คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7277/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ข้อที่ว่า ศ. ผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เจ้าหน้าที่อื่นของผู้คัดค้านและเจ้าหน้าที่รัฐหน่วยอื่น ๆ รับประโยชน์จากผู้ร้องทั้งสาม หากมีอยู่จริงดังคำคัดค้าน การใช้อำนาจตามกฎหมายของ ศ. ในฐานะผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยในการทำสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนฯ ในนามผู้คัดค้านย่อมเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย การใช้อำนาจของ ศ. และเจ้าหน้าที่รัฐคนอื่นมิใช่เป็นเรื่องภายในของผู้คัดค้านดังที่ผู้ร้องทั้งสามแก้อุทธรณ์ ถือว่าการอุทธรณ์โดยอ้างข้อเท็จจริงดังกล่าวของผู้คัดค้านเป็นการโต้แย้งคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยว่า นิติกรรมหรือสัญญา หากมีการทำขึ้นเพราะกลฉ้อฉลหากมีอยู่จริงก็ไม่ทำให้สัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนฯ เป็นโมฆะนั้น ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 อันเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งผู้คัดค้านย่อมอุทธรณ์ได้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 (2) ซึ่งบัญญัติไว้อย่างเดียวกับ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 มาตรา 26 (2)
การที่ ศ. ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยในขณะเกิดเหตุปิดบังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้าง ในการประชุมคณะกรรมการ กทพ. และลงนามในขณะที่ยังไม่มีการว่าจ้างวิศวกรที่ปรึกษาเพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดำเนินการโครงการกับผู้คัดค้าน เพื่อมิให้ผู้คัดค้านต้องเสียประโยชน์ ทำให้เกิดปัญหาหลายอย่างตามมา นอกจากนั้น การลงนามของ ศ. ยังมีลักษณะเร่งรีบโดยลงนามก่อนวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปเพียง 4 วัน จากข้อเท็จจริงดังกล่าวทำให้เห็นได้ว่า การกระทำของ ศ. เพื่อให้มีการลงนามในสัญญาดังกล่าวให้จงได้ นับเป็นการผิดปกติวิสัยของเจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ ประกอบกับข้อที่ ศ. ได้รับประโยชน์จากการซื้อหุ้นจองของบริษัทผู้ร้องที่ 2 และของบริษัททางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ที่ผู้ร้องที่ 2 เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่แล้ว มีเหตุผลให้เชื่อได้ว่า ศ. ต้องการจะช่วยเหลือผู้ร้องทั้งสามโดยเห็นแก่ประโยชน์ที่ผู้ร้องทั้งสามจัดให้ จึงถือว่าการใช้อำนาจในฐานะผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยของ ศ. ที่ลงนามในสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนฯ เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย
การที่ผู้ร้องที่ 2 เพิ่มทุนและจัดสรรหุ้นให้แก่ ศ. และเจ้าหน้าที่ของรัฐคนอื่นได้ซื้อหุ้นในฐานะผู้มีอุปการะคุณ รวมทั้งการจัดสรรหุ้นของบริษัททางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ให้ ศ. กับเจ้าหน้าที่ของรัฐคนอื่นมีสิทธิซื้อก่อนทำสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนฯ ก็ถือได้ว่าผู้ร้องทั้งสามได้ให้ผลประโยชน์แก่ ศ. และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อจูงใจให้ ศ. และเจ้าหน้าที่ดังกล่าวปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการทำสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนฯ โดยเอื้อประโยชน์แก่ผู้ร้องทั้งสามนั้นเอง กรณีจึงต้องถือว่าในการทำสัญญาดังกล่าวของผู้ร้องทั้งสาม ผู้ร้องทั้งสามใช้สิทธิโดยไม่สุจริต สัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนฯ ซึ่งเกิดจากการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงไม่มีผลผูกพันผู้คัดค้าน คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 36/2544 ที่ชี้ขาดให้ผู้คัดค้านชำระเงินให้แก่ผู้ร้องทั้งสามตามสัญญาซึ่งเกิดขึ้นจากการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวนั้น หากศาลบังคับให้ตามคำชี้ขาดนั้นย่อมเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ชอบที่ศาลชั้นต้นจะปฏิเสธไม่รับบังคับให้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการฯ มาตรา 44 ดังนั้น คำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังกล่าวจึงฝ่าฝืนต่อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน

ย่อยาว

ผู้ร้องทั้งสามยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องทั้งสามในนามกิจการร่วมค้า บีบีซีดี มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 36/2544 ระหว่าง ผู้ร้องทั้งสามกับผู้คัดค้าน ซึ่งคณะอนุญาโตตุลาการแห่งสถาบันอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดเป็นเอกฉันท์เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2544 ให้ผู้คัดค้านชำระเงินให้แก่ผู้ร้องทั้งสาม จำนวน 3,371,446,114 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จและเงินจำนวน 2,668,447,140 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 15 มกราคม 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ผู้คัดค้านหาได้ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังกล่าวไม่ กลับมีหนังสือแจ้งให้ผู้ร้องทั้งสามนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของศาลยุติธรรม จึงขอให้ศาลมีคำพิพากษาและบังคับให้ผู้คัดค้านชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องทั้งสามตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะทำสัญญาอนุญาโตตุลาการในคดีนี้กำหนดให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดข้อพิพาทเฉพาะคดีแพ่ง แต่ต่อมามีพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 บัญญัติให้สัญญาอนุญาโตตุลาการดังกล่าวเป็นสัญญาทางปกครอง ข้อกำหนดในสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนสายบางนา – บางพลี – บางประกง ที่ให้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเพื่อชี้ขาดจึงไม่มีผลผูกพันตามกฎหมาย การบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจึงขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนและถึงหากศาลจะเห็นว่าเรื่องนี้อยู่ในขอบเขตแห่งสัญญาอนุญาโตตุลาการ ผู้คัดค้านก็เห็นว่าการดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการที่ได้กระทำไปไม่ชอบด้วยกฎหมายที่ไม่นำเอากระบวนพิจารณาทางปกครองมาวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาท สัญญาดังกล่าวทำขึ้นโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐและผู้คัดค้านที่เกี่ยวข้องกับการทำสัญญาร่วมกับผู้ร้องทั้งสามมีพฤติการณ์ฉ้อฉลหลายประการ เป็นต้นมา ผู้คัดค้านลงนามทำสัญญากับผู้ร้องทั้งสามซึ่งไม่มีคุณสมบัติตามข้อกำหนดตามระเบียบ เป็นการเอื้อประโยชน์ให้ผู้ร้องทั้งสามเป็นผู้รับจ้างตามสัญญาไม่ชอบด้วยระเบียบข้อกำหนด ผู้ว่าการของผู้คัดค้านในขณะนั้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการอนุมัติให้ผู้คัดค้านดำเนินการโครงการทางด่วนสายนี้ จนกระทั่งได้มีการลงนามในสัญญาในเวลาต่อมา อันมีลักษณะเร่งรีบ เนื่องจากความไม่พร้อมในเรื่องการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้าง และลงนามก่อนเลือกตั้งทั่วไปเพียง 4 วัน และมีการว่าจ้างวิศวกรที่ปรึกษาภายหลังลงนามในสัญญาแล้ว 3 เดือน ทำให้มีปัญหาเรื่องการปฏิบัติตามเงื่อนไขของสัญญา เรื่อง การอนุมัติแบบและการส่งมอบพื้นที่ จนเป็นเหตุให้ผู้ร้องทั้งสามนำไปใช้เป็นข้ออ้างในการขอขยายระยะเวลาและเรียกร้องเงินเพิ่มในเวลาต่อมา นอกจากนี้ ในขณะนั้นผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยบางคนถือหุ้นอยู่ในบริษัทผู้ร้องที่ 2 โดยซื้อในราคาจองก่อนเข้าตลาดหลักทรัพย์ และขายไปภายหลังลงนามในสัญญาแล้ว และยังมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของผู้คัดค้านอีกหลายคนได้รับสิทธิจองหุ้นของผู้ร้องที่ 2 และหุ้นของบริษัททางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของผู้ร้องที่ 2 ในราคาจัดจำหน่าย ทำให้ผู้ซื้อหุ้นจองดังกล่าวได้ประโยชน์ส่วนต่างของราคาซื้อเมื่อเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ อันมีลักษณะให้ประโยชน์แก่บุคคลดังกล่าว นอกจากนี้ คณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยได้อนุมัติให้ผู้คัดค้านว่าจ้างบริษัทหลุยส์เบอร์เยอร์อินเตอร์เนชั่นแนล อิงค์ เป็นวิศวกรที่ปรึกษาของผู้คัดค้าน แต่เจ้าหน้าที่ของผู้คัดค้านกลับลงนามในสัญญาจ้างบริษัทดังกล่าว และบริษัทซี คอนซัลท์เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งขัดต่อมติของคณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย จากข้อเท็จจริงดังกล่าวมาแสดงให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่ของผู้คัดค้านผู้มีหน้าที่ดำเนินการตามโครงการได้สมคบกับผู้ร้องทั้งสามและวิศวกรที่ปรึกษามีพฤติการณ์ฉ้อฉล หากให้มีการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตามคำร้องของผู้ร้องทั้งสามที่เกิดจากสัญญาอันได้มาจากกลฉ้อฉลดังกล่าวข้างต้นจะทำให้ผู้คัดค้านและประชาชนได้รับความเสียหายที่จะต้องนำเงินภาษีอากรของประชาชนทั้งประเทศมาใช้อันจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน อนึ่ง อนุญาโตตุลาการผู้ร่วมทำคำชี้ขาดคดีนี้มีพฤติการณ์ไม่มีความเป็นอิสระและไม่มีความเป็นกลาง ขัดต่อข้อบังคับกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญาโตตุลาการ กระทรวงยุติธรรม ข้อ 14 โดยมิได้ดำเนินกระบวนพิจารณาให้เป็นไปโดยถูกต้องเป็นธรรม และเป็นไปตามข้อบัญญัติของกฎหมาย และมีความโน้มเอียงที่จะเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ร้องทั้งสามดังเช่นในการกำหนดประเด็นข้อพิพาทในเรื่องค่าเสียหาย ประธานอนุญาโตตุลาการได้กล่าวว่า ผู้ร้องทั้งสามจะต้องเป็นผู้นำสืบถึงรายละเอียดของค่าเสียหายที่แท้จริงของแต่ละรายการ แต่ในการดำเนินกระบวนพิจารณา ผู้ร้องทั้งสามไม่ได้นำสืบในประเด็นเรื่องค่าเสียหายโดยละเอียด แต่คณะอนุญาโตตุลาการกลับชี้ขาดให้ผู้ร้องทั้งสามได้รับชดเชยค่าเสียหายเต็มตามที่เรียกร้องโดยอาศัยเพียงเอกสารหนังสือที่วิศวกรที่ปรึกษามีความเห็นแจ้งไปให้ผู้คัดค้านแต่เพียงฝ่ายเดียวทราบ ซึ่งเป็นการแจ้งไม่ชอบตามสัญญา นอกจากนี้ อนุญาโตตุลาการบางคนตลอดจนญาติพี่น้องเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัททางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีผู้ร้องที่ 2 เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และยังถือหุ้นของผู้ร้องที่ 2 อยู่ก่อนที่จะได้รับคัดเลือกเป็นอนุญาโตตุลาการ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นอนุญาโตตุลาการที่ผู้คัดค้านเลือกเองก็ไม่ได้เปิดเผยถึงข้อเท็จจริงนี้ให้ผู้คัดค้านทราบ ไม่ชอบด้วยข้อบังคับของกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยอนุญาโตตุลาการฯ ข้อ 14 ที่กำหนดว่า เมื่อได้รับการแต่งตั้งให้อนุญาโตตุลาการเปิดเผยข้อเท็จจริงอันอาจทำให้คู่กรณีเกิดความสงสัยอันควรในความอิสระและความเป็นกลางของตนในการระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นถ้าหากพึงมี จึงเห็นได้ว่าบุคคลซึ่งมาปฏิบัติหน้าที่อนุญาโตตุลาการมีความสัมพันธ์เกี่ยวกับฝ่ายผู้ร้องทั้งสาม ซึ่งเป็นสาเหตุให้การปฏิบัติหน้าที่อนุญาโตตุลาการขาดความเป็นกลางในการชี้ขาดข้อพิพาท ความจริงแล้วผู้คัดค้านในฐานะหน่วยงานของรัฐไม่มีเจตนาที่จะไม่ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการหรือกระทำการใดที่เป็นการโต้แย้งสิทธิของผู้ร้องทั้งสาม เหตุที่ไม่สามารถปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้เพราะคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการไม่ชอบด้วยกฎหมาย กระบวนพิจารณาในชั้นอนุญาโตตุลาการเป็นกระบวนพิจารณาที่มิได้เป็นไปตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 มาตรา 17 ที่บัญญัติให้อนุญาโตตุลาการดำเนินวิธีพิจารณาโดยคำนึงถึงหลักแห่งความยุติธรรมเป็นสำคัญประกอบกับข้อบังคับกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยอนุญาโตตุลาการฯ ข้อ 21 ข้อ 23 และข้อ 28 โดยมิได้ฟังคู่กรณีและทำการไต่สวนค้นหาความจริงให้สิ้นกระแสความชอบที่ศาลจะมีการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายให้ถ่องแท้โดยละเอียดอีกครั้งหนึ่ง คำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการมิได้เป็นไปตามที่คู่พิพาทได้ตกลงกันไว้โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทและภาระการพิสูจน์ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84 ว่าด้วยการนำสืบและการรับฟังพยานหลักฐานในคดีแพ่ง คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและข้อสัญญาและไม่เป็นธรรมแก่ผู้คัดค้านคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการมิได้อยู่ในขอบเขตแห่งสัญญาอนุญาโตตุลาการที่มีผลผูกพันตามกฎหมายหรือคำขอของคู่กรณีคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการทั้ง 4 ประเด็นที่วินิจฉัยชี้ขาดให้ผู้คัดค้านชำระเงินให้แก่ผู้ร้องทั้งสามพร้อมดอกเบี้ยจึงขัดต่อข้อเท็จจริงและข้อสัญญา เป็นการฝ่าฝืนต่อข้อบังคับกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยอนุญาโตตุลาการฯ ข้อ 28 ขอให้มีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสาม โดยไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ
ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ พิพากษาให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 36/2544 โดยให้ผู้คัดค้านชำระเงินให้แก่ผู้ร้องทั้งสาม คือ ชำระเงินจำนวน 3,371,446,114 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จและจำนวน 2,668,447,140 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 15 มกราคม 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ผู้คัดค้านใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้ร้องทั้งสามโดยกำหนดค่าทนายความ 500,000 บาท
ผู้คัดค้านอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ผู้ร้องที่ 1 เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมณี เดิมใช้ชื่อว่า บิลฟิงเกอร์พลัส เบอร์เกอร์ บาวอัคเตียนเกเซลชาฟท์ ผู้ร้องที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัท มหาชน จำกัด และผู้ร้องที่ 3 เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีเดิมใช้ชื่อว่า ดิคเคอร์ฮอฟฟ์ แอนด์ วิดแมนน์ เอจี ส่วนผู้คัดค้านเป็นนิติบุคคลประเภทรัฐวิสาหกิจ จัดตั้งขึ้นโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2515 มีวัตถุประสงค์ในการสร้างหรือจัดให้มีด้วยวิธีการใด ๆ ตลอดจนบำรุงและรักษาทางพิเศษ ผู้ร้องทั้งสามได้รวมเข้ากันเป็นกิจการร่วมค้า มีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบกิจการรับจ้างเหมาและก่อสร้างทางพิเศษ (ทางด่วน) ใช้ชื่อว่า “กิจการร่วมค้าบีบีซีดี” เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2538 ผู้ร้องทั้งสามและผู้คัดค้านโดยนายศิวะ เจริญพงศ์ ผู้ว่าการการพิเศษแห่งประเทศไทยได้ลงนามในสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนสายบางนา – บางพลี – บางปะกง ตามเอกสารหมาย ค. 38 โดยตกลงราคาจ้างเหมาซึ่งรวมถึงเงินค่ากำไร ค่าภาษี ต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เป็นเงินทั้งสิ้น 25,192,950,000 บาท ซึ่งเรียกว่า “ราคาคงที่” ในการชำระราคาคงที่ดังกล่าว ผู้คัดค้านตกลงชำระให้แก่ผู้ร้องทั้งสามตามตารางการชำระเงินตามข้อ 1 ผนวก 4 แนบท้ายสัญญาเอกสารหมาย ค. 38 ในการดำเนินการตามสัญญา ผู้คัดค้านได้แต่งตั้งวิศวกรที่ปรึกษาของผู้คัดค้านเป็นตัวแทนของผู้คัดค้านในการตรวจสอบและออกหนังสือรับรองการแล้วเสร็จงาน รวมทั้งรับรองการปรับราคาคงที่และปรับวันกำหนดแล้วเสร็จของงาน ทั้งนี้ ตามสัญญากำหนดให้ผู้ร้องทั้งสามดำเนินการก่อสร้างงานทั้งหมดให้แล้วเสร็จภายใน 42 เดือนนับจากวันที่ผู้คัดค้านได้มีหนังสือแจ้งบอกกล่าวให้มีการเริ่มงาน เมื่อวันที่ 3 และ 11 สิงหาคม 2538 ผู้ร้องทั้งสามมีหนังสือถึงผู้คัดค้านแจ้งให้ยืนยันเกี่ยวกับการส่งมอบพื้นที่เพื่อก่อสร้างในส่วนย่อยที่ 1.1 และที่ 1.2 นายศิวะเข้าร่วมประชุมกับผู้ร้องทั้งสามแล้วเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2538 ผู้ร้องทั้งสามแจ้งยืนยันกำหนดเวลาขอรับมอบพื้นที่ในส่วนย่อยที่ 1 และที่ 2 ในที่สุดวันที่ 25 สิงหาคม 2538 นายศิวะมีหนังสือแจ้งผู้ร้องทั้งสามยืนยันว่าจะส่งมอบพื้นที่ในส่วนย่อยที่ 1 และที่ 2 ได้ แต่เมื่อผู้ร้องทั้งสามได้เริ่มงานตามหนังสือแจ้งบอกกล่าวของนายศิวะแล้ว ปรากฏว่าผู้คัดค้านไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ที่ก่อสร้างให้แก่ผู้ร้องทั้งสามได้ พื้นที่ดังกล่าวส่งมอบให้แก่ผู้ร้องทั้งสามเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2539 ซึ่งเป็นเวลาที่นายศิวะพ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยไปแล้ว อนึ่ง นอกจากการส่งมอบพื้นที่ล่าช้าแล้วยังเกิดเหตุการณ์อื่นอีกที่จะต้องมีการปรับวันกำหนดแล้วเสร็จ ในวันที่ 18 มิถุนายน 2541 ผู้ร้องทั้งสามและผู้คัดค้านได้ทำสัญญาแก้ไขเพิ่มเติม (ครั้งที่ 1) โดยขยายวันกำหนดแล้วเสร็จออกของงานไปอีก 11 เดือน และต่อมาประมาณกลางปี 2542 อันเป็นเวลาที่ผู้ร้องทั้งสามได้ดำเนินการก่อสร้างทางด่วนสายนี้ใกล้จะแล้วเสร็จ ผู้ร้องทั้งสามได้มีหนังสือถึงวิศวกรที่ปรึกษาแจ้งว่า การที่ผู้คัดค้านส่งมอบสิทธิในเขตทางล่าช้ารวมทั้งการไม่สามารถจัดให้ได้มาซึ่งสิทธิครอบครองพื้นที่ว่างเปล่าของสถานที่ก่อสร้างในเวลาต่อมาและมีเหตุการณ์ที่ผู้คัดค้านไม่สามารถดำเนินการให้มีการอนุมัติแบบได้ทันภายในกำหนดเวลาในสัญญา และผู้อนุมัติแบบได้มีคำสั่งให้แก้ไขแบบต่างไปจากที่ตกลงกันไว้ในสัญญาเป็นจำนวนมาก ได้ส่งผลกระทบถึงการปฏิบัติงานของผู้ร้องทั้งสาม ทำให้ราคาคงที่ตามสัญญาเพิ่มสูงขึ้น 8,621,656,047 บาท วิศวกรที่ปรึกษาตรวจสอบและทบทวนแล้วเห็นว่าราคาคงที่จะต้องปรับเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 6,039,893,254 บาท จึงได้แจ้งให้ผู้คัดค้านทราบตามเงื่อนไขของสัญญาในผนวก 1 ข้อ 1.9.2 (ข) (ii) (ขข) 2 และแจ้งให้ผู้ร้องทั้งสามทราบด้วย แต่ผู้คัดค้านได้มีหนังสือแจ้งไปยังวิศวกรที่ปรึกษาว่า ผู้ร้องทั้งสามไม่มีสิทธิจะได้รับการปรับราคาคงที่และได้รับการชดเชยตามที่วิศวกรที่ปรึกษาได้รับรอง ต่อมามีการประชุมร่วมกันเพื่อระงับข้อพิพาทในวันที่ 3 มีนาคม 2543 