คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9574/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ป.วิ.พ. มาตรา 1 (3) บัญญัติว่า “คำฟ้อง หมายความว่า กระบวนพิจารณาใด ๆ ที่โจทก์ได้เสนอข้อหาต่อศาล ไม่ว่าจะเสนอด้วยวาจาหรือทำเป็น…คำร้องขอ…” การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอจึงเป็นคำฟ้อง
ผู้ร้องบรรลุนิติภาวะเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2545 แต่ผู้ร้องมายื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของ ป. เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2549 จึงเกินกำหนด 1 ปี นับแต่ผู้ร้องบรรลุนิติภาวะ ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1556 ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจฟ้อง (ยื่นคำร้องขอ) ดังนั้นปัญหาว่าผู้ร้องเป็นบุตรของ ป. หรือไม่ ก็ไม่จำต้องวินิจฉัย หากผู้ร้องเห็นว่ามีการโต้แย้งสิทธิของผู้ร้องในการรับมรดกของ ป. อย่างไร ผู้ร้องต้องไปใช้สิทธิทางศาลอย่างคดีมีข้อพิพาทต่อไป

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นบุตรของนายประยงค์ และนางทองพูน ซึ่งอยู่กินเป็นสามีภริยากันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส โดยผู้ร้องเกิดเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2525 นายประยงค์มอบหมายให้นายนาค ไปแจ้งการเกิดว่าผู้ร้องเป็นบุตร นายประยงค์ได้อุปการะเลี้ยงดู ให้การศึกษา และแสดงออกโดยเปิดเผยว่าผู้ร้องเป็นบุตร ต่อมาวันที่ 21 ธันวาคม 2548 นายประยงค์ถึงแก่ความตาย ขณะยังมีชีวิตอยู่นายประยงค์มีทรัพย์สิน คือ ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 9072 เลขที่ดิน 1971 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ผู้ร้องมีเหตุขัดข้องในการรับมรดกดังกล่าว ขอให้ศาลมีคำสั่งว่า ผู้ร้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายประยงค์ ผู้ตาย
ผู้คัดค้านทั้งสามยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องมิใช่บุตรของนายประยงค์ นายประยงค์ไม่เคยมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับนางทองพูน ผู้คัดค้านทั้งสามและนายประยงค์ไม่รู้จักนายนาค นายประยงค์ไม่เคยมอบหมายหรือรู้เห็นยินยอมให้นายนาคไปแจ้งการเกิดของผู้ร้อง นายประยงค์ไม่เคยอุปการะเลี้ยงดู ให้การศึกษา และแสดงออกโดยเปิดเผยต่อสาธารณชนหรือบุคคลทั่วไป หรือให้การรับรองว่าผู้ร้องเป็นบุตร นายประยงค์ถึงแก่ความตาย มีทรัพย์มรดก คือ ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 9072 เลขที่ดิน 1971 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมาจริง ผู้ร้องเกิดเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2525 บรรลุนิติภาวะเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2545 แต่ผู้ร้องมายื่นคำร้องหลังจากที่บรรลุนิติภาวะแล้วเกินกว่าหนึ่งปี คดีของผู้ร้องจึงขาดอายุความ ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้องขอ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “…มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องประการแรกมีว่า ผู้ร้องมีอำนาจฟ้อง (ยื่นคำร้องขอ) คดีนี้หรือไม่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1556 บัญญัติว่า “การฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตร…ในกรณีที่เด็กบรรลุนิติภาวะแล้ว จะต้องฟ้องคดีภายในหนึ่งปีนับแต่วันบรรลุนิติภาวะ…” และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1 (3) บัญญัติว่า “คำฟ้อง หมายความว่า กระบวนพิจารณาใด ๆ ที่โจทก์ได้เสนอข้อหาต่อศาลไม่ว่าจะเสนอด้วยวาจาหรือทำเป็น…คำร้องขอ…” การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอจึงเป็นคำฟ้อง เมื่อปรากฏว่าผู้ร้องบรรลุนิติภาวะเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2545 แต่ผู้ร้องมายื่นคำร้องขอคดีนี้เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2549 จึงเกินกำหนด 1 ปี ต้องห้ามตามมาตรา 1556 ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจฟ้อง (ยื่นคำร้องขอ) คดีนี้ตามบทกฎหมายดังกล่าว เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว ปัญหาว่าผู้ร้องเป็นบุตรของนายประยงค์หรือไม่ก็ไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะแม้ผู้ร้องจะเป็นบุตรของนายประยงค์จริง ศาลก็ไม่อาจจะพิพากษาให้ผู้ร้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายได้เพราะไม่ฟ้องภายในกำหนด 1 ปี ตาม บทกฎหมายดังกล่าว หากผู้ร้องเห็นว่ามีการโต้แย้งสิทธิของผู้ร้องในการรับมรดกของนายประยงค์อย่างไร ผู้ร้องต้องไปใช้สิทธิทางศาลอย่างคดีมีข้อพิพาทต่อไป การที่ศาลล่างทั้งสองไม่วินิจฉัยว่าผู้ร้องเป็นบุตรของนายประยงค์หรือไม่จึงชอบแล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share