำนาจจับกุมโจทก์ โจทก์ดิ้นรนขัดขืนไม่ยอมให้จับกุมโดยดี จึงเป็นมูลความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ได้ การที่จำเลยทั้งสามแจ้งต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีต่อโจทก์ในข้อหาเสพสุราจนเป็นเหตุให้เมาประพฤติวุ่นวายในสาธารณสถานและต่อสู้ขัดขวางการจับกุมของเจ้าพนักงาน จึงมิใช่การปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ หรือหน่วงเหนี่ยวกักขังทำให้โจทก์ปราศจากเสรีภาพในร่างกายอันจะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 และมาตรา 310 แต่ในการจับกุมโจทก์ซึ่งอยู่ในสภาพเมามายครองสติไม่ได้และโจทก์ขัดขวางการจับกุม จำเลยทั้งสามมีอำนาจใช้วิธีหรือความป้องกันทั้งหลายเท่าที่เหมาะแก่พฤติการณ์แห่งเรื่องในการจับกุมซึ่งจำเลยทั้งสามควรใช้วิธีการจับตัวและจับมือโจทก์เพื่อใส่เครื่องพันธนาการไม่ให้หลบหนีเท่านั้น จำเลยที่ 1 หาได้มีอำนาจที่จะชกต่อยทำร้าย ร่างกายโจทก์ไม่ การที่โจทก์ได้รับบาดเจ็บโดยมีบาดแผลบวมที่โหนกแก้มขวาและตามัว ซึ่งเกิดจากการที่ถูกจำเลยที่ 1
ชกในขณะจับกุมการกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 391

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๙๐, ๙๑, ๑๕๗, ๒๙๕ และ ๓๑๐
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษากลับว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗, ๓๑๐ วรรคหนึ่ง, ๓๙๑ ประกอบด้วยมาตรา ๘๓ เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ จำคุกคนละ ๑ ปี โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนดคนละ ๒ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว น่าเชื่อคำเบิกความของพยานจำเลยทั้งสามว่าโจทก์เมาสุราส่งเสียงดัง เดินเตะเก้าอี้และ พูดจาระรานจำเลยที่ ๑ ทั้งที่อยู่ในร้านและขณะเดินกลับออกจากร้านจึงถูกจำเลยทั้งสามจับกุมตัวไว้ การที่โจทก์เสพสุราจนเมาและกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๗๘ จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจจึงมีอำนาจจับกุมโจทก์ได้ และปรากฏว่าเหตุดังกล่าวทำให้โจทก์ถูกพนักงานอัยการฟ้องคดีอาญาและศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษในข้อหาความผิดฐานเสพสุราจนเป็นเหตุให้เมาประพฤติวุ่นวายในสาธารณสถานปรับ ๔๐๐ ในการ จับกุมโจทก์ซึ่งอยู่ในอาการเมาสุรานั้น น่าเชื่อตามคำเบิกความของพยานจำเลยทั้งสามว่าโจทก์ดิ้นรนขัดขืนไม่ยอมให้จับกุมโดยดี จึงเป็นมูลความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ได้ ฉะนั้นการที่จำเลยทั้งสามแจ้งต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีต่อโจทก์ในข้อหาเสพสุราจนเป็นเหตุให้เมาประพฤติวุ่นวายในสาธารณสถานและต่อสู้ขัดขวางการจับกุมของเจ้าพนักงานตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.๑ จึงมิใช่การปฏิบัติ หน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ หรือหน่วงเหนี่ยวกักขังทำให้โจทก์ปราศจากเสรีภาพในร่างกายอันจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ และมาตรา ๓๑๐ แต่อย่างใด แต่อย่างไรก็ดี ในการที่จำเลยทั้งสามจับกุมโจทก์ซึ่งอยู่ในสภาพเมามายครองสติไม่ได้แต่ขัดขวางการจับกุมนั้น จำเลยทั้งสามมีอำนาจใช้วิธีหรือ ความป้องกันทั้งหลายเท่าที่เหมาะแก่พฤติการณ์แห่งเรื่องในการจับกุม ซึ่งในพฤติการณ์เช่นนี้ จำเลยทั้งสามควรใช้วิธีการจับตัวและจับมือโจทก์เพื่อใส่เครื่องพันธนาการไม่ให้หลบหนีเท่านั้น จำเลยที่ ๑ หาได้มีอำนาจที่จะชกต่อยทำร้ายร่างกายโจทก์ไม่ การที่โจทก์ได้รับบาดเจ็บจากการจับกุมของจำเลยที่ ๑ โดยมีบาดแผลบวมที่โหนกแก้มขวาและตามัวปรากฏตามสำเนาบัตรบันทึกการตรวจผู้ป่วยเอกสารหมาย จ.๕ ซึ่งจำเลยที่ ๑ นำสืบอ้างว่า ในขณะเข้าจับกุมโจทก์ จำเลยที่ ๑ ได้ล็อกคอโจทก์ทางด้านหลังและจับมือโจทก์ให้จำเลยที่ ๓ ใส่กุญแจมือ แต่โจทก์ยืนไม่อยู่ได้ล้มลงไปกับ พื้นเองนั้น เห็นว่า หากกรณีเป็นไปตามที่จำเลยที่ ๑ นำสืบ โจทก์ก็คงจะไม่ได้รับบาดเจ็บโดยมีบาดแผลดังที่ปรากฏอยู่ภาพถ่ายหมาย จ.๒ จ.๓ และสำเนาบัตรบันทึกการตรวจผู้ป่วยเอกสารหมาย จ.๕ เชื่อว่าบาดแผลของโจทก์ดังกล่าวเกิดจากการที่ถูกจำเลยที่ ๑ ชกในขณะจับกุมนั่นเอง การกระทำของจำเลยที่ ๑ จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๙๑ ส่วนจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ นั้น ไม่ได้ความว่าได้ร่วมชกต่อยโจทก์ เพียงแต่ช่วยจำเลยที่ ๑ จับกุมโจทก์ตามอำนาจหน้าที่เท่านั้น จึงไม่มีความผิดในฐานนี้แต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษาว่าจำเลยทั้งสามมีความผิดเป็น เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ความผิดต่อเสรีภาพและความผิดฐานทำร้ายร่างกายโจทก์นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะจำเลยที่ ๑ มีความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือ จิตใจตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๙๑ ปรับ ๑,๐๐๐ บาท ข้อหาอื่นให้ยก และให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๒ และที่ ๓

Share