แต่ไม่สามารถเจรจาตกลงกันได้ผู้ร้องทั้งสามจึงเสนอข้อขัดแย้งต่ออนุญาโตตุลาการเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดให้ผู้คัดค้านชำระราคาคงที่ที่เพิ่ม ผู้คัดค้านได้ยื่นคำคัดค้านต่ออนุญาโตตุลาการ ต่อมาสถาบันอนุญาโตตุลาการอนุญาโตตุลาการได้มีหนังสือแจ้งผู้คัดค้านให้ส่งรายชื่ออนุญาโตตุลาการฝ่ายตน ผู้คัดค้านได้ยื่นคำแถลงส่งหนังสือแต่งตั้งนายวัลลภ ตันติกุล เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายผู้คัดค้าน ส่วนผู้ร้องทั้งสามได้ยื่นคำแถลงแต่งตั้งนายมุรธา วัฒนะชีวะกุล เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายผู้ร้องทั้งสาม สถาบันอนุญาโตตุลาการได้คัดเลือกนายเธียร เจริญวัฒนา เป็นประธานอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทนี้ คณะอนุญาโตตุลาการได้ชี้ขาดให้ผู้คัดค้านชำระเงินให้แก่ผู้ร้องทั้งสาม คือ ชำระเงินจำนวน 3,371,446,114 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และจำนวน 2,668,447,140 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 15 มกราคม 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ ค่าป่วยการคณะอนุญาโตตุลาการและค่าใช้จ่ายในการดำเนินกระบวนพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการให้เป็นไปตามบัญชีท้ายคำชี้ขาด ภายหลังจากที่คณะอนุญาโตตุลาการได้มีคำชี้ขาดดังกล่าวแล้ว ผู้คัดค้านได้มีหนังสือส่งสำเนาคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการไปยังกระทรวงการคลัง เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการพิจารณาให้ความเห็นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2544 ในขณะเดียวกัน ผู้คัดค้านก็ได้มีหนังสือถึงผู้ร้องทั้งสามปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ โดยอ้างว่าเป็นคำชี้ขาดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ร้องทั้งสามจึงยื่นคำร้องคดีนี้เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2545 ภายหลังจากวันที่ 30 เมษายน 2545 ซึ่งเป็นวันใช้บังคับพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 จากข้อเท็จจริงดังกล่าว ศาลฎีกาจักได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้คัดค้านทีละข้อต่อไป
ผู้คัดค้านอุทธรณ์โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ โดยอ้างเหตุต่าง ๆ รวม 8 ข้อ คือข้อ 2.1 ถึงข้อ 2.8 ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยข้อ 2.8 เป็นประการแรก เนื่องจากการวินิจฉัยข้อนี้อาจทำให้อุทธรณ์ข้ออื่น ๆ ของผู้คัดค้านและคำแก้อุทธรณ์บางข้อของผู้ร้องทั้งสามไม่ต้องวินิจฉัยได้
อุทธรณ์ข้อ 2.8 สืบเนื่องจากข้อต่อสู้ของผู้คัดค้านซึ่งให้การว่า สัญญาอนุญาโตตุลาการทำขึ้นโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐและเจ้าหน้าที่ของผู้คัดค้านที่เกี่ยวข้องกับการทำสัญญาร่วมกับผู้ร้องทั้งสามมีพฤติการณ์ฉ้อฉลหลายประการ นอกจากนั้นผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยบางคนถือหุ้นอยู่ในบริษัทผู้ร้องที่ 2 และบริษัททางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ที่ผู้ร้องที่ 2 เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ โดยซื้อหุ้นดังกล่าวในราคาจองแล้วขายไปภายหลังลงนามในสัญญา รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของผู้คัดค้านหลายคนก็ได้รับสิทธิจากผู้ร้องทั้งสามในทำนองเดียวกัน ศาลแพ่งกรุงเทพใต้วินิจฉัยข้อต่อสู้ของผู้คัดค้านว่า นิติกรรมหรือสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างผู้ร้องทั้งสามและผู้คัดค้านหากมีการทำขึ้นเพราะกลฉ้อฉล ผลในทางกฎหมายอย่างมากก็เป็นเพียงโมฆียะ ในเมื่อไม่ปรากฏว่ามีการบอกล้าง สัญญาระหว่างผู้ร้องทั้งสามและผู้คัดค้านจึงชอบด้วยกฎหมายและฟังไม่ได้ว่าเป็นสัญญาที่เกิดจากกลฉ้อฉลผู้คัดค้านอุทธรณ์คำวินิจฉัยข้อนี้ว่าในการทำสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนฯ เอกสารหมาย ค. 38 มีการทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยเอื้อประโยชน์แก่คู่สัญญาก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ และมีเจ้าหน้าที่ของรัฐร่วมมือกับผู้ร้องทั้งสามโดยเฉพาะนายศิวะ เจริญพงษ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยสืบต่อจากนายสุขวิช รังสิตพล และเป็นผู้ลงนามในสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนฯ เอกสารหมาย ค. 38 ในนามผู้คัดค้านกระทำโดยมิชอบหลายประการรวมทั้งถือหุ้นทั้งของบริษัทผู้ร้องที่ 2 และของบริษัททางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ที่ผู้ร้องที่ 2 เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ สัญญาดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะมิใช่โมฆียะดังข้อวินิจฉัยของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ในข้อนี้ศาลฎีกาเห็นในเบื้องแรกว่าผู้คัดค้านเป็นหน่วยงานทางปกครองที่จัดตั้งขึ้นโดยกฎหมายฝ่ายมหาชน คือ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 2 สัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนฯ เอกสารหมาย ค. 38 ที่ผู้คัดค้านทำไว้กับผู้ร้องทั้งสาม ผู้คัดค้านทำโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวในฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครองที่เป็นองค์กรนิติบุคคล ข้อ 17 ของประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้บัญญัติให้มีผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเป็นผู้กระทำการในนามผู้คัดค้านในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอกและเป็นผู้กระทำการแทนผู้คัดค้าน ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว การใช้อำนาจของผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยซึ่งกระทำการในนามผู้คัดค้านจะผูกพันผู้คัดค้านต่อเมื่ออยู่ภายใต้หลักความชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือ นอกจากต้องอยู่ภายในขอบเขตแห่งอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่จัดตั้งกำหนดไว้ เป็นไปตามระเบียบวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองและไม่ฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งกฎหมายหรือกฎระเบียบและข้อบังคับที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายแล้ว