แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 10 วรรคสอง กำหนดให้ในกรณีที่นายจ้างเรียกหรือรับเงินประกัน หรือทำสัญญาประกันกับลูกจ้างเพื่อชดใช้ความเสียหายที่ลูกจ้างเป็นผู้กระทำ เมื่อนายจ้างเลิกจ้าง หรือลูกจ้างลาออก หรือสัญญาประกันสิ้นอายุให้นายจ้างคืนเงินประกันพร้อมดอกเบี้ย ถ้ามี ให้แก่ลูกจ้างภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่นายจ้างเลิกจ้างหรือวันที่ลูกจ้างลาออก หรือวันที่สัญญาประกันสิ้นอายุแล้วแต่กรณี และเพื่อให้สามารถดำเนินการตามบทบัญญัติดังกล่าว จึงได้มีประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับเงินประกันการทำงาน หรือเงินประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง กำหนดจำนวนเงินและวิธีการเก็บรักษา โดยข้อ 7 กำหนดให้นายจ้างนำเงินประกันฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินอื่น โดยจัดให้มีบัญชีเงินฝากของลูกจ้างแต่ละคนและให้แจ้งชื่อธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินอื่น ชื่อบัญชี และเลขที่บัญชีให้ลูกจ้างทราบเป็นหนังสือภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่รับเงินประกัน ดังนั้น เพื่อใช้ลูกจ้างได้รับเงินประกันคืนภายในเจ็ดวันพร้อมดอกเบี้ย นายจ้างจึงต้องนำเงินประกันฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินอื่นโดยจัดให้มีบัญชีเงินฝากของลูกจ้างแต่ละคน และคืนเงินประกันในบัญชีเงินฝากนั้นพร้อมดอกเบี้ย ถ้ามี แก่ลูกจ้างต่อไปโดยนายจ้างจะเก็บรักษาเงินประกันวิธีอื่นหรือนำไปจัดหาผลประโยชน์อื่นใดนอกจากนี้มิได้ เมื่อโจทก์ไม่ได้แยกบัญชีเงินฝากของลูกจ้างแต่ละคนไว้และนำดอกเบี้ยของลูกจ้างแต่ละคนโอนมารวมกันไว้ที่กองทุนสวัสดิการพนักงานทั้งการจ่ายเงินปันผลแก่ลูกจ้างทุกสิ้นปีก็เป็นการปันผลคืนสู่ลูกจ้างในรูปแบบของสินค้ามิใช่ดอกเบี้ย จึงเป็นการปฏิบัติไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 10 วรรคสอง และวิธีการตามประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับเงินประกันการทำงาน หรือเงินประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง ข้อ 7
อุทธรณ์ของโจทก์เป็นการกล่าวอ้างว่าศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่ให้สืบพยานโจทก์ในประเด็นที่จำเลยกับพวกกระทำละเมิดสิทธิของโจทก์โดยการข่มขู่และขัดขวางการปฏิบัติงานของพนักงานโจทก์ ระหว่างพิจารณาก่อนที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี เมื่อไม่ปรากฏว่าศาลแรงงานกลางได้มีคำสั่งดังกล่าวในสำนวน อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด โจทก์มอบอำนาจให้นายธนพล พูนศักดิ์อุดมสิน เป็นผู้ดำเนินคดีแทน จำเลยเป็นนักวิชาการแรงงาน 6 ว ตำแหน่งพนักงานตรวจแรงงานพื้นที่ 10 จำเลยมีคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานพื้นที่ 10 ที่ 2/2547 ลงวันที่ 19 มกราคม 2547 ให้โจทก์ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวซึ่งโจทก์ได้รับทราบคำสั่งแล้วตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2547 แต่โจทก์เห็นว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งอันมิชอบ เพราะเกิดจากกระบวนการสอบสวนที่ไม่ให้ความเป็นธรรมต่อโจทก์ในการที่จะแสดงหลักฐานข้อเท็จจริงเพื่อโต้แย้งคำร้องของลูกจ้างผู้ร้อง คำสั่งดังกล่าวจึงเกิดจากการวินิจฉัยข้อเท็จจริงจากลูกจ้างผู้ร้องเพียงฝ่ายเดียวทั้งจำเลยยังมีพฤติกรรมการใช้อำนาจหน้าที่ละเมิดสิทธิของโจทก์ด้วยการข่มขู่พนักงานของโจทก์ที่เกี่ยวข้องและขัดขวางการปฏิบัติงานของพนักงานขายประจำห้างสรรพสินค้าของโจทก์ ไม่แสดงเอกสารแนะนำตัวและขอความร่วมมือจากโจทก์ให้ถูกต้องตามระเบียบปฏิบัติของทางราชการ อันเป็นการใช้อำนาจของเจ้าพนักงานโดยมิชอบ กล่าวคือ เมื่อโจทก์ได้รับหนังสือเชิญให้ไปพบกับจำเลยครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2546 โจทก์ได้มอบอำนาจให้นางสาวจุฑารัตน์ หอมขจร เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลนำเอกสารตามที่จำเลยระบุในหนังสือเชิญให้ไปพบไปมอบให้แก่จำเลยตามกำหนดนัด แต่จำเลยกลับอ้างว่าหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวเพียงมอบอำนาจให้ส่งเอกสารเท่านั้น มิได้ให้ชี้แจงข้อเท็จจริงแต่อย่างใด และปฏิเสธที่จะมอบสำเนาบันทึกการเข้าพบจำเลยของผู้รับมอบอำนาจทั้ง ๆ ที่ผู้รับมอบอำนาจได้ร้องขอ ต่อมาวันที่ 24 ธันวาคม 2546 ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ได้เข้าพบจำเลยอีกครั้งหนึ่งเพื่อนำส่งเอกสาร แต่จำเลยยังคงอ้างเรื่องหนังสือมอบอำนาจและปฏิเสธที่จะบันทึกการเข้าพบของผู้รับมอบอำนาจโจทก์ หลังจากนั้นจำเลยมีหนังสือลงวันที่ 26 ธันวาคม 2546 แจ้งให้โจทก์ไปพบจำเลยอีกครั้งในวันที่ 30 ธันวาคม 2546 เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงประกอบการพิจารณา โดยมิได้ระบุว่าต้องการทราบข้อเท็จจริงในเรื่องใด อันจะทำให้โจทก์สามารถเตรียมเอกสารหลักฐานได้ถูกต้องแสดงว่าจำเลยมีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ให้เสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปพบจำเลย ดังนั้น โจทก์จึงส่งจดหมายลงทะเบียนตอบรับกลับไปยังจำเลย ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2546 เพื่อให้จำเลยแจ้งข้อสงสัยในแต่ละประเด็น เพื่อให้โจทก์จะได้ทำหนังสือชี้แจง แต่จำเลยกลับมีหนังสือลงวันที่ 9 มกราคม 2547 แจ้งว่าไม่สามารถดำเนินการตามที่โจทก์ร้องขอ เนื่องจากจะทำให้การดำเนินการล่าช้าไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด และขอให้โจทก์ไปพบกับจำเลยอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 14 มกราคม 2547 โจทก์จึงให้ผู้รับมอบอำนาจและนายสุรวุฒิ ดวงพัตรา เข้าพบจำเลยตามกำหนดพร้อมทำหนังสือชี้แจงในทุกประเด็นที่จำเลยสอบถามในวันที่ 15 มกราคม 2547 นอกจากนี้คำสั่งในเรื่องที่ให้โจทก์ต้องคืนเงินประกันในการทำงานให้แก่ลูกจ้างผู้ร้อง โดยอ้างว่าโจทก์ไม่ได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายในการเก็บและรักษาเงินประกันของลูกจ้างและไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าลูกจ้างผู้ร้องกระทำความเสียหายให้แก่โจทก์ โจทก์จึงต้องคืนเงินประกันในการทำงานให้แก่ลูกจ้างผู้ร้องนั้น เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ เพราะโจทก์นำเงินประกันในการทำงานของลูกจ้างทั้งหมดฝากไว้กับธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาไปรษณีย์กลาง ประเภทบัญชีออมทรัพย์ เลขที่ 077-1-28595-6 โดยโจทก์มอบใบเสร็จรับเงินประกันแก่ลูกจ้างทุกคนไว้เป็นหลักฐาน ทั้งโจทก์ยังโอนดอกผลอันเกิดจากบัญชีเงินฝากดังกล่าวเข้าบัญชีกองทุนสวัสดิการพนักงานทุก 6 เดือน เพื่อปันผลคืนแก่ลูกจ้างในรูปของสินค้า ซึ่งลูกจ้างทุกคนรวมทั้งลูกจ้างผู้ร้องได้รับครบทุกครั้ง นอกจากนี้ โจทก์ยังได้ทำบัญชีเงินประกันแยกตามรายชื่อลูกจ้างทุกเดือนเพื่อประกอบกับบัญชีเงินฝากดังกล่าว และลูกจ้างทุกคนสามารถตรวจสอบบัญชีเงินฝากดังกล่าวได้ตลอดเวลา ในส่วนที่เกี่ยวกับความเสียหายที่ลูกจ้างผู้ร้องก่อขึ้นนั้น ปรากฏว่าในการตรวจนับสินค้าเพื่อส่งมอบนั้น โจทก์จะเปรียบเทียบกับรายงานสต็อกของพนักงานขายเท่านั้น แต่เมื่อนำรายงานไปเปรียบเทียบกับบัญชีลูกหนี้ของโจทก์ภายหลัง พบว่ารายงานผิดพลาดไป 4,929 บาท จึงมีจดหมายแจ้งความเสียหายไปยังลูกจ้างผู้ร้องเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2546 นอกจากนี้ โจทก์ยังตรวจพบว่าสินค้าที่อยู่ในความดูแลของลูกจ้างผู้ร้องเสียหายจากการเปื้อนรวม 3 ชิ้น ซึ่งไม่สามารถซ่อมแซมเพื่อนำไปจำหน่ายได้ เป็นเงิน 3,960 บาท โจทก์จึงมีสิทธิหักค่าเสียหายจากเงินประกันของลูกจ้างผู้ร้องได้ ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงในสัญญาประกันฉบับลงวันที่ 15 สิงหาคม 2546 ที่ว่าโจทก์จะจ่ายเงินประกัน หลังจากลูกจ้างลาออกไปแล้ว 6 เดือน โจทก์จึงมีสิทธิหักเงินประกันของลูกจ้างผู้ร้อง คำสั่งของจำเลยที่ให้คืนเงินประกันเต็มจำนวนจึงมิชอบ
จำเลยให้การว่า ลูกจ้างผู้ร้องเป็นพนักงานขายเสื้อผ้าของโจทก์มาตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2522 ต่อมาวันที่ 19 กันยายน 2546 ลูกจ้างผู้ร้องลาออกจากงาน แต่โจทก์ยังค้างค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา และค่าคอมมิชชั่น กับไม่ยอมคืนเงินประกันในการทำงานจำนวน 4,000 บาท แก่ลูกจ้างผู้ร้อง ลูกจ้างผู้ร้องจึงยื่นคำร้องต่อจำเลย จำเลยมีหนังสือเชิญโจทก์มาพบเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงประกอบการพิจารณาคำร้องถึง 3 ครั้ง แต่โจทก์ไม่มา โดยมอบอำนาจให้นางสาวจุฑารัตน์ หอมขจร มาส่งเอกสาร จำเลยสอบข้อเท็จจริงจากนางสาวจุฑารัตน์แล้วเชื่อว่าโจทก์ค้างจ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา และค่าคอมมิชชั่นแก่ลูกจ้างผู้ร้องจริง ส่วนความเสียหายที่โจทก์อ้างว่าลูกจ้างผู้ร้องบันทึกสต็อกผิดพลาดระหว่างปี 2544 ถึง 2546 มีมูลค่าสูงเกินจริงจำนวน 4,929 บาท นั้น เหตุเกิดตั้งแต่ปี 2544 แต่โจทก์ไม่เคยหักเงินหรือทวงถามค่าเสียหายจากลูกจ้างผู้ร้องมาก่อน ทั้งข้ออ้างที่ว่าลูกจ้างผู้ร้องทำให้สินค้าเปื้อนจากการวางโชว์ที่เคาน์เตอร์ขายและไม่แจ้งให้โจทก์ทราบ โดยโจทก์เพิ่งตรวจพบเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2546 ลูกจ้างจึงต้องชำระราคาสินค้าเต็มจำนวนเป็นเงิน 3,960 บาท ยังไม่พอฟังว่าลูกจ้างผู้ร้องทำให้เกิดความเสียหายดังกล่าว นอกจากนี้ โจทก์ยังไม่ปฏิบัติตามกฎหมายในเรื่องการเรียกหรือรับเงินประกันในการทำงาน การหักเงินประกันของโจทก์จึงมิชอบ จำเลยจึงมีคำสั่งที่ 2/2547 ลงวันที่ 19 มกราคม 2547 ให้โจทก์ปฏิบัติตาม ในการออกคำสั่งดังกล่าวจำเลยดำเนินการถูกต้องตามขั้นตอน รับฟังข้อเท็จจริงถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายไม่มีเหตุที่โจทก์จะขอเพิกถอน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า หลังจากได้รับคำร้องของลูกจ้างผู้ร้องแล้ว จำเลยออกหนังสือเชิญฝ่ายโจทก์มาพบรวม 3 ครั้ง แต่กรรมการบริษัทโจทก์ไม่มา โดยมอบอำนาจให้นางสาวจุฑารัตน์ หอมขจร มาพบจำเลยและยื่นเอกสารต่อในวันที่ 6 มกราคม 2547 จำเลยเข้าไปที่โรงงานของโจทก์เพื่อขอพบกรรมการโจทก์ แต่ไม่ได้พบและไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ข่มขู่หรือกระทำการละเมิดสิทธิของโจทก์ แต่กรรมการโจทก์ไม่ยอมรับนัดเพื่อมาพบจำเลย จำเลยได้สอบปากคำนางสาวปิยะรัตน์ จำนงจิต ลูกจ้างผู้รับมอบงานต่อจากลูกจ้างผู้ร้องได้ความว่า ในวันที่ 18 กันยายน 2546 ลูกจ้างผู้ร้องได้ส่งมอบสินค้ามีจำนวนถูกต้องครบถ้วน ต่อมาวันที่ 14 กันยายน 2547 นางสาวจุฑารัตน์ หอมขจร มาพบจำเลยและส่งมอบเอกสารชี้แจงของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.3 กับได้ให้ปากคำเกี่ยวกับเรื่องสินค้าเปื้อน แต่ไม่ได้นำสินค้ามาให้ดู ในวันที่ 25 ธันวาคม 2546 โจทก์มีหนังสือแจ้งความเสียหายไปยังลูกจ้างผู้ร้อง ลูกจ้างผู้ร้องเคยถูกปรับเนื่องจากสินค้าที่อยู่ในความรับผิดชอบ คือเสื้อ 4 ตัว ชำรุดและสีหมองรวม 2 ครั้ง เมื่อประมาณเดือนมีนาคมและเดือนพฤษภาคม 2546 และเคยลงลายมือชื่อรับทราบหนังสือภาคทัณฑ์ตามเอกสารหมาย จ.5 เนื่องจากรายงานสินค้าสลับสีสลับขนาด โจทก์เรียกเก็บเงินประกันในการทำงานจากลูกจ้างผู้ร้อง 4,000 บาท โดยโจทก์นำเงินประกันที่เรียกเก็บจากลูกจ้างทั้งหมดเข้าฝากไว้ที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด บัญชีเลขที่ 077-1-28595-6 แต่ไม่ได้แยกบัญชีเงินฝากของลูกจ้างแต่ละคนไว้ เพียงแต่ทำบัญชีแยกรายชื่อไว้เท่านั้น ส่วนดอกเบี้ยจะโอนมารวมกันที่กองทุนสวัสดิการของพนักงานและจ่ายปันผลคืนแก่ลูกจ้างทุกสิ้นปีและโจทก์ได้ออกใบเสร็จรับเงินประกันให้ลูกจ้างผู้ร้องไว้ด้วย ตามเอกสารหมาย จ.23 และ จ.24 ลูกจ้างผู้ร้องทำสัญญาประกันไว้ตามเอกสารหมาย จ.4 โจทก์มีระเบียบในการคืนเงินประกันภายใน 6 เดือน เนื่องจากต้องตรวจสอบก่อนว่ามีกรณีทุจริตหรือฉ้อโกงสินค้าหรือไม่ ตามเอกสารหมาย จ.22 โจทก์อุทธรณ์ประการแรกว่า เหตุที่โจทก์นำเงินประกันการทำงานของพนักงานเปิดบัญชีในนามของกรรมการผู้มีอำนาจไม่ได้เปิดในนามบริษัทเพราะเป็นเงินประกันการทำงานของพนักงานไม่ใช่เงินของบริษัท อีกทั้งเพื่อเป็นประโยชน์ต่อดอกผลที่พนักงานจะได้รับ โจทก์ไม่เคยนำเงินไปใช้ในกิจการของโจทก์แต่อย่างใด การเบิกถอนเงินจะต้องเบิกจ่ายระบุชื่อพนักงานเจ้าของเงินประกันการทำงานทุกครั้ง ทั้งยังโอนดอกผลอันเกิดจากบัญชีเงินฝากดังกล่าวเข้าบัญชีกองทุนสวัสดิการของพนักงานทุกหกเดือน เพื่อปันผลคืนแก่พนักงานในรูปแบบของสินค้า จึงไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 10 และประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับเงินประกันการทำงาน หรือเงินประกันความเสียหายในการทำงานลูกจ้าง นั้นเห็นว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์เก็บเงินประกันการทำงานจากลูกจ้างผู้ร้องจำนวน 4,000 บาท และนำฝากที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด บัญชีเลขที่ 077-1-28595-6 แต่ไม่ได้แยกบัญชีเงินฝากของลูกจ้างแต่ละคนไว้ เพียงแต่ทำบัญชีแยกรายชื่อไว้เท่านั้น ส่วนดอกเบี้ยจะโอนมารวมกันที่กองทุนสวัสดิการของพนักงานและจ่ายปันผลแก่ลูกจ้างทุกสิ้นปี ซึ่งตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 10 วรรคสอง กำหนดให้ในกรณีที่นายจ้างเรียกหรือรับเงินประกัน หรือทำสัญญาประกันกับลูกจ้างเพื่อชดใช้ความเสียหายที่ลูกจ้างเป็นผู้กระทำ เมื่อนายจ้างเลิกจ้างหรือลูกจ้างลาออกหรือสัญญาประกันสิ้นอายุให้นายจ้างคืนเงินประกันพร้อมดอกเบี้ย ถ้ามี ให้แก่ลูกจ้างภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่นายจ้างเลิกจ้างหรือวันที่ลูกจ้างลาออก หรือวันที่สัญญาประกันสิ้นอายุแล้วแต่กรณี และเพื่อให้สามารถดำเนินการตามบทบัญญัติดังกล่าว จึงได้มีประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับเงินประกันการทำงาน หรือเงินประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง ลงวันที่ 19 สิงหาคม 2541 กำหนดจำนวนเงินและวิธีการเก็บรักษา โดยข้อ 7 กำหนดให้นายจ้างนำเงินประกันฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินอื่นโดยจัดให้มีบัญชีเงินฝากของลูกจ้างแต่ละคน และให้แจ้งชื่อธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินอื่น ชื่อบัญชี และเลขที่บัญชี ให้ลูกจ้างทราบเป็นหนังสือภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่รับเงินประกัน ดังนั้น เพื่อให้ลูกจ้างได้รับเงินประกันคืนภายในเจ็ดวันพร้อมดอกเบี้ย นายจ้างจึงต้องนำเงินประกันฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินอื่นโดยจัดให้มีบัญชีเงินฝากของลูกจ้างแต่ละคนและคืนเงินประกันในบัญชีเงินฝากนั้นพร้อมดอกเบี้ย ถ้ามี แก่ลูกจ้างต่อไปโดยนายจ้างจะเก็บรักษาเงินประกันวิธีอื่นหรือนำไปจัดหาผลประโยชน์อื่นใดนอกจากนี้มิได้ เมื่อโจทก์ไม่ได้แยกบัญชีเงินฝากของลูกจ้างแต่ละคนไว้และนำดอกเบี้ยของลูกจ้างแต่ละคนโอนมารวมกันไว้ที่กองทุนสวัสดิการพนักงาน ทั้งการจ่ายปันผลแก่ลูกจ้างทุกสิ้นปีก็เป็นการปันผลคืนแก่ลูกจ้างในรูปแบบของสินค้ามิใช่ดอกเบี้ย จึงเป็นการปฏิบัติไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 10 วรรคสอง และวิธีการตามประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับเงินประกันการทำงาน หรือเงินประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง ข้อ 7 อุทธรณ์โจทก์ประการนี้ฟังไม่ขึ้น
