คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2502/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการให้บริการรับขนจัดส่งพัสดุภัณฑ์ระหว่างประเทศแก่บุคคลทั่วไปเพื่อบำเหน็จเป็นทางการค้าปกติ จำเลยได้ขนสินค้าผ่านทางจำเลยร่วมที่ 1 โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ และตามเงื่อนไขจำเลยมีหน้าที่และรับผิดชอบมอบสินค้ายังสถานที่ปลายทาง แต่ปรากฏว่าสินค้าได้สูญหายไปทั้งหมด ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่ได้รับสินค้า ถือว่าโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นผู้รับขนส่งของเพื่อบำเหน็จเป็นทางค้าปกติของตนดังกล่าว และให้จำเลยรับผิดในการที่ของสูญหาย จึงเป็นการฟ้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญารับขน ต้องนำอายุความลักษณะรับขนตามมาตรา 624 มาใช้บังคับ มิใช่นำอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 มาใช้บังคับ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้จำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2545 เป็นต้นไปคิดถึงวันฟ้องได้เป็นเงิน 17,940 บาท รวมกับต้นเงิน 249,650 บาท เป็นเงิน 267,590 บาท ขอให้จำเลยชำระเงิน 267,590 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 249,650 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยยื่นคำร้องขอให้เรียกสายการบินอินเดียน แอร์ไลน์ส เข้ามาเป็นจำเลยร่วม และสายการบินอินเดียน แอร์ไลน์ส ขอให้เรียกบริษัทไทย แอร์พอร์ตส์ กราวด์ เซอร์วิสเซส จำกัด เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาต โดยให้เรียกสายการบินอินเดียน แอร์ไลน์ส ว่าจำเลยร่วมที่ 1 และเรียกบริษัทไทย แอร์พอร์ตส์ กราวด์ เซอร์วิสเซส จำกัด ว่าจำเลยร่วมที่ 2
จำเลยร่วมทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการให้บริการรับขนจัดส่งพัสดุภัณฑ์ระหว่างประเทศแก่บุคคลทั่วไปเพื่อบำเหน็จเป็นทางการค้าปกติ โจทก์ได้ว่าจ้างจำเลยและจำเลยตกลงรับขนส่งสินค้าทางอากาศโดยจำเลยร่วมที่ 1 โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ และตามเงื่อนไขจำเลยมีหน้าที่และรับผิดชอบมอบสินค้ายังสถานที่ปลายทาง แต่ปรากฏว่าสินค้าได้สูญหายไปทั้งหมด โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเป็นผู้รับขนส่งของเพื่อบำเหน็จเป็นทางค้าปกติของตนดังกล่าว และให้จำเลยรับผิดในการที่ของสูญหาย จึงเป็นการฟ้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญารับขน แม้สัญญารับขนจะมีลักษณะเป็นสัญญาจ้างทำของประเภทหนึ่ง แต่คดีนี้ โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญารับขนที่มีอายุความกำหนดไว้เป็นการเฉพาะแล้ว จึงต้องนำอายุความลักษณะรับขนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 624 ดังกล่าวมาใช้บังคับ มิใช่นำอายุความ 10 ปี มาใช้บังคับ
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

Share