การใช้อำนาจของผู้คัดค้านจะต้องมิใช่เป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบหรือมีการบิดผันอำนาจทางหนึ่งทางใดอีกด้วย สำหรับข้อเท็จจริงที่ผู้คัดค้านอ้างในอุทธรณ์ข้อ 2.8 ว่ามีพฤติการณ์ฉ้อฉล เช่น ข้อที่ว่านายศิวะผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เจ้าหน้าที่อื่นของผู้คัดค้านและเจ้าหน้าที่รัฐหน่วยอื่น ๆ รับประโยชน์จากผู้ร้องทั้งสาม หากมีอยู่จริงดังคำคัดค้าน การใช้อำนาจตามกฎหมายของนายศิวะในฐานะผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยในการทำสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนฯ ตามเอกสารหมาย ค. 38 ในนามผู้คัดค้านย่อมเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย การใช้อำนาจของนายศิวะและเจ้าหน้าที่รัฐคนอื่นมิใช่เป็นเรื่องภายในของผู้คัดค้านดังที่ผู้ร้องทั้งสามแก้อุทธรณ์ที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ไม่ฟังข้อเท็จจริงดังที่ผู้คัดค้านยกขึ้นต่อสู้ในคำคัดค้าน โดยวินิจฉัยว่า นิติกรรมหรือสัญญา หากมีการทำขึ้นเพราะกลฉ้อฉล หากมีอยู่จริงก็ไม่ทำให้สัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนฯ ตามเอกสารหมาย ค. 38 เป็นโมฆะนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย และถือว่าการอุทธรณ์โดยอ้างข้อเท็จจริงดังกล่าวของผู้คัดค้านเป็นการโต้แย้งว่าคำพิพากษาของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ในส่วนนี้ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 อันเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งผู้คัดค้านย่อมอุทธรณ์ได้ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 (2) ซึ่งบัญญัติไว้อย่างเดียวกับพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 มาตรา 26 (2)
ปัญหาต่อไปคือว่า ในการใช้อำนาจตามกฎหมายในฐานะผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 ของนายศิวะมีข้อเท็จจริงดังที่ผู้คัดค้านต่อสู้หรือไม่เพียงใด ซึ่งศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหานี้โดยไม่ย้อนสำนวนให้ศาลแพ่งกรุงเทพใต้วินิจฉัย ในปัญหานี้ข้อที่ว่าในการทำสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนฯ เอกสารหมาย ค. 38 นายศิวะ เจ้าหน้าที่ของผู้คัดค้านและเจ้าหน้าที่ของรัฐคนอื่นได้รับประโยชน์จากผู้ร้องทั้งสามหรือไม่เพียงใด ผู้คัดค้านมีพยานบุคคล คือ นายอัยณัฐ ถินอภัย เบิกความประกอบเอกสารหมาย ค. 32 ค. 34 ถึง ค. 37 ค. 65 ค. 67 ถึง ค. 70 ค. 74/7 และ ค. 74/8 และนอกจากคำเบิกความของนายอัยณัฐ และเอกสารดังกล่าวแล้วผู้คัดค้านยังมีเอกสารอื่นอีก คือ บันทึกแนวคำเบิกความของพยานผู้คัดค้านรวม 3 ฉบับ ที่ผู้ร้องทั้งสามแถลงยอมรับข้อเท็จจริง คือ ของนายรองพล เจริญพันธุ์ ของพลตำรวจเอกวุฑฒิชัย ศรีรัตนวุทฒิ และของพันตำรวจเอกสุรเชษฐ์ ธิรวินิจ คำเบิกความของนายอัยณัฐและเอกสารดังกล่าวพอสรุปความได้ว่า สืบเนื่องจากคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการ ร้อยตำรวจเอกปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานกรรมการเพื่อทำหน้าที่สนับสนุนและติดตามการดำเนินงานด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตตามนโยบายของคณะรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งที่ 7/2544 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการสืบสวนและสอบสวนกรณีการทางพิเศษแห่งประเทศไทยต้องชดเชยค่าเสียหายให้แก่กิจการร่วมค้า บีบีซีดี ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการคำสั่งลงวันที่ 7 ธันวาคม 2544 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการที่มีพลตำรวจเอกวุฑฒิชัย ศรีรัตนวุทฒิ เป็นประธานอนุกรรมการ โดยให้คณะอนุกรรมการชุดนี้มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาดำเนินการในกรณีดำเนินการก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการอย่างร้ายแรงกรณีนี้ว่าความเสียหายดังกล่าวเกิดจากความผิดพลาดหรือบกพร่องจากการกระทำของบุคคลหรือคณะบุคคลใด และมีบุคคลใดบ้างต้องรับผิดทางแพ่ง ทางอาญาทางวินัยหรือทางปกครองคณะอนุกรรมการได้รายงานผลการสืบสวนสอบสวน 2 ครั้ง ครั้งแรกตามเอกสารหมาย ค. 67 และ ค. 68 แจ้งว่ามีบุคคล 2 คนที่บกพร่องต่อหน้าที่ คือพันตำรวจตรียงยุทธ สาระสมบัติ ขณะดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบกซึ่งเป็นกรรมการการพิเศษแห่งประเทศไทยและนายประภัสร์ จงสงวน ขณะดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นเลขานุการคณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยโดยพันตำรวจตรียงยุทธและนายประภัสร์เกี่ยวข้องอยู่ในทั้งขั้นตอนก่อนเริ่มโครงการและขั้นตอนทำสัญญา และครั้งที่สองตามเอกสารหมาย ค. 69 แจ้งว่ามีบุคคลที่มีมูลความผิดอาญาจำนวน 13 คน และมีมูลความผิดทางวินัยและทางปกครองจำนวน 10 คน ในจำนวนบุคคลที่ต้องรับผิดดังกล่าวมี 2 คน ที่เกี่ยวกับการทำสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนฯ เอกสารหมาย ค. 38 โดยตรง คือนายศิวะ เจริญพงษ์ และนายเรืองฤทธิ์ พูลสวัสดิ์ สำหรับนายศิวะ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยขณะเกิดเหตุนั้น ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในหลายขั้นตอน คือในขั้นตอนลงนามในสัญญา นายศิวะปิดบังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้าง โดยในการประชุมคณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยหรือการประชุมคณะกรรมการ กทพ. เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2538 นายศิวะรายงานที่ประชุมว่า ได้ดำเนินการตามข้อสังเกตคณะรัฐมนตรีทั้งด้านการเงินและด้านวิศวกรรมเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งปัญหาข้อกฎหมายที่กรมทางหลวงหารือไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาก็ได้ข้อยุติแล้วเช่นกัน กล่าวคือ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่าผู้คัดค้านสามารถเข้าใช้พื้นที่เกาะกลางถนนทางหลวงแผ่นดินเพื่อก่อสร้างทางด่วนตามโครงการได้ ทั้งที่โดยความจริงในเวลาดังกล่าวผู้คัดค้านยังไม่สามารถเจรจากับกรมทางหลวงจนได้ข้อยุติที่ชัดเจนในเรื่องพื้นที่ที่ก่อสร้าง และในการประชุมครั้งนี้คณะกรรมการ กทพ. มีมติให้ผู้คัดค้านลงนามในสัญญาที่ผ่านการตรวจจากสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว โดยการเวียนให้กรรมการทุกคน แทนการนำร่างสัญญาเข้าพิจารณาในที่ประชุม ส่วนในการลงนามในสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนฯ เอกสารหมาย ค. 38 ของนายศิวะ นายศิวะลงนามในขณะมีปัญหาความไม่พร้อมหลายประการ คือ นอกจากความไม่พร้อมในเรื่องพื้นที่ก่อสร้างแล้ว ในขณะลงนามยังไม่มีการว่าจ้างวิศวกรที่ปรึกษาเพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดำเนินการโครงการกับผู้คัดค้าน ทำให้เกิดปัญหาหลายอย่างที่ตามมา เช่น ทำให้ไม่มีผู้ที่จะทำการตรวจและอนุมัติแบบก่อสร้างที่ผู้ร้องทั้งสามเสนอมาภายใน 28 วัน ตามเงื่อนไขในสัญญาผนวก 6 จนเป็นเหตุให้ถูกนำไปใช้เป็นข้ออ้างในการขยายระยะเวลาและเรียกร้องค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในเวลาต่อมา ทำให้ผู้คัดค้านขาดผู้ที่จะมาให้คำปรึกษาและแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติด้านวิศวกรรมในการก่อสร้าง อาทิเช่น การให้คำแนะนำในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการส่งมอบพื้นที่ซึ่งอาจให้มีการชะลอการเริ่มต้นงานไว้ก่อนเป็นต้น อีกทั้งยังทำให้ไม่มีผู้ที่จะมาตรวจสอบ ควบคุม กำกับและดูแลการปฏิบัติงานของรับเหมาให้เป็นไปตามเงื่อนไขของสัญญาและถูกต้องตรงตามความเป็นจริง เพื่อมิให้ผู้คัดค้านต้องเสียประโยชน์ นอกจากนั้น การลงนามของนายศิวะมีลักษณะเร่งรีบ โดยลงนามในวันที่ 28 มิถุนายน 2538 ซึ่งเป็นวันก่อนวันเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปเพียง 4 วัน และสำหรับในขั้นตอนของการดำเนินการตามสัญญา นายศิวะเข้าประชุมกับผู้ร้องทั้งสามเพื่อทำความตกลงในเรื่องส่งมอบพื้นที่ทั้งที่ขณะนั้นยังมีปัญหาในการเจรจากับกรมทางหลวงอยู่ และทั้งที่มีปัญหานี้ นายศิวะก็ยังมีหนังสือยืนยันการส่งมอบพื้นที่และแจ้งให้ผู้ร้องทั้งสามเริ่มต้นงาน ซึ่งเป็นเงื่อนไขให้ผู้ร้องทั้งสามได้รับเงินงวดแรกจำนวน 1,977,000,000 บาท และยังได้ความอีกว่า ก่อนการลงนามของนายศิวะบริษัทผู้ร้องที่ 2 ได้จดทะเบียนเพิ่มทุนและจัดจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไป โดยในการจำหน่ายดังกล่าว ผู้ร้องที่ 2 กำหนดสัดส่วนในการจัดสรรให้แก่ผู้มีอุปการะคุณ 10 เปอร์เซ็นต์ และปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงทุกคนของผู้คัดค้านได้รับสิทธิจากการจัดสรรสำหรับนายศิวะได้ความว่า เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2538 จองหุ้นบริษัทผู้ร้องที่ 2 ไว้ 10,000 หุ้น แล้วจำหน่ายเมื่อมีการลงนามในสัญญาแล้วได้กำไรประมาณ 1,000,000 บาท นอกจากนั้น บริษัททางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีผู้ร้องที่ 2 เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ได้นำใบจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทมาเสนอขายให้แก่พนักงานของผู้คัดค้านทั้งหมด โดยแบ่งโควต้าตามลำดับของตำแหน่ง สำหรับตำแหน่งผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย นายศิวะมีสิทธิซื้อหุ้นจำนวน 20,000 หุ้น และในตำแหน่งกรรมการ กทพ. นายศิวะมีสิทธิซื้อหุ้นอีก 50,000 หุ้น รวมราคาค่าซื้อหุ้นจำนวน 2,870,000 บาท ขณะที่หุ้นดังกล่าวขายไปบางส่วนยังคงเหลืออยู่ประมาณ 20,000 หุ้น ในที่สุดคณะอนุกรรมการเห็นว่านายศิวะกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ส่วนกรณีนายเรืองฤทธิ์นั้น นายเรืองฤทธิ์ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ในช่วงระหว่างวันที่ 17 ตุลาคม 2538 ถึงวันที่ 22 กันยายน 2540 ก่อนหน้านั้นในขณะดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยฝ่ายควบคุมการก่อสร้างนายเรืองฤทธิ์ได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้อำนวยการโครงการทางด่วนในช่วงระหว่างวันที่ 19 กรกฎาคม 2538 ถึงวันที่ 17 ตุลาคม 2538 ในช่วงดังกล่าวนี้นายเรืองฤทธิ์สั่งการให้เจ้าหน้าที่ของโครงการจัดทำหนังสือแจ้งยืนยันการส่งมอบสิทธิในเขตทางในพื้นที่ส่วนย่อยที่ 1.1 และที่ 1.2 รวมทั้งพื้นที่ส่วนใหญ่อื่น ๆ ให้แก่ผู้ร้องทั้งสาม ทั้งที่นายเรืองฤทธิ์ทราบดีว่าผู้คัดค้านและกรมทางหลวงยังเจรจาไม่ได้ข้อยุติดังกล่าว นอกจากนั้น เมื่อดำรงตำแหน่งผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย นายเรืองฤทธิ์ได้รับแต่งตั้งจากคณะกรรมการ กทพ. ให้เป็นคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาและอุปสรรคตลอดจนข้อขัดข้องของโครงการทางด่วนสายบางนา – บางพลี – บางปะกง ซึ่งมีนายสหาย ทรัพย์สุนทร เป็นประธานคณะทำงาน ในการประชุมคณะทำงานครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2539 คณะทำงานซึ่งมีนายเรืองฤทธิ์ร่วมประชุมอยู่ด้วยได้พิจารณาหนังสือของผู้ร้องทั้งสามที่ขอขยายระยะเวลาก่อสร้าง โดยอ้างเหตุผล 4 ประการคือ การส่งมอบพื้นที่ล่าช้า การอนุมัติแบบล่าช้า เหตุอุทกภัยและการเปลี่ยนแปลงงาน ซึ่งคณะทำงานมีมติให้ขยายระยะเวลาก่อสร้างออกไปอีก 11 เดือน โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม แต่ต่อมานายเรืองฤทธิ์ได้ร่วมประชุมคณะกรรมการ กทพ. ซึ่งรับรายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ และที่ประชุมมีมติให้ขยายระยะเวลาโดยไม่กล่าวถึงค่าใช้จ่ายที่จะต้องเกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการขยายระยะเวลา นายเรืองฤทธิ์ซึ่งทราบมติของคณะทำงานชุดนายสหายเป็นอย่างดีกลับมิได้พูดถึงการขยายระยะเวลาโดยไม่มีเงินค่าใช้จ่ายเพิ่มให้ที่ประชุมทราบ อนึ่ง ปรากฏว่านายเรืองฤทธิ์เคยซื้อจองหุ้นของผู้ร้องที่ 2 เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2538 และจำหน่ายหุ้นดังกล่าวไปเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2538 ได้กำไรไปเป็นเงินประมาณ 795,000 บาท คณะอนุกรรมการเห็นว่านายเรืองฤทธิ์กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เช่นเดียวกับนายศิวะ