โจทก์อุทธรณ์ประการต่อไปว่า ลูกจ้างผู้ร้องเคยมีประวัติเกี่ยวกับสินค้าเปื้อนชำรุดและเคยถูกปรับมาแล้ว ลูกจ้างได้กระทำการปกปิดเรื่องของสินค้าเปื้อนชำรุดที่อยู่ในความครอบครองของลูกจ้าง และจงใจทำรายการสินค้าคงเหลืออันเป็นเท็จต่ำกว่าความจริงจำนวน 3 ชิ้น และมูลค่ารวมต่ำเกินจริงเพื่อยักยอกส่วนต่างของมูลค่าสินค้าคงเหลือ และที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ได้ต่อสู้คดีในศาลแรงงานกลางว่าลูกจ้างผู้ร้องยักยอกทรัพย์ของโจทก์ แต่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ลูกจ้างผู้ร้องบันทึกสต็อกของสินค้าผิดพลาด มีมูลค่าสูงเกินจริงซึ่งโจทก์ถือว่ายังไม่ได้รับการวินิจฉัยจากศาลแรงงานกลางเพราะเหตุตามฟ้องและคำเบิกความของพยานโจทก์ที่นำเสนอต่อศาลแรงงานกลางยืนยันชัดเจนว่าลูกจ้างผู้ร้องจงใจจัดทำรายการสถิติการขายเป็นเท็จแจ้งแก่โจทก์เพื่อเบียดบังยักยอกทรัพย์ไปโดยทุจริต อีกทั้งในคำพิพากษาซึ่งระบุว่าเพื่อตรวจสอบหลังจากลูกจ้างผู้ร้องลาออกไปแล้วและเป็นการตรวจสอบโดยโจทก์ฝ่ายเดียว เป็นการวินิจฉัยที่คลาดเคลื่อนจากวิธีการตรวจสอบของโจทก์นั้น เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า ในเรื่องความเสียหายที่อ้างว่าลูกจ้างผู้ร้องบันทึกสต็อกสินค้าผิดพลาด มีมูลค่าสูงกว่าจริงนั้น เหตุเกิดมาตั้งแต่ปี 2544 แต่เพิ่งตรวจสอบหลังจากลูกจ้างผู้ร้องลาออกไปแล้วและเป็นการตรวจสอบโดยโจทก์ฝ่ายเดียวโดยโจทก์ไม่เคยทักท้วงหรือแจ้งให้ลูกจ้างผู้ร้องทราบมาก่อน ทั้งที่โจทก์เคยมีหนังสือภาคทัณฑ์ลูกจ้างผู้ร้องเพราะบันทึกสต็อกสินค้าบกพร่องเรื่องรายงานสินค้าสลับสีสลับขนาดเท่านั้น มิได้กล่าวถึงเรื่องบันทึกสต็อกสินค้ามีมูลค่าสูงเกินจริงแต่อย่างใดและเพิ่งแจ้งให้ลูกจ้างผู้ร้องทราบพร้อมกับแจ้งเรื่องสินค้าเปื้อนหลังจากลูกจ้างผู้ร้องออกจากงานไปแล้ว ทั้งรอยเปื้อนที่เสื้อเป็นเพียงจุดเล็ก ๆ และสีจาง ๆ ไม่แจ้งชัดว่าเปื้อนตั้งแต่เมื่อใด โดยโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ให้เห็นว่าสินค้าเปื้อนขณะอยู่ในความรับผิดชอบของลูกจ้างผู้ร้อง จึงรับฟังไม่ได้ว่าลูกจ้างผู้ร้องได้ก่อความเสียหายแก่โจทก์ที่โจทก์อุทธรณ์ข้างต้นก็เพื่อให้ศาลฎีการับฟังข้อเท็จจริงใหม่ว่าลูกจ้างผู้ร้องกระทำการยักยอกทรัพย์ทำให้โจทก์เสียหาย จึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
โจทก์อุทธรณ์ประการสุดท้ายว่า ศาลแรงงานกลางระบุอย่างชัดเจนในระหว่างการพิจารณาว่า ประเด็นที่จำเลยกับพวกกระทำละเมิดสิทธิของโจทก์โดยการข่มขู่และขัดขวางการปฏิบัติงานของพนักงานโจทก์นั้น มิใช่เหตุในการเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานเป็นเหตุให้โจทก์มิได้นำสืบเพื่อต่อสู้ในประเด็นนี้ตลอดกระบวนการพิจารณาแต่ศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยในประเด็นนี้ว่า จำเลยมิได้ข่มขู่หรือกระทำการใดอันเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ จึงเป็นคำพิพากษาที่มิได้ให้โอกาสโจทก์สืบพยานตามคำฟ้องนั้น เห็นว่า อุทธรณ์ของโจทก์เป็นการกล่าวอ้างว่าศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่ให้สืบพยานโจทก์ในประเด็นดังกล่าวระหว่างพิจารณาพิจารณาก่อนที่ศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี เมื่อไม่ปรากฏว่าศาลแรงงานกลางได้มีคำสั่งดังกล่าวในสำนวน อุทธรณ์ของโจทก์ประการนี้จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานกลางและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเช่นกัน”
พิพากษายืน