คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4413/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ลูกจ้างจะมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนพิเศษตามสัญญาจ้างหรือไม่ จำนวนเท่าใด ขึ้นอยู่กับว่าลูกจ้างจะระดมเงินฝากได้หรือไม่ และเป็นจำนวนมากน้อยเพียงใด ถ้าไม่สามารถระดมเงินฝากได้ ก็ไม่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนพิเศษ หรือถ้าระดมเงินฝากได้น้อย ก็จะได้รับค่าตอบแทนพิเศษลดลงตามส่วน จึงไม่แน่นอนว่าลูกจ้างจะได้รับค่าตอบแทนพิเศษหรือไม่ ค่าตอบแทนพิเศษดังกล่าวจึงไม่เป็นเงินรางวัล เงินบำเหน็จ เงินเพิ่มอย่างอื่น บรรดาที่พึงจ่ายตามปกติ และไม่เป็นเงินเดือน
ค่าตอบแทนพิเศษดังกล่าวจำเลยที่ 1 ตกลงจ่ายให้โจทก์ (ลูกจ้าง) สำหรับหรือเนื่องจากการกระทำหรือการประกอบธุรกิจรับฝากเงิน โดยการออกตั๋วสัญญาใช้เงินของจำเลยที่ 1 เป็นการตกลงที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 มาตรา 20 (9) อันเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อป้องกันมิให้ผู้ประกอบธุรกิจตามพระราชบัญญัติดังกล่าวแย่งกันระดมเงินฝากโดยให้เงินค่าตอบแทนพิเศษแก่ลูกจ้างในอัตราที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ จนก่อให้เกิดความปั่นป่วนในระบบเศรษฐกิจของประเทศ เกิดความเสียหายแก่สถาบันการเงินและประชาชนผู้ฝากเงิน จึงเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ข้อตกลงให้ค่าตอบแทนพิเศษดังกล่าว จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 และไม่มีผลบังคับให้จำเลยที่ 1 ต้องปฏิบัติตาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าตอบแทนพิเศษจำนวน ๒๖๖,๔๓๔.๗๗ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ข้อตกลงให้จำเลยที่ ๑ จ่ายค่าตอบแทนพิเศษตามสัญญาจ้างไม่เป็นโมฆะ นั้น เห็นว่า สัญญาจ้างข้อ ๑ กับข้อ ๓ คู่สัญญาตกลงให้โจทก์กับพวกซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยที่ ๑ พร้อมกับโจทก์ร่วมกันระดมเงินฝากให้แก่จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นนายจ้างได้ไม่ต่ำกว่าปีละ ๔,๐๐๐ ล้านบาท จำเลยที่ ๑ จะจ่ายค่าตอบแทนพิเศษให้โจทก์กับพวกรวม ๔ คน ในอัตราร้อยละ ๐.๐๖ ของยอดเงินฝากคงเหลือเฉลี่ยแต่ละวัน โดยจ่ายปีละหนึ่งครั้ง และตามสัญญาจ้างข้อ ๓.๔ วรรคสอง กำหนดไว้อีกว่าในกรณีที่โจทก์กับพวกไม่สามารถระดมเงินฝากได้ถึง ๒,๕๐๐ ล้านบาท ในระยะหนึ่งปี จำเลยที่ ๑ สามารถใช้สิทธิเปลี่ยนแปลงสัญญากันใหม่ได้ ซึ่งตามข้อกำหนดในสัญญาดังกล่าวโจทก์จะได้ค่าตอบแทนพิเศษหรือไม่ จำนวนเท่าใด ขึ้นอยู่กับว่าโจทก์จะระดมเงินฝากได้หรือไม่ และจำนวนมากน้อยเพียงใด ถ้าโจทก์ไม่สามารถระดมเงินฝากได้ โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนพิเศษ หรือถ้าระดมเงินฝากได้น้อยโจทก์ก็จะได้รับค่าตอบแทนพิเศษลดลงตามส่วน จึงไม่แน่นอนว่าโจทก์จะได้รับค่าตอบแทนพิเศษหรือไม่ และจำนวนเท่าใด ทั้งในกรณีที่โจทก์กับพวกร่วมกันระดมเงินฝากได้มากเกิน ๔,๐๐๐ ล้านบาท ในระยะหนึ่งปี ตามสัญญาจ้างก็มิได้กำหนดให้เพิ่มเปอร์เซ็นต์ค่าตอบแทนพิเศษแก่โจทก์ เพื่อเป็นการจูงใจให้โจทก์ขยันระดมเงินฝากเพิ่มขึ้น ทั้งโจทก์เบิกความรับว่า โจทก์จะได้รับเงินตอบแทนพิเศษนี้ปีละครั้งต่างหากจากเงินเดือนและเงินจำนวนนี้พนักงานอื่นไม่มีสิทธิได้รับ ค่าตอบแทนพิเศษดังกล่าวจึงไม่เป็นเงินรางวัล เงินบำเหน็จ เงินเพิ่มอย่างอื่นบรรดาที่พึงจ่ายตามปกติ และไม่เป็นเงินเดือน เพราะเป็นจำนวนไม่แน่นอน และเงินเดือนที่โจทก์จะได้รับนั้น โจทก์และจำเลยที่ ๑ ได้ตกลงกำหนดจำนวนไว้เดือนละ ๓๘,๐๐๐ บาท เป็นจำนวนที่แน่นอนแล้ว แต่ค่าตอบแทนพิเศษที่จำเลยที่ ๑ ตกลงจ่ายให้โจทก์สำหรับหรือเนื่องจากการกระทำหรือการประกอบธุรกิจรับฝากเงิน โดยการออกตั๋วสัญญาใช้เงินของจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นการตกลงที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๒๐ (๙) อันเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อป้องกันมิให้ผู้ประกอบธุรกิจตามพระราชบัญญัติดังกล่าวแย่งกันระดมเงินฝากโดยให้เงินค่าตอบแทนพิเศษแก่ลูกจ้างในอัตราที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ จนก่อให้เกิดความปั่นป่วนในระบบเศรษฐกิจของประเทศ เกิดความเสียหายแก่สถาบันการเงินและประชาชนผู้ฝากเงิน จึงเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ข้อตกลงให้ค่าตอบแทนพิเศษตามสัญญาจ้างตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๐ และไม่มีผลบังคับให้จำเลยที่ ๑ ต้องปฏิบัติตาม จำเลยที่ ๑ จึงไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าตอบแทนพิเศษตามที่ตกลงในสัญญาจ้างให้โจทก์ ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ค่าตอบแทนพิเศษที่จำเลยที่ ๑ ตกลงจะจ่ายให้โจทก์เป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้าง และจำเลยที่ ๒ จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ นั้น เห็นว่า เมื่อค่าตอบแทนพิเศษไม่เป็นเงินส่วนที่เป็นเงินเดือน เงินบำเหน็จ เงินรางวัล และเงินเพิ่มอย่างอื่นบรรดาที่พึงจ่ายตามปกติดังวินิจฉัยมาแล้ว แม้จะฟังว่าค่าตอบแทนพิเศษเป็นเงินค่าจ้างดังโจทก์อุทธรณ์ก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะเรียกร้องให้จำเลยที่ ๑ จ่ายค่าตอบแทนพิเศษตามข้อตกลงในสัญญาจ้าง เพราะต้องห้ามมิให้จำเลยที่ ๑ จ่ายโดยกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อดังกล่าวจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย และเมื่อโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินดังกล่าวก็ไม่จำต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๒ จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ หรือไม่เช่นเดียวกัน ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องชอบแล้ว อุทธรณ์โจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share