คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9570/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยซื้อที่ดินและรถยนต์ในระหว่างสมรส ที่ดินและรถยนต์จึงเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) แม้เงินที่ใช้ในการผ่อนหนี้ค่าซื้อที่ดินเป็นเงินที่จำเลยกู้มาจากธนาคาร และเงินที่ใช้ในการผ่อนหนี้ค่าซื้อที่ดินเป็นเงินที่จำเลยกู้มาจากสหกรณ์ออมทรัพย์ 400,000 บาท ซึ่งจำเลยเป็นผู้ผ่อนชำระหนี้ด้วยเงินเดือนของจำเลยทั้งสิ้นก็ตาม แต่เงินเดือนของจำเลยดังกล่าวก็เป็นเงินที่จำเลยได้มาระหว่างสมรสจึงเป็นเงินสินสมรสนั่นเอง ส่วนเงิน 130,000 บาท ที่นำไปรวมกับเงินกู้เพื่อซื้อรถยนต์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 วรรคสอง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นเงินที่จำเลยได้มาระหว่างสมรสเป็นสินสมรส จำเลยจะต้องพิสูจน์หักล้าง เมื่อพิสูจน์ไม่ได้ก็ต้องถือว่าเป็นสินสมรส

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เดิมโจทก์และจำเลยเป็นสามีภริยากันโดยจดทะเบียนสมรสกันระหว่างสมรสมีทรัพย์สินทำมาหาได้ร่วมกัน คือ ที่ดินและรถยนต์ ต่อมาจำเลยฟ้องหย่าโจทก์ต่อศาลชั้นต้นโดยไม่ได้กล่าวถึงสินสมรส ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยหย่าขาดจากโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยนำโฉนดที่ดินไปจดทะเบียนลงชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมกับจำเลย โดยให้มีเนื้อที่คนละครึ่งเท่ากัน ให้จำเลยไปรังวัดแบ่งแยกที่ดินออกเป็น 2 แปลง โดยให้ที่ดินแปลงทิศเหนือเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ ทิศใต้เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย หากจำเลยไม่ไปดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา และให้เจ้าพนักงานที่ดินออกใบแทนโฉนด หากไม่สามารถดำเนินการดังกล่าวได้ให้จำเลยชดใช้เงินค่าที่ดินแก่โจทก์ 141,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ หรือนำที่ดินออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกันคนละครึ่ง ให้จำเลยใช้เงินหรือคืนเงินค่ารถยนต์แก่โจทก์ 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ หรือนำรถยนต์ออกขายทอดตลาด นำเงินมาแบ่งกันคนละครึ่ง
จำเลยให้การว่า ทรัพย์ที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นสินส่วนตัวของจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยแบ่งที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 74743 ตำบลดอนทอง อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก และรถยนต์พิพาทหมายเลขทะเบียน กค 5461 พิษณุโลก แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง ถ้าหากการแบ่งตกลงกันไม่ได้ให้ประมูลกันระหว่างคู่ความ หรือมิฉะนั้นให้ขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกันคนละครึ่งกับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,500 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เดิมโจทก์กับจำเลยเป็นสามีภริยากัน โดยจดทะเบียนสมรสเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2530 ระหว่างอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาพักอาศัยอยู่บ้านเลขที่ 128/2 หมู่ที่ 8 ตำบลหัวรอ อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก ต่อมาวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2537 จำเลยซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 74743 ตำบลดอนทอง อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก จากนางสาววรนุช โดยจำเลยกู้ยืมเงินจากธนาคารอาคารสงเคราะห์ 197,000 บาท ชำระราคาที่ดินและจดทะเบียนจำนองที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นประกันการชำระหนี้เงินกู้แก่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ จากนั้นจำเลยได้นำเงินเดือนของจำเลยผ่อนชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าวให้แก่ธนาคารอาคารสงเคราะห์จนครบถ้วน และไถ่ถอนจำนองเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2541 วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2543 จำเลยซื้อรถยนต์ยี่ห้อฮอนด้า หมายเลขทะเบียน กค 5461 พิษณุโลก จำเลยชำระราคารถยนต์คันดังกล่าวเป็นเงินสด โดยกู้ยืมเงินจากสหกรณ์ออมทรัพย์โรงพยาบาลพุทธชินราช จำกัด 400,000 บาท แล้วนำมาสมทบกับเงินส่วนอื่น จำเลยผ่อนชำระหนี้ให้แก่สหกรณ์ทุกเดือน ต่อมาจำเลยฟ้องหย่าโจทก์ที่ศาลชั้นต้นและศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยหย่าขาดจากโจทก์เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2547 จำเลยนำสำเนาคำพิพากษาไปจดทะเบียนหย่าที่สำนักทะเบียนอำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2547 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าที่ดินและรถยนต์เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยหรือไม่ เพียงใด ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยซื้อที่ดินพิพาทมาเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2537 และซื้อรถยนต์พิพาทเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2543 อันเป็นระยะเวลาในระหว่างสมรส ที่ดินพิพาทและรถยนต์พิพาทจึงเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 (1) แม้จำเลยจะนำสืบว่า เงินที่ใช้ในการผ่อนหนี้ค่าซื้อที่ดินพิพาทเป็นเงินที่จำเลยกู้มาจากธนาคารอาคารสงเคราะห์และเงินที่จำเลยใช้ซื้อรถยนต์พิพาทเป็นเงินที่จำเลยกู้จากสหกรณ์ออมทรัพย์โรงพยาบาลพุทธชินราช จำกัด จำนวน 400,000 บาท ซึ่งจำเลยเป็นผู้ผ่อนชำระหนี้ด้วยเงินเดือนของจำเลยทั้งสิ้นก็ตาม แต่เงินเดือนของจำเลยดังกล่าวก็เป็นเงินที่จำเลยได้มาระหว่างสมรสจึงเป็นเงินสินสมรสนั่นเอง ส่วนเงินจำนวน 130,000 บาท ที่นำไปรวมกับเงินกู้เพื่อซื้อรถยนต์ที่จำเลยอ้างว่าเป็นเงินสินส่วนตัวเพราะได้มาจากการขายที่ดินมรดกของบิดาจำเลยซึ่งเป็นสินส่วนตัวของจำเลยนั้น จำเลยไม่มีหลักฐานใด ๆ มาแสดง จึงเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังหักล้างข้อสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 วรรคสอง ที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเงิน 130,000 บาท ซึ่งเป็นเงินที่จำเลยได้มาระหว่างสมรสเป็นสินสมรสได้ ดังนี้ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าที่ดินพิพาทและรถยนต์พิพาทเป็นสินสมรส เมื่อจำเลยกับโจทก์หย่าขาดจากกันจำเลยจึงต้องแบ่งสินสมรสดังกล่าวให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่งตามกฎหมาย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share