คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7994/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 กับพวกใช้กำลังประทุษร้ายโดยล็อกคอผู้เสียหายทั้งสองให้เข้าไปนั่งในรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 เป็นคนขับ แล้วจำเลยที่ 1 พูดบังคับ ขู่เข็ญให้ผู้เสียหายทั้งสองมอบเงินให้จำเลยที่ 1 กับพวกคนละ 1,000 บาท หากไม่ให้จะอยู่ในอำเภอหาดใหญ่ไม่ได้ ผู้เสียหายทั้งสองเกรงกลัวจึงยอม ตามที่จำเลยที่ 1 ขู่บังคับ และได้มอบเงิน 500 บาท ให้จำเลยที่ 3 ไป วันเดียวกัน ผู้เสียหายที่ 1 โทรศัพท์นัดหมายให้จำเลยที่ 1 มารับเงิน ส่วนที่เหลืออีก 1,500 บาท เมื่อจำเลยที่ 1 มารับเงินจึงถูกเจ้าพนักงาน ตำรวจจับกุมได้ แล้วจำเลยที่ 1 นำเจ้าพนักงานตำรวจไปจับกุมจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ในวันเดียวกัน แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะไม่ได้มารับเงิน ส่วนที่เหลือจากผู้เสียหายทั้งสองด้วยก็ตาม แต่ตามพฤติการณ์แสดง ให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ร่วมกันวางแผนและกระทำความผิด ร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการเรียกร้องเงินจากผู้เสียหายทั้งสองตั้งแต่ต้น ทั้งยังร่วมกับจำเลยที่ 1 นำเงิน 500 บาท ที่ผู้เสียหายมอบให้ในวันเกิดเหตุไปใช้ในการรับประทานอาหารกันการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 กับพวกดังกล่าวครบองค์ประกอบความผิดโดยร่วมกันเป็นตัวการในการกระทำความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวผู้เสียหายทั้งสองให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกายและกรรโชกผู้เสียหายทั้งสอง และการที่จำเลยทั้งสามกับพวกเอาตัวผู้เสียหายทั้งสองไปหน่วงเหนี่ยวไว้ในรถยนต์โดยเจตนาทำให้ผู้เสียหายทั้งสองปราศจากเสรีภาพในร่างกายเป็นความผิดสำเร็จกรรมหนึ่งแล้ว เมื่อมีการขู่เรียกเอาเงินโดยเจตนากรรโชกเอาทรัพย์จนผู้เสียหายทั้งสองยินยอมให้เงินก็เป็นความผิดฐานกรรโชกอีกกรรมหนึ่งจึงเป็นความผิดสองกรรม ไม่ใช่กระทำกรรมเดียว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310, 337, 83, 91 ให้คืนเงิน 1,500 บาท และบัตรประชาชนของกลางแก่เจ้าของ ส่วนของกลางอื่นให้ริบ

จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ

จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ให้การ ถือว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้ปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 วรรคแรก, 337 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานหน่วงเหนี่ยวทำให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย จำคุกคนละ 1 ปี ฐานกรรโชก จำคุกคนละ 3 ปี รวมจำคุกคนละ 4 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในชั้นพิจารณาส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้จำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่ง ลดโทษให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละหนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 2 ปี 8 เดือน คืนเงิน1,500 บาท และบัตรประจำตัวประชาชนของกลางแก่เจ้าของ ส่วนของกลางอื่นให้ริบ

จำเลยทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 3 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง ขณะที่นายประภาศ หนูแสง ผู้เสียหายที่ 1 และนายสมเจษฐ์ สงเกิด ผู้เสียหายที่ 2 จอดรถจักรยานยนต์รอสัญญาไฟอยู่ที่ทางแยกถนนราษฎร์ยินดีตัดกับถนนเพชรเกษม จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 9 จ – 7601 กรุงเทพมหานคร โดยมีจำเลยที่ 2 ที่ 3 และพวกอีก 1 คนนั่งมาด้วยเข้ามาจอดข้างรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายทั้งสอง แล้วจำเลยที่ 2กับพวกอีก 1 คน นำตัวผู้เสียหายทั้งสองเข้าไปนั่งในรถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับมา คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้องและเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทหรือไม่โดยที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า การกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกา จำเลยที่ 1 อุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกาศาลฎีกามีคำสั่งว่า เป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้มิได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลล่างทั้งสอง ก็ชอบที่จำเลยที่ 1 จะยกขึ้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 จึงให้รับฎีกาของจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 3 ฎีกาว่า จำเลยที่ 3 ไม่ได้เป็นตัวการร่วมกระทำผิดตามฟ้อง ศาลฎีกาเห็นว่าข้อเท็จจริงได้ความตามที่โจทก์นำผู้เสียหายทั้งสองซึ่งเป็นประจักษ์พยานมาเบิกความยืนยันได้ความว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ลงจากรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 เป็นคนขับมาตรงเข้าไปล็อกคอผู้เสียหายที่ 2ส่วนพวกของจำเลยเข้าไปล็อกคอผู้เสียหายที่ 1 แล้ว บังคับให้ไปขึ้นรถยนต์ที่เบาะหลังโดยนั่งข้าง ๆ จำเลยที่ 3 ระหว่างที่นั่งอยู่ในรถ จำเลยที่1 พูดจาข่มขู่เรียกเงินจากผู้เสียหายทั้งสองคนละ 1,000 บาท แต่ผู้เสียหายทั้งสองมีเงินเพียง 500 บาท จำเลยที่ 1 ข่มขู่ว่าหากไม่หาเงินมาให้จะอยู่ที่อำเภอหาดใหญ่ไม่ได้ และสั่งให้ผู้เสียหายทั้งสองนำเงินจำนวน 1,500 บาท ไปให้จำเลยที่ 1 ก่อนเวลา 13 นาฬิกา ผู้เสียหายทั้งสองกลัวจึงรับปากว่าจะหาเงินจำนวนดังกล่าวมาให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 จดหมายเลขโทรศัพท์ให้ผู้เสียหายที่ 1 ไว้เพื่อติดต่อนัดหมายนำเงินจำนวนดังกล่าวมาให้จำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 ก็ขับรถยนต์นำผู้เสียหายทั้งสองไปส่งไว้ยังที่แห่งหนึ่งในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ ขณะที่ผู้เสียหายทั้งสองจะลงจากรถยนต์ จำเลยที่ 3 พูดว่า ให้เอาเงินจำนวน 500 บาท มาก่อนผู้เสียหายทั้งสองจึงมอบเงิน 500 บาท ให้จำเลยที่ 3 ไป เมื่อพิเคราะห์คำพยานโจทก์ตามพฤติการณ์แห่งคดีนี้แล้ว เห็นว่า การที่จำเลยที่ 2 กับพวกใช้กำลังประทุษร้ายโดยล็อกคอผู้เสียหายทั้งสองทั้ง ๆ ไม่มีอำนาจใด ๆ ให้กระทำได้ ให้เข้าไปนั่งในรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 เป็นคนขับ แล้วจำเลยที่ 1 ขับรถออกไปพร้อมกับพูดบังคับขู่เข็ญให้ผู้เสียหายทั้งสองมอบเงินให้จำเลยที่ 1 กับพวกคนละ 1,000 บาท หากไม่ให้จะอยู่ในอำเภอหาดใหญ่ไม่ได้ ผู้เสียหายทั้งสองเกิดความเกรงกลัวจึงยอมตามที่จำเลยที่ 1 ขู่บังคับ และได้มอบเงินจำนวน 500 บาท ที่มีอยู่ให้จำเลยที่ 3 ไป และในวันเดียวกันนั้นผู้เสียหายทั้งสองได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจ เจ้าพนักงานตำรวจได้วางแผนจับกุมจำเลยทั้งสามกับพวก โดยให้ผู้เสียหายที่ 1 โทรศัพท์ตามหมายเลขโทรศัพท์ที่จำเลยที่ 1 มอบให้แก่ผู้เสียหายทั้งสองนัดหมายให้จำเลยที่ 1 มารับเงินส่วนที่เหลืออีก 1,500 บาท จากผู้เสียหายทั้งสอง ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้มารับเงินจำนวนดังกล่าวจากผู้เสียหายทั้งสองจึงถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมได้ แล้วจำเลยที่ 1 นำเจ้าพนักงานตำรวจไปจับกุมจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ในวันเดียวกัน แม้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 จะไม่ได้มารับเงินส่วนที่เหลืออีก 1,500 บาท จากผู้เสียหายทั้งสองด้วยก็ตาม แต่ตามพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ร่วมกันวางแผนและกระทำความผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 และพวกอีก 1 คน ในการเรียกร้องเงินจากผู้เสียหายทั้งสองตั้งแต่ต้น ทั้งข้อเท็จจริงปรากฏตามคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยทั้งสามว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 และพวกนำเงินจำนวน 500 บาท ที่ผู้เสียหายมอบให้ในวันเกิดเหตุไปใช้ในการรับประทานอาหารกันข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ที่ฎีกามาว่า ผู้เสียหายทั้งสองสมัครใจให้เงินแก่พวกของจำเลยคือพลตำรวจธีรพงษ์เพื่อไม่ให้ถูกจับกุมไปดำเนินคดีฟังไม่ขึ้น ไม่สามารถหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 กับพวกดังกล่าวครบองค์ประกอบความผิดโดยร่วมกันเป็นตัวการในการกระทำความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวผู้เสียหายทั้งสองให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกายและกรรโชกผู้เสียหายทั้งสอง และการที่จำเลยทั้งสามกับพวก เอาตัวผู้เสียหายทั้งสองไปหน่วงเหนี่ยวไว้ในรถยนต์โดยเจตนาทำให้ผู้เสียหายทั้งสองปราศจากเสรีภาพในร่างกายเป็นความผิดสำเร็จกรรมหนึ่งแล้ว เมื่อมีการขู่เรียกเอาเงินโดยเจตนากรรโชกเอาทรัพย์จนผู้เสียหายทั้งสองยินยอมให้เงินก็เป็นความผิดฐานกรรโชกอีกกรรมหนึ่ง จึงเป็นความผิดสองกรรม ไม่ใช่การกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทดังฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสามทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share