คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 593/2516

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นหนี้ธนาคารผู้คัดค้านอยู่ก่อนแล้ว โดยเบิกเงินเกินบัญชีไป 9 แสนบาทเศษ แล้วจำเลยได้กู้เงินธนาคารผู้คัดค้านอีก 5 แสนบาท และจดทะเบียนจำนองเรือยนต์ของจำเลยรวม47 ลำ ไว้กับธนาคารผู้คัดค้าน เพื่อเป็นประกันสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีซึ่งจำเลยเบิกเกินบัญชีไปดังกล่าวแล้วและเงินที่จำเลยกู้ ต่อมาจำเลยได้จดทะเบียนจำนองเรือยนต์ของจำเลยอีก 2 ลำไว้กับธนาคารผู้คัดค้าน เพื่อเป็นประกันการเบิกเงินเกินบัญชีตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีรายใหม่อีก ดังนี้ ถือว่าการจำนองเรือยนต์ทั้งสองคราวนั้น เป็นการจำนองโดยมีค่าตอบแทน

ย่อยาว

สาขาคดีนี้สืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยผู้ล้มละลายร้องว่าจำเลยได้จดทะเบียนจำนองเรือยนต์รวม 49 ลำไว้กับธนาคารกสิกรไทย จำกัด เป็นการทำจำนองให้โดยเสน่หาและไม่สุจริต ทำให้เจ้าหนี้อื่นเสียเปรียบและธนาคารกสิกรไทย จำกัด ยอมให้จำเลยก่อหนี้ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่แล้วว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว ไม่อาจขอรับชำระหนี้ได้ ขอให้เพิกถอนการจำนองเรือยนต์ 49 ลำนั้น

ธนาคารกสิกรไทย จำกัด ผู้คัดค้าน ต่อสู้ปฏิเสธคำร้องของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้ร้อง

ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้อง

ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

ผู้ร้องฎีกา

ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เดิมจำเลยผู้ล้มละลายได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคารผู้คัดค้าน 2 ฉบับฉบับแรกลงวันที่ 6 ตุลาคม 2501 วงเงินไม่เกินห้าแสนบาท อีกฉบับหนึ่งลงวันที่ 6 เมษายน 2503 วงเงินไม่เกินห้าแสนบาท ตามเอกสารหมาย จ.ล.10 และ จ.ล.11 แล้วจำเลยผู้ล้มละลายได้เบิกเงินเกินบัญชีตามสัญญาทั้ง 2 ฉบับไปจากธนาคารผู้คัดค้านเป็นเงิน 981,879.16 บาท ต่อมาวันที่ 27 สิงหาคม 2505 จำเลยผู้ล้มละลายได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคารผู้คัดค้านใหม่ โดยรวมวงเงินตามสัญญาหมาย จ.ล.10 และ จ.ล.11 เข้าด้วยกัน เป็นวงเงิน 1 ล้านบาท และให้ถือว่ายอดเงินเบิกเกินบัญชีไป 981,879 บาท 16 สตางค์ เป็นเงินที่เบิกเกินบัญชีตามสัญญาฉบับใหม่นี้ ตามเอกสารหมาย ล.53 และในวันเดียวกันนั้นเองจำเลยผู้ล้มละลายได้กู้เงินธนาคารผู้คัดค้านไปอีก 5 แสนบาท ตามสัญญากู้เงินหมาย ล.56 โดยเอาเรือยนต์ 47 ลำของจำเลยผู้ล้มละลายตามรายชื่อท้ายสัญญาหมาย ล.53 จำนองเป็นประกันการเบิกเงินเกินบัญชีและการกู้เงินดังกล่าวแล้ว ตามสัญญาจำนองหมาย ล.4 ถึง ล.50 ต่อมาเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2506 จำเลยผู้ล้มละลายได้ทำสัญญากู้เบิกเกินบัญชีจากธนาคารผู้คัดค้านอีก 350,000 บาทตามสัญญาหมาย จ.ล.12 และได้เอาเรือยนต์พลายแก้วกับพลายงามรวม 2 ลำ จำนองเป็นประกันเงินเบิกเกินบัญชีจำนวนดังกล่าว เป็นเงินลำละ 175,000 บาท เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2507 ตามสัญญาจำนองหมาย ล.51, ล.52 เมื่อเดือนมิถุนายน 2509 จำเลยผู้ล้มละลายได้ทำสัญญาขายกิจการของบริษัทจำเลยรวมทั้งเรือยนต์ทุกลำและที่ดินโฉนดที่ 665 พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่บริษัทไทยพัฒนาขนส่ง จำกัด เป็นเงิน 4,250,000 บาท ได้รับเงินมาแล้วประมาณร้อยละ 10 เงินที่เหลือบริษัทไทยพัฒนาขนส่ง จำกัด ยังไม่ชำระจนบัดนี้ หลังจากที่จำเลยผู้ล้มละลายถูกสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว ปรากฏว่าผู้ที่อ้างเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยผู้ล้มละลายร้องขอรับชำระหนี้รวม 298 ราย เป็นยอดเงินทั้งหมด 7 ล้านบาท โดยยังมิได้รวมหนี้ของธนาคารผู้คัดค้านเข้าด้วย เฉพาะหนี้ที่มูลหนี้เกิดก่อนวันที่ 27 สิงหาคม 2505 มี 297 ราย เป็นเงิน4,989,712.16 บาท รวมทั้งหนี้ของนายสุรพันธ์ พิศาลบุตร ซึ่งเป็นประธานกรรมการบริษัทจำเลยผู้ล้มละลายกับเป็นกรรมการธนาคารผู้คัดค้านด้วย ตามเอกสารหมาย จ.24 ถึง จ.29