จากข้อสรุปดังกล่าว เฉพาะในส่วนของนายศิวะซึ่งเป็นผู้ลงนามในสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนฯ เอกสารหมาย ค. 38 ในฐานะผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เพียงเท่าที่ฝ่ายผู้ร้องทั้งสามไม่ปฏิเสธ ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า นายศิวะถือหุ้นอยู่ในบริษัทผู้ร้องที่ 2 และในบริษัททางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งผู้ร้องที่ 2 เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่จริง กล่าวคือ ก่อนลงนามในสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนฯ เอกสารหมาย ค. 38 ของนายศิวะ บริษัทผู้ร้องที่ 2 จดทะเบียนเพิ่มทุนและจัดจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปโดยในการจำหน่ายหุ้นดังกล่าว ผู้ร้องที่ 2 กำหนดสัดส่วนให้แก่ผู้มีอุปการะคุณ 10 เปอร์เซ็นต์ สำหรับนายศิวะได้ใช้สิทธิที่ได้รับการจัดสรรซื้อหุ้น 10,000 หุ้น เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2538 เมื่อลงนามในสัญญาแล้ว นายศิวะขายหุ้นดังกล่าวไปได้กำไรประมาณ 1,000,000 บาท ส่วนหุ้นของบริษัททางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งจัดสรรให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนฯ เอกสารหมาย ค. 38 นายศิวะมีสิทธิซื้อหุ้นในฐานะดำรงตำแหน่งผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย 20,000 หุ้น และในฐานะเป็นกรรมการในคณะกรรมการ กทพ. อีก 50,000 หุ้น รวมเงินค่าหุ้นที่นายศิวะใช้สิทธิซื้อทั้งสองฐานะจำนวน 2,870,000 บาท ปัญหาว่าการได้รับประโยชน์ในฐานะผู้ถือหุ้นของนายศิวะจะทำให้การใช้อำนาจในฐานะผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยที่ลงนามในสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมค่าก่อสร้างโครงการทางด่วนฯ เอกสารหมาย ค. 38 ในนามผู้คัดค้านเป็นการมิชอบหรือไม่ ศาลฎีกาจะพิจารณาประกอบกับข้อเท็จจริงทั้งก่อนและหลังมีการลงนามในสัญญาของนายศิวะ ซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าวจะได้วินิจฉัยต่อไป
สำหรับข้อเท็จจริงก่อนการลงนามในสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนฯ เอกสารหมาย ค. 38 ของนายศิวะ เพียงเท่าที่ฝ่ายผู้ร้องไม่ได้นำสืบโต้แย้งเป็นอย่างอื่น พยานหลักฐานของผู้คัดค้านฟังได้ในเบื้องแรกว่า ในการประชุมคณะกรรมการ กทพ. เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2538 นายศิวะรายงานให้ที่ประชุมทราบว่า ผู้คัดค้านได้ดำเนินการตามข้อสังเกตของคณะรัฐมนตรีทั้งด้านการเงินและด้านวิศวกรรมเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งข้อกฎหมายที่กรมทางหลวงหารือไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาก็ได้ข้อยุติ โดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่าผู้คัดค้านสามารถเข้าใช้พื้นที่เกาะกลางถนนทางหลวงแผ่นดินเพื่อก่อสร้างทางด่วนตามโครงการได้ ส่วนข้อเท็จจริงหลังการลงนามได้ความว่า ในวันที่ 3 และ 11 สิงหาคม 2538 ผู้ร้องทั้งสามมีหนังสือถึงผู้คัดค้านแจ้งให้ยืนยันเกี่ยวกับการส่งมอบพื้นที่เพื่อก่อสร้างทางด่วนตามโครงการในส่วนย่อยที่ 1.1 และที่ 1.2 นายศิวะเข้าร่วมประชุมกับผู้ร้องทั้งสาม แล้วต่อมาในวันที่ 19 สิงหาคม 2538 ผู้ร้องทั้งสามแจ้งยืนยันกำหนดเวลาขอรับมอบพื้นที่ก่อสร้างตามสัญญาในส่วนย่อยดังกล่าวหลังจากการแจ้งดังกล่าว ในวันที่ 25 สิงหาคม 2538 นายศิวะมีหนังสือถึงผู้ร้องทั้งสามยืนยันว่าจะส่งมอบพื้นที่ในส่วนย่อยทั้งสองนี้ได้ ศาลฎีกาเห็นว่า ปัญหาสำคัญที่นำไปสู่การพิพาทกรณีนี้คือ การส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้แก่ผู้ร้องทั้งสามจากข้อเท็จจริงที่ว่าพื้นที่ดังกล่าวผู้คัดค้านได้ส่งมอบให้แก่ผู้ร้องทั้งสามในครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2539 ซึ่งเป็นเวลาหลังวันที่นายศิวะลงนามในสัญญากว่า 1 ปี 7 เดือน เหตุที่ต้องใช้เวลานานจึงจะส่งมอบได้ก็เพราะต้องผ่านกระบวนการประสานงานกับกรมทางหลวงซึ่งเป็นหน่วยงานภายนอก สำหรับกระบวนการประสานงานของผู้คัดค้าน กรณีนี้ได้ความว่า การเจรจาระหว่างผู้คัดค้านกับกรมทางหลวงเริ่มเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2538 โดยในวันดังกล่าวนายศิวะได้มีหนังสือรายงานสภาพปัญหาและอุปสรรคที่เกิดจากการส่งมอบพื้นที่รวมทั้งประสานงานกับกรมทางหลวงขอให้นางสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งควบคุมกำกับดูแลการทางพิเศษแห่งประเทศไทยรับทราบและขอให้นางสุดารัตน์ช่วยประสานกับกระทรวงคมนาคมเพื่อขจัดปัญหาและอุปสรรคที่จะเกิดขึ้น ต่อมาวันที่ 6 กันยายน 2538 นายชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมจึงเรียกนายสนั่น ศรีรุ่งโรจน์ อธิบดีกรมทางหลวงและนายศิวะมาประชุมหารือ ซึ่งสามารถตกลงกันได้ใน 3 ประเด็น คือ ประการแรกเกี่ยวกับทางขึ้น – ลง ให้ทำการก่อสร้างทางขึ้น – ลง นอกเขตทางหลวงแผ่นดิน เว้นแต่การก่อสร้างดังกล่าวจะมีอุปสรรคต่อโครงการก็ให้ผู้คัดค้านเจรจากับกรมทางหลวงเป็นจุด ๆ ประการที่สองเกี่ยวกับกำหนดระยะเวลาและการโอนกรรมสิทธิ์ กรมทางหลวงอนุญาตให้ผู้คัดค้านใช้พื้นที่ได้โดยตลอด โดยขอให้ผู้คัดค้านจ่ายค่าเสียหายเนื่องจากการเสียประโยชน์ของกรมทางหลวง จำนวน 100,000 บาท และผู้คัดค้านยังคงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์สิ่งปลูกสร้างรวมทั้งอุปกรณ์ในงานทั้งหมด และประการที่สามเกี่ยวกับการวางหลักประกันความเสียหาย ผู้คัดค้านจะเปิดบัญชีกับธนาคารนครหลวง จำกัด (มหาชน) ในวงเงิน 50,000,000 บาท เพื่อกรมทางหลวงสามารถดำเนินการเบิกจ่ายเพื่อใช้ในการจัดซ่อมทางหลวงแผ่นดินที่เกิดความเสียหายจากการก่อสร้างของผู้คัดค้านทั้งหมด หลังจากนั้นจึงมีการเจรจากันระหว่างกรมทางหลวงและผู้คัดค้าน จนในที่สุดเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2538 กรมทางหลวงและผู้คัดค้านจึงได้ข้อยุติที่ชัดเจนซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2537 ข้อเท็จจริงดังกล่าวทำให้เห็นได้ว่า ในฐานะที่นายศิวะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐระดับผู้ว่าการ ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่นายศิวะจะไม่ทราบถึงขั้นตอนของการประสานงานระหว่างหน่วยงานของรัฐ จึงเชื่อว่านายศิวะรู้อยู่แล้วว่าการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้แก่ผู้ร้องทั้งสามไม่อาจทำได้ในเวลาอันสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ก่อนลงนามในสัญญาเพียงไม่กี่วัน ผู้ร้องทั้งสามมีหนังสือถึงผู้คัดค้านขอทราบแนวนโยบายและ/หรือวิธีปฏิบัติของผู้คัดค้านในกรณีที่รัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกระทำหรืองดเว้นกระทำการหรือในกรณีที่ผู้คัดค้านไม่สามารถจัดให้ได้มาซึ่งสิทธิในเขตทางหรือที่ดินเพิ่มเติมสำหรับงานถาวรจนมีผลทำให้ผู้ร้องทั้งสามไม่สามารถดำเนินการตามข้อผูกพันที่กำหนดไว้ในข้อสัญญาได้ ผู้คัดค้านจะมีแนวนโยบายวิธีปฏิบัติในเรื่องนี้อย่างไร นายศิวะในฐานะผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยก็มีหนังสือแจ้งแก่ผู้ร้องทั้งสามว่ากรณีดังกล่าวผู้คัดค้านมีความตั้งใจที่จะสั่งหยุดงานชั่วคราวตามเงื่อนไขของสัญญาและไม่ว่ากรณีจะเป็นอย่างไร คู่สัญญาจะพิจารณาหารือร่วมกันเพื่อหาทางแก้ปัญหาเพื่อให้ได้ข้อยุติที่ยอมรับได้ของทั้งสองฝ่าย โดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของทั้งสองฝ่ายซึ่งเอกสารนี้ได้นำรวมเข้าเป็นเอกสารแนบท้ายสัญญา ผนวก 14 ด้วย แสดงว่า แม้แต่ฝ่ายผู้ร้องทั้งสามเองก็เฉลียวใจอยู่แล้วว่าฝ่ายผู้คัดค้านจะไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างได้ จึงหาทางผูกพันฝ่ายผู้คัดค้านเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนหากมีการผิดสัญญา จึงเป็นไปไม่ได้ที่นายศิวะจะไม่ทราบถึงปัญหาข้อนี้ การที่นายศิวะแถลงในที่ประชุมคณะกรรมการ กทพ. ว่าไม่มีปัญหาเกี่ยวกับการใช้พื้นที่ในเขตทางหลวงแผ่นดินในลักษณะปิดบังอำพรางข้อเท็จจริงนี้ เมื่อพิจารณาประกอบกับข้อเท็จจริงภายหลังการลงนามในสัญญาแล้วจะเห็นว่า นายศิวะแถลงเพื่อให้คณะกรรมการ กทพ. ให้ความเห็นชอบในการลงนามในสัญญาจ้างเหมารวมก่อสร้างโครงการทางด่วนฯ เอกสารหมาย ค.38 ให้จงได้ โดยไม่คำนึงว่าผู้คัดค้านหรือรัฐจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบสักเพียงใด ข้อเท็จจริงดังกล่าวคือ การมีหนังสือถึงผู้ร้องทั้งสามยืนยันการส่งมอบพื้นที่และให้ผู้ร้องทั้งสามเริ่มงาน อันเป็นผลให้ผู้ร้องทั้งสามมีสิทธิได้รับเงินงวดแรกจำนวน 1,977,000,000 บาท และเป็นการเริ่มนับของกำหนดเวลาแล้วเสร็จของการดำเนินการก่อสร้างงานทั้งหมด นายศิวะมีหนังสือยืนยันการส่งมอบพื้นที่ถึงผู้ร้องทั้งสามเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2538 ซึ่งเป็นวันที่นายศิวะมีหนังสือถึงนางสุดารัตน์ให้ช่วยประสานกับกระทรวงคมนาคม การกระทำของนายศิวะเพื่อให้มีการลงนามในสัญญาดังกล่าวให้จงได้นับเป็นการผิดปกติวิสัยของเจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ
ข้อผิดปกติวิสัยนี้เมื่อพิจารณาประกอบกับข้อที่นายศิวะได้รับประโยชน์จากการซื้อหุ้นจองของบริษัทผู้ร้องที่ 2 และของบริษัททางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ที่ผู้ร้องที่ 2 เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่แล้ว มีเหตุผลให้เชื่อได้ว่านายศิวะต้องการจะช่วยเหลือผู้ร้องทั้งสามโดยเห็นแก่ประโยชน์ที่ผู้ร้องทั้งสามจัดให้ จึงถือว่าการใช้อำนาจในฐานะผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยของนายศิวะที่ลงนามในสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนฯ เอกสารหมาย ค. 38 เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย และขณะเดียวกันการที่ผู้ร้องที่ 2 เพิ่มทุนและจัดสรรหุ้นให้แก่นายศิวะและเจ้าหน้าที่ของรัฐคนอื่นได้ซื้อหุ้นในฐานะผู้มีอุปการะคุณ รวมทั้งการจัดสรรหุ้นของบริษัททางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ให้นายศิวะกับเจ้าหน้าที่ของรัฐคนอื่นมีสิทธิซื้อก่อนทำสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนฯ เอกสารหมาย ค. 38 ก็ถือได้ว่าผู้ร้องทั้งสามได้ให้ผลประโยชน์แก่นายศิวะและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อจูงใจให้นายศิวะและเจ้าหน้าที่ดังกล่าวปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการการทำสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนฯ เอกสารหมาย ค. 38 โดยเอื้อประโยชน์แก่ผู้ร้องทั้งสามนั้นเอง กรณีจึงต้องถือว่า ในการทำสัญญาดังกล่าวของผู้ร้องทั้งสาม ผู้ร้องทั้งสามใช้สิทธิโดยไม่สุจริตอีกด้วย สัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนฯ เอกสารหมาย ค.38 ซึ่งเกิดจากการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงไม่มีผลผูกพันผู้คัดค้านคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 36/2544 ที่ชี้ขาดให้ผู้คัดค้านชำระเงินให้แก่ผู้ร้องทั้งสามตามสัญญาที่เกิดขึ้นจากการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวนั้น หากศาลบังคับให้ตามคำชี้ขาดนั้นย่อมเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ชอบที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้จะปฏิเสธไม่รับบังคับให้ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 44 ดังนั้น คำพิพากษาของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ที่บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังกล่าวจึงฝ่าฝืนต่อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ส่วนที่ผู้ร้องทั้งสามแก้อุทธรณ์ขอไม่ให้รับฟังรายงานของคณะกรรมการตามเอกสารหมาย ค. 68 และ ค. 69 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า แม้คณะอนุกรรมการดังกล่าวมิใช่พนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่ข้อสรุบของคณะอนุกรรมการก็สรุปจากหลักฐานอื่นที่ผู้ร้องทั้งสามสามารถหักล้างได้ และการฟังเอกสารหมาย ค. 68 และ ค. 69 ศาลฎีกาก็ฟังประกอบกับหลักฐานอื่นๆ เหล่านั้น โดยสรุปแล้วอุทธรณ์ข้อ 2.8 ของผู้คัดค้านฟังขึ้น ที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้พิพากษามา ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เมื่อวินิจฉัยดังนี้ อุทธรณ์ข้ออื่นๆ ของผู้คัดค้านและคำแก้อุทธรณ์ข้ออื่นของผู้ร้องทั้งสามจึงไม่ต้องวินิจฉัย”
พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสาม ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

Share