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยผู้ล้มละลายเป็นหนี้ธนาคารผู้คัดค้านอยู่ก่อนแล้ว โดยเบิกเงินเกินบัญชีไปเป็นเงิน 981,879.16 บาท การที่จำเลยผู้ล้มละลายได้จำนองเรือ 47 ลำตามสัญญาจำนองหมาย ล.4 ถึง ล.50 เพื่อเป็นประกันสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีหมาย ล.53 ซึ่งรวมยอดเงินที่จำเลยเบิกเกินบัญชีไปแล้ว 981,879.16 บาท จึงเป็นการจำนองเพื่อประกันหนี้ที่มีอยู่ก่อนการจำนอง ซึ่งเป็นการชอบที่จะกระทำได้ จะถือว่าเป็นการจำนองโดยไม่มีการจ่ายเงินดังโจทก์ฎีกาหาได้ไม่ ส่วนการกู้เงินตามสัญญากู้หมาย ล.56 จำนวน 5 แสนบาท ธนาคารผู้คัดค้านก็มีหลักฐานว่าธนาคารผู้คัดค้านโดยนายบัญชา ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการอนุมัติให้จำเลยผู้ล้มละลายกู้ตามเอกสารหมาย จ.ล.7 และได้จ่ายเงินจำนวนนั้นให้จำเลยผู้ล้มละลายไปแล้วตามเช็คลงวันที่ 31 สิงหาคม 2505 หมาย จ.ล.4 การจำนองเรือยนต์ตามสัญญาจำนองหมาย ล.4 ถึง ล.51 ก็เพื่อประกันหนี้เงินกู้รายนี้ด้วย ส่วนสัญญาจำนองเรือยนต์อีก 2 ลำ หมาย ล.51 ล.52 ก็เพื่อเป็นประกันการเบิกเงินเกินบัญชีตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีหมาย จ.ล.12 พยานหลักฐานฟังได้แน่ชัดว่าการจำนองเรือยนต์ทั้ง 49 ลำระหว่างจำเลยผู้ล้มละลายกับธนาคารผู้คัดค้าน เป็นการจำนองโดยมีค่าตอบแทน

แล้วศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงต่อไปว่า ขณะมีการจดทะเบียนจำนองเรือยนต์ บริษัทจำเลยผู้ล้มละลายยังมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินธนาคารผู้คัดค้านได้ปฏิบัติไปตามปกติธุระของกิจการธนาคารโดยสุจริตมิใช่เป็นการสมยอมกันทำให้เจ้าหนี้อื่นเสียเปรียบ พยานผู้ร้องไม่พอฟังว่าธนาคารผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้ได้รับลาภงอกจากสัญญาจำนองรู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้อื่นต้องเสียเปรียบศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว พิพากษายืน

Share